พระเครื่อง

เสริมศักดิ์เผย'พระชินราชใบเสมาสุดยอดแห่งพุทธคุณ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช'พระชินราชใบเสมาสุดยอดแห่งพุทธคุณ' : พระเครื่องสรณะคนดัง เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

              “พระชินราชใบเสมา” พระกรุเก่าที่นับว่าเป็นหนึ่งในพระยอดขุนพลที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมอย่างสูง ทั้งนี้มีคติความเชื่อว่า "พุทธคุณเป็นเลิศปรากฏทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาด อำนาจบารมี ครบเครื่องครบครัน"

              สันนิษฐานว่า “พระชินราชใบเสมา” แตกกรุมาเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๔๐ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ เมืองพิษณุโลก ได้มีประชาชนที่ขุดค้นพบนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย พระองค์ทรงนำแจกจ่ายไปยังพสกนิกรที่ติดตามเสด็จกันอย่างถ้วนหน้า นอกจากนี้ยังมีผู้พบปรากฏที่กรุอื่นๆ ด้วย คือ กรุพระปรางค์ กรุอัฏฐารส กรุเขาสมอแคลง กรุพรหมพิราม และกรุเขาพนมรุ้ง แต่ที่นับว่าเป็นที่นิยมมากที่สุดเห็นจะเป็น พระชินราชใบเสมา กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก

              ด้วยคำร่ำลือเรื่องพุทธคุณที่ครบเครื่องครบครันของ “พระชินราชใบเสมา” ทำให้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด ต้องนิมนต์ “พระชินราชใบเสมา” ขึ้นคอ มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๔ เมื่อครั้งที่ยังเป็นอธิบดีกรมโยธาฯ โดยให้เหตุผลสั้นๆ แบบตรงไปตรงมาว่า "พระชินราชใบเสมาขึ้นชื่อแห่งสุดยอดพุทธคุณ"

              สำหรับวัดที่เดินทางไปกราบไหว้ขอพรพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นั้น นายเสริมศักดิ์ บอกว่า เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเดินทางไปกราบไหว้วัดๆ สำคัญในจังหวัดเกือบทุกวัด แต่ปัจจุบันเมื่อมีเวลาว่างจะไปวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กทม. ด้วยเหตุที่ว่า เมื่อครั้งเรียนรัฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็นเด็กวัดมหาธาตฯ อยู่ ๕ ปี จนกระทั่งเรียนจบปริญญาโท ซึ่งก่อนที่มาเรียนกรุงเทพฯ ระหว่างเรียน ม.ศ.๔ ที่ จ.พิษณุโลก เป็นเด็กวัดวัดใหม่อภัยยาราม ถ.บรมไตรโลกนารถ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก

              "การเป็นเด็กวัดส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กบ้านนอก ออกจากประตูวัดก็ถึงมหาวิทยาลัยเลย ไม่ต้องเสียค่ารถเมล์ ทำให้มีเวลาที่จะอ่านหนังสือมากกว่าเด็กบ้าน ที่สำคัญคือ ในช่วงกลางเดือนเป็นต้นไปจะมีเพื่อนนักเรียนมากินข้าววัดมากกว่าปกติหน่อย เพราะส่วนใหญ่ใช้เงินหมด สิ่งสำคัญของการเป็นเด็กวัดจริงๆ แล้ว สิ่งที่ได้โดยไม่รู้ตัว ได้โดยการซึมซับโดยปริยาย คือ พระธรรมจากพระ ได้ยินพระสวดมนต์ ได้ยินพระเทศน์ รวมทั้งได้เห็นพิธีกรรมต่างๆ ชนิดทีเรียกว่าได้เรียนรู้เรื่องพุทธศาสนาทุกๆ ด้าน" นายเสริมศักดิ์กล่าว

              ส่วนการบนบานศาลกล่าว นายเสริมศักดิ์ บอกว่า ด้วยเหตุที่เป็นชาวพิษณุโลก ก็ต้องไปขอพรกับหลวงพ่อพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก ที่มีความเชื่อศรัทธาว่าช่วยดลบันดาลให้หลายๆ คนประสบความสำเร็จในการขอพรหรือ อธิษฐานที่ขอสิ่งใดๆ จากพระพุทธชินราชจะสมความตั้งใจ และเชื่อได้อย่างยิ่งว่าธุรกิจการงานของคนพิษณุโลกกว่า ๙๐% มาจากบารมีแห่งองค์พระพุทธชินราชอย่างแน่นอน

              นอกจากนี้ยังบนขอพรกับพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ พระราชวังจันทร์ (สถานที่พระบรมราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) จ.พิษณุโลก สำหรับชาวพิษณุโลกแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในใจของชาวพิษณุโลกทุกคน พระองค์มีพระบรมราชสมภพ ณ พระราชวังจันทร์ อดีตคือโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม และปัจจุบันได้บูรณะเป็นพระราชวังจันทร์และยังคงมีศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้ชาวไทยได้สักการะ น้อมลำรึกถึงพระคุณของท่านในการกอบกู้อิสรภาพของชาติไทย

              เมื่อถามถึงหลักธรรมที่ใช้ปกครองคน นายเสริมศักดิ์ บอกว่า ความสำเร็จของการทำงานอยู่ที่ความมุ่งมั่น แต่ถ้าจะทำงานให้ได้ใจผู้ใต้บังคับบัญชาต้องใช้พรหมวิหาร ๔ ธรรมของพรหมหรือ ของท่านผู้เป็นใหญ่ พรหมวิหารเป็นหลักธรรมที่เหมาะกับทุกคน  เป็นคติ หลักธรรมสอนใจ ช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ มีทั้งหมด ๔ ประการ ได้แก่

              ๑.เมตตา หมายถึง ความต้องการหรือปรารถนาให้บุคคลอื่นเป็นสุข ความสุขล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา เกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายใน เช่น ความสุขเกิดการได้ทรัพย์ ได้ใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการบริโภคต่างๆ ความสุขจากการไม่เป็นหนี้ และความสุขเกิดจากการทำงานที่สุจริต ปราศจากโทษ เป็นต้น

              ๒.กรุณา หมายถึง ความปรารถนาให้บุคคลอื่นพ้นทุกข์ ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาทำลายหรือเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายทั้งกายและใจ

              ๓.มุทิตา หมายถึง ความพลอยยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี คำว่า “ดี” ในที่นี้ จะหมายถึง การมีความสุขหรือความเจริญก้าวหน้าต่างๆ ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้บุคคลอื่นมีความสุข ความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น

              ๔.อุเบกขา หมายถึง การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม คือ ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

              "ปกติแล้วจะได้รับเชิญไปเป็นประธานเททองหล่อพระอยู่เป็นประจำ ล่าสุดได้เป็นประธานเททองหล่อพระหลวงพ่อโสธร รุ่น มงคลมหาบารมี ๘๕ วัตถุประสงค์เพื่อจัดสร้างอาคาร ๑๐๐ พระชันษา สมเด็จพระสังฆราช เพื่อการศึกษาในมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ วัดสิรินธรเทพรัตนาราม ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่เป็น รมช.ศึกษาธิการ เมื่อมีโครงการดีๆ เช่นนี้ นอกจากไปร่วมงานแล้ว ยังจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ด้วย" นายเสริมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย 


เหรียญหลวงปู่คำพันธ์รุ่นฉลองหลักเมืองนครพนม


              ”พระสุนทรธรรมากร” หรือ “หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ” อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งภาคอีสาน ที่มีวิชากัมมัฏฐานแก่กล้าเรืองวิทยาคม เล่นแร่แปรธาตุจนเลื่องชื่อได้รับสมญานามว่า “เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำโขง”

              ครั้นล่วงเข้าสู่วัยชราภาพ ท่านมีโรคประจำตัวรุมเร้า อาพาธนานหลายปี จนเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ เวลาประมาณ ๑.๕๙ น. ได้ละสังขารลงอย่างสงบ สิริอายุ ๘๙ ปี พรรษาที่ ๕๙ ปัจจุบันสังขารท่านยังอยู่ในโลงแก้ว ภายในศาลาการเปรียญวัด เพื่อให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้

              เล่าขานกันว่า วัตถุมงคลหลายรุ่นของหลวงปู่คำพันธ์มีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ผู้ที่มีไว้ในครอบครองบูชาล้วนไม่เคยลำบากหรือเดือดร้อน ไม่มีอุปสรรคเข้ามาแผ้วพาน ประสบโชคลาภเงินทองไหลมาเทมา รวมทั้งเหรียญหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ รุ่นฉลองหลักเมือง ก็มีคำกล่าวขวัญกันว่า "มีพุทธคุณโดดเด่นด้านปกปักคุ้มครองรักษา แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง"

              นายเสริมศักดิ์ บอกว่า เมื่อครั้งที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้ขออนุญาตจัดสร้างเหรียญหลวงปู่คำพันธ์ รุ่นฉลองหลักเมืองนครพนม เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๙ เหรียญรุ่นนี้ หลวงปู่คำพันธ์ประกอบพิธีพุทธาภิเษกครั้งใหญ่ ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดนครพนม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๓๙ เวลา ๑๖.๑๙ น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ