(คลิป) เปิดประวัติ 'บ้านพิษณุโลก' บ้านพักนายกฯ อาถรรพ์จริงหรือ
หลัง นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เปิดศักรราชใหม่ใช้งานบ้านพิษณุโลก ด้วยการฟื้นเป็นวอร์รูมในการหารือข้อราชการ วันนี้จะพาย้อนดูประวัติบ้านพิษณุโลก บ้านพักนายกรัฐมนตรีของไทยมาหลายยุคหลายสมัย อาถรรพ์จริงหรือไม่
‘บ้านพิษณุโลก’ เดิมชื่อ ‘บ้านบรรทมสินธุ์’ เป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2465 โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แล้วพระราชทานให้กับมหาเสวกเอก พลตรีพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) บุตรชายคนเล็กของพระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ร.ว.ลม้าย พึ่งบุญ) กับพระนมทัต (คุณหญิงประสิทธิ์ศุภการ) ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาคัดเลือกให้เป็นพระนม (แม่นม) ถวายแด่เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ (ซึ่งต่อมาก็คือในหลวงรัชกาลที่ 6 นั่นเอง)
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ตระกูลอนิรุทธเทวาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายบ้านบรรทมสินธุ์เพื่อให้เป็นราชสมบัติ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ประกอบกับเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย พระยาอนิรุทธเทวาและครอบครัวจึงได้ย้ายออกไปอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีและไม่ได้มีการใช้งานบ้านบรรทมสินธุ์อีกแต่อย่างใด
- เคยเป็นที่ตั้งหน่วยงานรัฐบาลสมัยสงครามโลก
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้เป็นที่รับรองนายพลฮิเดกิ โทโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยการขอซื้อหรือเช่าจากพระยาอนิรุทธเทวา เจ้าของบ้าน เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นซื้อไปเป็นสถานทูต เหตุบ้านนี้ตั้งอยู่ใกล้กับกองพันทหารราบที่ 3 ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ
- เปลี่ยนชื่อเป็น ‘บ้านไทย-พันธมิตร’
พระยาอนิรุทธเทวา แบ่งขายที่ดินและตึกจำนวน 25 ไร่ ราคา 5 แสนบาท เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2485 รัฐบาลยุคนั้นใช้เป็นที่ทำการของ ‘กรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น’ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บ้านไทย-พันธมิตร’
- เปลี่ยนชื่อเป็น ‘บ้านสันติภาพ’
ญี่ปุ่นแพ้สงคราม จึงได้เปลี่ยนชื่อ ‘บ้านไทย-พันธมิตร’ เป็น ‘บ้านสันติภาพ’ เพื่อลบภาพลักษณ์ในการเข้าร่วมสงคราม
- เปลี่ยนชื่อเป็น ‘บ้านพิษณุโลก’
ปี พ.ศ. 2496 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เปลี่ยนชื่อ เป็น ‘บ้านพิษณุโลก’ จวบจนปัจจุบัน
กระทั่งบ้านพิษณุโลก ถูกปรับให้เป็น บ้านพัก ประจำตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ของไทยมาหลายยุคหลายสมัย
บ้านพักนายกฯ แต่ไม่มีใครอยากพัก
- พ.ศ. 2522-2523 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ที่ได้สั่งการให้ซ่อมแซมบ้านพิษณุโลก ให้เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้ลงมือปรับปรุงอย่างจริงจัง
- พ.ศ.2523-2531 รัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ (ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย) จึงได้ดำเนินซ่อมแซมบ้านพิษณุโลกในทันทีเพื่อใช้เป็นบ้านพัก พล.อ.เปรมย้ายเข้าไปพักได้เพียง 7 คืน ก็ย้ายกลับไปพักบ้านสี่เสาเทเวศน์เหมือนเดิมโดยไม่มีใครทราบสาเหตุ เสียงเล่าลือเกี่ยวกับอาถรรพณ์บ้านพิษณุโลก ก็ยิ่งถูกกระพือหนักกว่าเดิม
- พ.ศ.2531-2534 รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย) ก่อนบูรณะตกแต่งใหม่และใช้เป็นที่ทำงานของ ‘ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก’
- 23 ก.พ. 2534 รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ถูกคณะ รสช. รัฐประหารยึดอำนาจ กล่าวหาว่า พล.อ.ชาติชาย ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง
- พ.ศ.2534-2535 นายกฯ อานันท์ ปันยารชุน (ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย) แสดงเจตจำนงที่จะไม่เข้าพำนักที่บ้านพิษณุโลก ใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงและรับรองแขกบ้านแขกเมือง
- เม.ย.-พ.ค. 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้นๆ ก็ไม่ได้ย้ายมาพำนักที่บ้านพิษณุโลก
- พ.ศ.2535-2538 และ พ.ศ. 2540-2544 สมัยนายกฯ ชวน หลีกภัย (ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย) มีการปรับโฉมบ้านพิษณุโลกเพื่อเป็นบ้านพักของนายกฯ อีกครั้ง ซึ่งนายกฯ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่เข้าพักบ้านพิษณุโลกแห่งนี้ อยู่ได้นานทั้งสองสมัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ขอบคุณภาพ และ ข้อมูลจากวิกิพีเดีย