โควิด-19

"โอไมครอน" BA.2 รุนแรงเท่าเดลตา วัคซีนและยารักษาโควิดอาจต้านไม่ไหว

"โอไมครอน" BA.2 รุนแรงเท่าเดลตา วัคซีนและยารักษาโควิดอาจต้านไม่ไหว

18 ก.พ. 2565

นักวิจัยเผย "โอไมครอน" BA.2 ทำป่วยหนักรุนแรงเท่าเดลตา หลบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนได้ดี ยารักษาโควิดอาจต้านไม่ไหว พบระบาดมากขึ้นในทวีปเอเชีย

นพ. ดาเนียล โรดส์ ผู้เชี่ยวชาญชีววิทยา คลินิกคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบและศึกษาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  สายพันธุ์ "โอไมครอน" BA.2 พบว่า สายพันธุ์ BA.2 อาจมีความย่ำแย่มากกว่าสายพันธุ์โอไมครอนดั้งเดิม BA.1 และอาจสามารถ
แพร่ระบาดดีกว่าเดิม ที่สำคัญทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงในผู้ที่ได้รับเชื้อ  

ด้านผลการศึกษาจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์จากประเทศญี่ปุ่น โดยนายเคอิ ซาโตะ นักวิจัยวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ญี่ปุ่น พบว่า  สายพันธุ์  "โอไมครอน" BA.2 มีความสามารถในการทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง ได้ใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลตา ที่มีความรุนแรง ทั้งในแง่อาการ และการเสียชีวิต  นอกจากนี้ สายพันธุ์รอง BA.2 สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจาก

 

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ที่สำคัญ ยังต่อต้านกับการรักษาด้วยยา Sotrovimab หรือชื่อทางการค้าว่า Xevudy เป็นยารักษาโควิด-19 ด้วยแอนติบอดี ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างบริษัท GlaxoSmithKline (GSK) บริษัทยายักษ์ใหญ่ของสหราชอาณาจักร และบริษัท Vir Biotechnology จากสหรัฐ 

 

ผลการศึกษาทั้งหมดตามข้างต้น ได้ถูกเก็บไว้ใน bioRxiv ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงเอกสารงานวิจัย และผลการศึกษาทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลก ก่อนที่จะถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ที่วงการแพทย์ทั่วโลกใช้เป็นที่อ้างอิง 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ CDC เปิดเผยว่า สายพันธุ์ "โอไมครอน"  BA.2 มีความสามารถในการแพร่ระบาดระหว่าง 30-50%  มากกว่าสายพันธุ์โอไมครอนในปัจจุบัน ข้อมูลถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 สายพันธุ์ "โอไมครอน" รอง BA.2 ระบาด 74 ประเทศ และระบาด 47 รัฐ จากทั้งหมด 50 รัฐ ในสหรัฐอเมริกา  องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เปิดเผยรายงานการระบาดโรคโควิด-19 ประจำสัปดาห์ ล่าสุดว่า สำหรับในต่างประเทศนั้น ประเทศที่พบการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน รอง BA.2 เป็นสายพันธุ์หลัก ได้แก่ บังคลาเทศ บรูไน(อาเซียน) จีนแผ่นดินใหญ่ เดนมาร์ก กวม อินเดีย มอนเตเนโกร เนปาล ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ นั่นหมายถึง  พบการระบาดในทวีปเอเชียเป็นส่วนใหญ่ในปัจจุบัน