โควิด-19

พบข้อมูลใหม่ "ติดเชื้อโควิด" คู่ ไข้หวัดใหญ่ เสี่ยงตาย มากขึ้น 2.35 เท่า

พบข้อมูลใหม่ "ติดเชื้อโควิด" คู่ ไข้หวัดใหญ่ เสี่ยงตาย มากขึ้น 2.35 เท่า

21 ต.ค. 2565

"หมอธีระ" เผยข้อมูลใหม่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 พร้อมกับ ไข้หวัดใหญ่ เสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากขึ้น 2.35 เท่า

อัปเดตสถานการณ์โควิด19 ในประเทศไทย แนวโน้มพบผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลและผู้ป่วยเสียชีวิตลดลง หลังลดระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรค โดยขณะนี้โควิดในประเทศ เป็นสายพันธุ์โอไมครอน 100% ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มของ BA.4/BA.5 ส่วนโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB พบจำนวน 2 ราย ขณะเดียวกัน นอกจากการแพร่ระบาดของโควิดแล้ว ขณะนี้ ไข้หวัดใหญ่ กำลังระบาดเช่นเดียวกัน และข้อมูลล่าสุด จาก UK HSA ระบุว่า ติดเชื้อโควิดกับไข้หวัดใหญ่ เมื่อติดคู่กันแล้ว เสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้นด้วย

 

(21 ต.ค.2565) "หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB แพร่ไปแล้ว 26 ประเทศ ในรายงานขององค์การอนามัยโลก WHO Weekly Epidemiological Update 
เมื่อ 2 วันก่อน ระบุไว้ว่า โอไมครอน Omicron ยังครองการระบาดทั่วโลกกว่า 99.7% ทั้งนี้ สายพันธุ์ย่อย BA.5 นั้น ยังมีสัดส่วนสูงสุด 78.9%

 

 

อย่างไรก็ตาม พบว่า สายพันธุ์ย่อย XBB ซึ่งเกิดจากการผสมกันระหว่าง BA.2.10.1 และ BA.2.75 นั้น ได้มีการแพร่ระบาดไปแล้วอย่างน้อย 26 ประเทศทั่วโลก ที่สำคัญคือ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า XBB นี้ เป็นสายพันธุ์ที่ต้องระวัง เพราะดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าทุกสายพันธุ์ของไวรัสโรคโควิด-19 เท่าที่เคยมีมา

ติดโควิดคู่ไข้หวัดใหญ่ เสี่ยงตายเพิ่ม

ติดโควิดกับไข้หวัดใหญ่ คู่กันจะเสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้น

 

ข้อมูลล่าสุดจาก UK HSA ชี้ให้เห็นข้อควรระวังสำคัญ ดังนี้

  • หนึ่ง ผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 พร้อมกับไข้หวัดใหญ่ เสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากขึ้น 2.35 เท่า
  • สอง การระบาดระลอกล่าสุดที่สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญอยู่นั้น กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีอัตราการติดเชื้อสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ ทั้งนี้ น่าจะมาจากระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลงเร็วกว่าวัยหนุ่มสาว ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มีอัตราติดเชื้อสูงรองลงมา ได้แก่ กลุ่มวัยทำงาน ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป วัยรุ่น และวัยทำงานตอนต้น ตามลำดับ สิ่งที่เราเรียนรู้ และควรปฏิบัติคือ การไปรับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นให้ครบถ้วนตามเวลาที่กำหนด และควรไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงการเตรียมพร้อมตนเองจะเกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม การใช้ชีวิตประจำวัน ควรป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

ติดโควิดคู่ไข้หวัดใหญ่ เสี่ยงเสียชีวิตเพิ่ม

หมอธีระ ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 279,217 คน ตายเพิ่ม 747 คน รวมแล้วติดไป 631,809,778 คน เสียชีวิตรวม 6,578,102 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อิตาลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.15 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.85

 

ขณะที่ หมอยง นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูล ความแตกต่างของโควิดกับไข้หวัดใหญ่ ว่า ไข้หวัดใหญ่มีหลายสายพันธุ์ ทั้ง A และ B ที่ระบาดอยู่ในปีนี้ เป็นไข้หวัดใหญ่ A สายพันธุ์ H3N2 เกือบทั้งหมด วัคซีนป้องกันได้แต่ประสิทธิภาพไม่สูง ฉีดวัคซีนแล้วก็เป็นได้ แต่อาการจะลดลง 

 

เช่นเดียวกัน covid-19 ก็เป็นโรคประจำฤดูกาลไปแล้ว ก็จะพบในฤดูกาลเดียวกัน คือฤดูฝน และจะน้อยลงในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม และจะไปเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยในเดือนมกราคมถึงมีนาคม แล้วค่อยลดลงอีก แล้วไปเพิ่มอีกครั้งหนึ่งหลังจากกลางเดือนมิถุนายน

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057