เด่นโซเชียล

ศศินจี้ลดขนาดสันเขื่อนวังตะโหนดได้น้ำเพิ่มแก้ปมช้างป่ารุกที่ดินเกษตกร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจี้ประธานมูลนิธิป่ารอยต่อ5จังหวัด ลดขนาดสันเขื่อนวังตะโหนด ชี้ได้ทั้งปริมาณน้ำ เพิ่มพื้นที่ป่าและลดปัญหาช้างรุกที่เกษตรกร

นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ศศิน เฉลิมลาภ" https://www.facebook.com/Sasin.Seub ถึงประธานมูลนิธิป่ารอยต่อ5จังหวัด คือ พลเอก ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปรับขนาดเขื่อนวังตะโหนด ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าใหม่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ให้มีขนาดลดลงเชื่อว่าจะสามารถได้ทั้งปริมาณน้ำกักเก็บและลดปัญหาช้างป่าที่ออกมารบกวนพื้นที่การเกษตร 
  
นายศศิน ได้โพสต์ข้อความและภาพ โดยอธิบายถึงสภาพพื้นที่ป่าคลองวังตะโหนดแห่งนี้ว่าเป็นป่าพื้นราบหย่อมใหญ่ที่เหลืออยู่แทบจะแห่งเดียวในกลุ่มป่าตะวันออกอยู่ในเขตรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นที่ปัจจุบันถูกเปลี่ยนสภาพเป็นสวนยาง หากมีการลดขนาดการสร้างระดับสันเขื่อนลง ไม่ให้น้ำท่วมป่านี้ ก็ได้จะอ่างเก็บน้ำที่เก็บน้ำฝนไว้ใช้ให้ทั่วพื้นที่และช้างป่าก็จะมีที่อยู่และสามารถใช้น้ำจากขอบอ่างที่ท่วมประชิดมาได้ และน่าจะลดการออกมารบกวนพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ผลักดันช้างป่าที่ออกมาอยู่นอกป่าในปัจจุบันกลับไปได้ในอนาคตด้วย

 

สำหรับรายละเอียดโพสต์ของนายศศิน เป็นดังนี้

 

ป่าคลองวังตะโหนดรอบตัวผม...ในรูปนี้ เป็นป่าพื้นราบหย่อมใหญ่ที่เหลืออยู่แทบจะแห่งเดียวแล้วในกลุ่มป่าตะวันออก...ที่มูลนิธิของท่านประกาศตัวดูแล และมีโครงการสารพัดเพื่อลดปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ในป่าแห่งนี้

ช้างป่าฝูงใหญ่อยู่ที่นี่ รอบๆนี้เป็นภูเขาสูงลาดชัน ป่าแบบนี้รอบๆกลุ่มป่าหมดไปแล้วกลายเป็นไร่ เป็นสวน พื้นที่นี้อยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น  เป็นเหมือนที่ราบสูงยกระดับขึ้นมาจากลุ่มน้ำคลองวังตะโหนดทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปัจจุบันถูกเปลี่ยนสภาพเป็นสวนยาง  โครงการเขื่อนวังตะโหนดจะทำสันเขื่อนที่นอกป่า ชดเชยค่าสวนยางในพื้นที่ประมาณ 7,000 ไร่ และท่วมเข้ามาในป่านี้อีก 7,000 ไร่ บริเวณหุบสวนยางเป็นแอ่งลึกเก็บน้ำได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของโครงการ แต่พื้นที่ป่ายกระดับสูงขึ้นมาเป็นถาดแบนได้น้ำไม่มากนัก

เพียงแค่ลดระดับสันเขื่อนไม่ให้ท่วมป่านี้ ก็ได้อ่างเก็บน้ำที่เก็บน้ำได้มากพอสมควร เมื่อพิจารณาจากปริมาณน้ำฝนจังหวัดจันทบุรี ที่มีมากกว่าหกเดือน ก็น่าจะพอบริหารจัดการเก็บน้ำได้มาก หมายความว่าเมื่อกักน้ำไว้และปล่อยน้ำออกไปเดี๋ยวก็มีฝนตก นำน้ำมาเติมได้เรื่อยๆ หากบริหารจัดการน้ำให้ดีๆ และอาจเสริมด้วยแหล่งน้ำขนาดเล็กกระจายไปทั่วเก็บน้ำฝนปริมาณมหาศาลไว้ใช้ให้ทั่วพื้นที่

ไม่เพียงเฉพาะเอาที่ตกมาลงเขื่อนต้นน้ำ หากเก็บพื้นที่ป่าตรงนี้ไว้ ช้างก็จะมีที่อยู่และสามารถใช้น้ำจากขอบอ่างที่ท่วมประชิดมาได้ และน่าจะลดการออกมารบกวนพื้นที่เกษตรกรรมรวมถึงสามารถเป็นพื้นที่ที่ผลักดันช้างป่าที่ออกมาอยู่นอกป่าในปัจจุบันกลับไปได้ในอนาคต

หากท่านประธานมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ผู้ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และโดนอ้างว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการอนุมัติสร้างเขื่อนวังตะโหนดจะรับทราบข้อมูลนี้ และปรับขนาดเขื่อนให้ลดลง ก็จะสามารถได้ทั้งน้ำและลดปัญหาช้างป่าออกมารบกวนพื้นที่เกษตร

ด้วยความปราถนาดี  

จาก ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

หมายเหตุ : https://www.seub.or.th/document/ebook/save-wangtanode-2/

ติดตามข่าวสาร คมชัดลึก อื่นๆ ได้ที่

Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek

LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

Instagram - https://www.instagram.com/komchadluek_online

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ