Lifestyle

นักวิทย์ยัน'พายุสุริยะ'ไม่ทำโลกแตก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'นักวิทยาศาสตร์'ออกโรงยัน'พายุสุริยะ'ไม่เคยทำให้สิ่งมีชีวิตเสียชีวิต เตือนคนไทยอย่าเกิดวิตกกังวล โยงเข้าใกล้'วันสิ้นโลก'

              11 ธ.ค.55 รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม นักดาราศาสตร์ไทย ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า แม้จะมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้วันสิ้นโลกที่มีการทำนายไว้ ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ จนทำให้หลายคนเชื่อมโยงเรื่องราว วิตกกังวล และสนับสนุนความเชื่อว่าโลกจะแตก จากเหตุการณ์พายุ แผ่นดินไหว รวมถึงพายุสุริยะ แต่ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ ฟันธงได้ว่าไม่เป็นความจริง และไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น

               “แผ่นดินไหวเป็นเรื่องปกติ ที่มีการปลดปล่อยพลังงาน แม้จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ทำให้เกิดภัยพิบัติถึงขั้นสิ้นโลกได้” รศ.บุญรักษา กล่าว

               รศ.บุญรักษา กล่าวต่อว่า เช่นเดียวกันกับผลกระทบของพายุสุริยะ ที่ไม่ได้ทำให้โลกแตก แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นโดยตรงกับระบบการสื่อสาร เช่น ระบบนำร่องด้วยดาวเทียม (GPS) การแพร่ภาพโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม รวมถึงระบบนำทางเครื่องบิน ที่อาจเกิดการขัดข้องชั่วขณะ พายุสุริยะไม่เคยทำให้คนเสียชีวิต อีกทั้ง ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตามธรรมชาติ จากการระเบิดขึ้นที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรปกติของคาบการเกิดพายุสุริยะ ที่มีการทำนายไว้ว่าจะเกิดขึ้นทุก 11 ปี โดยในปี 2554 ผลกระทบจากการเกิดพายุสุริยะทำให้ระบบสื่อสารได้รับผลกระทบจากอนุภาคพลังงานสูง แต่สถานการณ์ไม่รุนแรง และสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้พายุสุริยะจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปีช่วง พ.ศ.2554-2560 แม้ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่มีการคาดการณ์ว่าพายุสุริยะจะรุนแรงที่สุดในช่วงกลางปี 2556 แต่ยังคงยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อโลกมากนัก

               รศ.บุญรักษา กล่าวต่ออีกว่า ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับโลกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพลังงานของรังสีที่ปล่อยออกมา ทิศทาง มุม และวงโคจร ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องมาถึงโลกในทุกครั้งไป และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุสุริยะมากที่สุด คือ ด้านขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ ซึ่งปรากฏออโรร่า หรือแสงเหนือ-ใต้ ให้เห็นชัดเจน โดยกล้องโทรทัศน์อวกาศของนักดาราศาสตร์ สามารถจับการประทุของเปลวสุริยะ และสามารถแจ้งเตือนให้ชาวโลกได้เตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ผลของการระเบิดบนดวงอาทิตย์ จะปล่อยประจุไฟฟ้าพลังงานสูงออกมา ส่งผลรบกวนกับดาวเทียมจำนวนมากที่อยู่ในวงโคจรเดียวกัน ทำให้การสื่อสารบนพื้นโลกเกิดขัดข้องไปชั่วขณะ แต่ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นทำให้ดาวเทียมระเบิดแต่อย่างใด

               "การระเบิดบนดวงอาทิตย์เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง เช่นเดียวกับแผ่นดินไหว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน โดยธารของอนุภาพที่มีประจุไฟฟ้าไม่สามารถทำลายล้างโลกให้พินาศได้ เพียงแต่จะรบกวนระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมเท่านั้น”รศ.บุญรักษา กล่าว

                ศ.ดร.เดวิด รุฟโฟโล  หัวหน้ากลุ่มวิจัยฟิสิกส์อวกาศและอนุภาคพลังงานสูง ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลังจากที่ได้ศึกษาเรื่องพายุสุริยะมากว่า 20 ปี เมื่อปี 2538 พายุสุริยะเคยส่งผลกระทบร้ายแรงที่สุดทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ที่ประเทศแคนาดา จนทำให้ไฟฟ้าดับทั้งเมืองควิเบก และย้อนกลับไปเมื่อปี 2402 พายุสุริยะเคยทำให้โทรเลขเสียทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม ยังคงยืนยันว่า ไม่เคยมีพายุสุริยะครั้งใดที่สามารถทำลายล้างโลกได้ การเกิดของพายุสุริยะขึ้นอยู่กับจุดมืดบนดวงอาทิตย์ ซึ่งต้องยอมรับว่าในปี 2555 มีจุดมืดเพิ่มมากขึ้นหากเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้มีความถี่ของการเกิดพายุสุริยะ และมีความรุนแรงขึ้น จากการปลดปล่อยพลังงานของสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ เกิดการระเบิดบนผิวดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับโลก

               "พายุสุริยะไม่ได้น่ากลัวในแง่คนทั่วไป เนื่องจากไม่ใช่แรงกระแทก เผาเมือง ทำให้สิ่งปลูกสร้างฟัง แต่มีผลกระทบต่อระบบไฟฟ้า ซึ่งอาจเกี่ยวข้องในแง่เศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ทำให้โลกแตก ส่วนประเทศไทยเคยได้รับผลกระทบจากสภาพอวกาศครั้งเดียว คือ เดือนเมษายน ปี 2554 ที่อิทธิพลของลมสุริยะแรงกว่าปกติ ใกล้เคียงกับพายุสุริยะ ทำให้ดาวเทียมไทยคม 5 เกิดขัดข้องใช้งานไม่ได้ราว 4 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็กลับเป็นปกติ"  ศ.ดร.เดวิด กล่าว
        
                ศ.ดร.เดวิด กล่าวต่อว่า ความถี่ของการเกิดระเบิดบนดวงอาทิตย์ เป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ต้องเฝ้าระวังมากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสได้รับผลกระทบมากกว่าในอดีต เพราะปัจจุบันมีการใช้งานดาวเทียมในการสื่อสารมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ การแพร่ภาพโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายดาวเทียม ไม่สามารถใช้งานได้ชั่วขณะ แต่ไม่มีผลทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าขัดข้องแต่อย่างใด ณ ปัจจุบัน มนุษย์สามารถการทำนายการเกิดของพายุสุริยะทำได้ระดับหนึ่ง โดยดูจากแนวโน้มในอดีต ซึ่งทำนายได้ว่าพายุสุริยะครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในทุกๆ 11 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สนามแม่เหล็กหรือจุดบนดวงอาทิตย์มีจำนวนเพิ่มมาก โดยปัจจุบันนาซ่าได้ส่งดาวเทียมสำรวจดวงอาทิตย์ขึ้นไปเฝ้าสังเกตุการณ์อยู่จำนวนหนึ่ง  ขณะที่ทั่วโลกมีสถานีตรวจวัดปริมาณนิวตรอนจากพื้นดิน เพื่อทำนายช่วงเวลาการเกิดพายุสุริยะ มากกว่า 40 สถานี โดยประเทศไทยได้เปิดสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร บริเวณยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2551 ทำให้นักวิจัยไทยสามารถคำนวณการเดินทางของอนุภาครังสีคอสมิกมายังโลก รวมถึงตรวจวัดปริมาณนิวตรอนจากพื้นดิน โดยข้อมูลจะถูกบันทึกอัตโนมัติโดยอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณ เมื่อมีปริมาณรังสีเป็นจำนวนมากก็เป็นไปได้ที่จะเกิดพายุสุริยะ ระบบจะแจ้งเตือนล่วงหน้า 5-6 ชั่วโมง เพื่อเตรียมการรับมือได้ทัน พร้อมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลไปยังสถานีตรวจวัดมหาวิทยาลัยเดลาแว ในสหรัฐ

               "สิ่งที่มนุษย์ควรจะให้ความสำคัญมากกว่าวันสิ้นโลก คือการอนุรักษ์ หรือรักษาไม่ให้บรรยากาศถูกทำลายไปมากกว่านี้ ตลอดจนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกะจก ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเร่งให้มนุษย์อยู่ได้ยากมากขึ้นในอนาคต" ศ.ดร.เดวิด กล่าว

 

..........................................

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- อีก๑๐วันจะถึง'วันสิ้นโลก!'เรื่องของ...มายาทำนาย-พุทธทำนาย-ปฏิทินมายา : เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู : http://www.komchadluek.net/detail/20121211/146838/อีก๑๐วันจะถึง'วันสิ้นโลก!'นานาคำทำนาย.html
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ