7 แนวทางปรับตัวมบส. ตอบโจทย์ยุคศตวรรษที่21
7 แนวทางปรับตัวมบส. ตอบโจทย์ยุคศตวรรษที่21 โดย... ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] -
ด้วยการปรับเปลี่ยนของโครงสร้างประชากร การเข้ามาของเทคโนโลยี การเข้าถึงองค์ความรู้ของคนรุ่นใหม่ได้อย่างหลากหลาย ล้วนส่งผลต่อสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้แก่ประเทศ เพราะในอนาคตการพัฒนาคนอาจจะไม่ต้องพึ่งพาสถาบันอุดมศึกษาก็เป็นได้
ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องทั้งโครงการประชากร เด็กเกิดน้อยลง ประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันเด็กสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ ข้อมูลได้ด้วยตนเอง เพราะพวกเขาสามารถค้นหา เรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านอินเทอร์เน็ต สถาบันการศึกษายุคนี้และยุคอนาคตจึงไม่ใช่เป็นเพียงแหล่งสอนหนังสือ แต่ต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย
จากโรงเรียนฝึกหัดครูผ่านไป 120 ปี วันนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา(มบส.)เป็นสถาบันผลิตครูและสถาบันการศึกษาจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกได้ปรับทิศทางการการเรียนการสอนเน้นการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในอนาคตบนเส้นทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏในกรุงเทพมหานคร พัฒนานวัตกรรม หลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และประเทศ โดยปรับยุทธศาสตร์สู่ความเลิศ เน้นผลลัพธ์ ตัวชี้วัดความสำเร็จที่เห็นผลเชิงประจักษ์ เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ตอบโจทย์โลกศตวรรษที่ 21 ภายใต้ภารกิจ 4 ด้าน คือ 1.การผลิตบัณฑิต การผลิตและการพัฒนาท้องถิ่น 2.การวิจัย การผลิตและพัฒนาครู การบริการวิชาการ 3.การยกระดับคุณภาพการศึกษา การพัฒนาระบบบริหารจัดการ และ4.การทำบุบำรุง ศิลปะ วัฒนธรรม
ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) กล่าวว่า มบส. มี 7 แนวทางในการปรับตัวของมหาวิทยาลัยเพื่อเท่าทันต่อการเปลี่ยนในยุคปัจจุบันและอนาคต ประกอบด้วย 1.รวมกันพัฒนา/ปรับปรุงหลักสูตรในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏในกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล 2.พัฒนา/ปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยและสอดรับกับศักยภาพที่โดดเด่นของแต่ละมหาวิทยาลัย 3.พัฒนาหลักสูตรอบรมระยะสั้นร่วมกับสถานประกอบการและองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มทักษะการทำงานในกลุ่มอาชีพต่างๆ
4.พัฒนาหลักสูตรในรูปแบบการสะสมหน่วยกิต เพื่อเปิดโอกาสให้แก่ผู้เรียนทุกช่วงวัย 5.พัฒนาหลักสูตรและคุณภาพผู้เรียนโดยร่วมมือกับสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน 6.ปฎิรูปกระบวนการจัดการเรียนการสอน Active Learning สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย เน้นการเรียนรู้ในเชิงบูรณาการกับการทำงาน สร้างทักษะในยุคศตวรรษที่ 21 และทักษะการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ และ 7.พัฒนาองค์ความรู้และทักษะการสอนของคณาจารย์ให้ทันกับการศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21
“การพัฒนาคนรุ่นใหม่ตอบโจทย์โลกศตวรรษที่ 21 อย่างเช่น การผลิตพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา การดนตรี อุตสาหกรรมบริการ วิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ซึ่งคณะสาขาวิชาเหล่านี้ มีนักศึกษาสนใจเข้าเรียนอย่างต่อเนื่อง และกว่า 80% จบออกมาแล้วมีงานทำทันที ส่วนที่เหลือไปศึกษาต่อ หรือไปทำธุรกิจด้านอื่นๆ” ผศ.ดร.ลินดา กล่าว
ขณะนี้ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี มุ่งเป้าให้เกิดเป็น SMART University นั่นคือ นักศึกษาต้องเป็น Smart student Learner คือ เป็นบัณฑิตที่มีอัตลักษณ์แห่งศตวรรษที่ 21 อาทิ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ ทำงานเป็นทีม ร่วมแก้ปัญหาชุมชน สื่อสารได้ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาที่ 3 รู้จักปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนต่างๆ พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต
ขณะที่บุคลากร คณาจารย์ต้องเป็น Smart Teacher Instructor เป็นผู้ให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษา ชี้แนะ ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ รู้จักใช้องค์ความรู้ไปสร้างสรรค์นวัตกรรม และประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เพราะในปัจจุบันและอนาคตเด็กสามารถเข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้ได้มากมาย คณาจารย์ บุคลากรไม่ได้ทำหน้าที่ผู้สอนเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้กระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ การทำงานเป็นทีม มีมุมมองความคิดใหม่ๆ และรู้จักแก้ปัญหาชุมชน สังคม ดังนั้น ครูต้องปรับเปลี่ยนมีศักยภาพสูงขึ้น
ก้าวสู่ Smart University หรือ สภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ต้องมีความทันสมัย มีเทคโนโลยี มีระบบบริการต่างๆ ที่เอื้ออำนวยให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมทั้งสามารถใช้บริการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้อย่างทันสมัย ซึ่งขณะนี้ กำลังวางระบบเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต รวมถึงร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ในการวางระบบบริการต่างๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าเล่าเรียน การลงทะเบียนเรียน การดูตารางเรียน หรือการใช้บริการห้องสมุด และบริการต่างๆ ที่จะเอื้อความสะดวกสบาย และเป็นแหล่งสถาบันการศึกษาที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
ทั้งนี้ได้มีการพัฒนาทั้งหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษา คนวัยทำงาน และผู้สูงวัย โดยจะมีการเปิดอบรมระยะสั้น เพื่อรองรับความต้องการของคนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ หรือครู อาจารย์ที่อยู่ในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ เป็นการรีสกิล และอัพสกิลให้แก่คนทุกช่วงวัย สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยได้มีการพัฒนาคุณภาพของอาจารย์ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมด้วย ซึ่งสาขาไหน คณะใด ไม่ตอบโจทย์กับการผลิตบุคลากรให้สอดรับกับความต้องการของประเทศอาจจะปิดสาขา/คณะเหล่านั้น ทั้งนี้ อาจารย์ที่สอนในสาขา/คณะที่อาจจะไม่เป็นที่ต้องการในอนาคต จะได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพ มาเป็นอาจารย์ผู้สอน/อบรมหลักสูตรระยะสั้น สอนในสาขา/คณะใกล้เคียง หรือสอนในสาขา/คณะอื่นๆ หลังจากมีการพัฒนาแล้ว