นอนแบบมีคุณภาพ ช่วยให้ "หลับลึก" ด้วยกฎการนอน 90 นาที
ใครที่รู้สึกว่า ตื่นขึ้นมาแล้วยังงัวเงีย เหมือนนอนไม่เต็มอิ่ม แม้จะใช้เวลาหลับอยู่บนเตียงนานเกือบ 8-10 ชั่วโมงแล้วก็ตาม รีบมาดูเทคนิคการนอนแบบมีคุณภาพ ที่"หลับลึก" จริงๆ พร้อมหาเหตุผล และวิธีแก้กันเลย
จากผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่า แม้ร่างกายจะนอนหลับ แต่สมองไม่ได้พักผ่อนตามไปด้วย ยังคงทำงานอยู่ โดยขณะหลับสมองจะทำงานเป็นรอบ ๆ ซึ่งในแต่ละรอบการทำงาน จะกินเวลาประมาณ 90 นาที ทำให้เกิดช่วงเวลาที่เรียกว่าช่วง “หลับลึก” และ “หลับตื้น”
ถ้าใครรู้สึกว่า ตื่นขึ้นมาแล้วยังรู้สึกอ่อนเพลีย เหมือนนอนไม่เต็ม แสดงว่าเราตื่นในช่วงที่กำลัง "หลับลึก" ซึ่งตามกฎของการนอนที่ดี เราควรตื่นในช่วงเวลา "หลับตื้น"ของสมอง ฟังดูอาจจะงงๆ แต่ไม่ยาก ถ้าเรารู้ “กฎการนอน 90 นาที” เพื่อที่จะได้นำไปปรับใช้ในการตั้งนาฬิกาปลุกของเราเอง และขจัดอาการอ่อนเพลีย หลังตื่นนอนได้โดยง่าย
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับการทำงานของสมองขณะหลับ จะแบ่งเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ คือ
NON REM (NON Rapid Eye Monement) เป็นการนอนในช่วงเริ่มต้น แบ่งได้อีก 3 ระยะย่อย คือ ระยะที่ 1 เป็นช่วงเริ่มหลับ มีอาการงัวเงีย ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที ระยะที่ 2 หัวใจเริ่มเต้นช้าลง ยังรับรู้ความเคลื่อนไหวจากข้างนอกได้อยู่ ช่วงนี้จะใช้เวลาอีก 20 นาที ระยะที่ 3 หลับลึก ร่างกายจะพักผ่อนมากที่สุดในช่วงนี้ และตอบสนองกับสิ่งรอบข้างได้น้อยมาก ถ้าถูกปลุกช่วงนี้ ร่างกายจะอ่อนเพลีย ง่วงเหงาหาวนอน รวมระยะเวลาในช่วงการหลับแบบ NON REM จะอยู่ที่ประมาณ 80 นาที
สำหรับ REM (Rapid Eye Monement) ช่วงของการ “หลับตื้น” การนอนชนิดนี้ จะใช้เวลาประมาณ 1 ใน 4 ของระยะเวลาการนอนทั้งหมด ความพิเศษคือ สมองเราจะทำงานใกล้เคียงกับตอนที่ตื่น ทำให้เกิดความฝันขึ้นได้ และส่วนมากคนก็จะฝันกันในช่วงนี้ ระยะเวลาในช่วงการหลับ REM จะอยู่ที่ประมาณ 10 นาที
ฉะนั้นเมื่อรวมแล้วใน 1 รอบ ของการทำงานของสมองขณะหลับจะ กินเวลาประมาณ 90 นาที และวนไปเช่นนี้ตลอดทั้งคืน หากเราสามารถคำนวณให้ตัวเองตื่นขึ้นมาในช่วงเวลาของการนอนชนิด REM หรือช่วงหลับตื้นได้ ก็จะทำให้เรารู้สึก สดชื่น และตื่นตัวนั่นเอง
มีวิธีคำนวณง่ายๆ เช่น ถ้าต้องการตื่น เวลา 05.30 น. เราควรเข้านอน ได้แก่ 20.30 น. / 22.00 น. / 23.30 น. / 01.00 น.
จริงๆ หากไม่อยากคำนณให้ปวดหัว มีวิธีที่ง่ายกว่านั้น คือ การเข้าเว็บหรือแอพพลิเคชั่น เพื่อคำนวณเวลาที่เราควรตื่นเมื่อเรากำลังจะเข้านอน ให้เราไม่ต้องตื่นขึ้นมากลางรอบของการหลับอีกต่อไป ดูได้จาก https://sleepcalculator.co เพียงเท่านี้ การคำนวณการนอนหลับก็จะเป็นเรื่องง่ายดายที่ทุกคนสามารถทำได้แน่นอน