"หนี้" เรื่องร้อนใจที่ต้องรีบดับ
"หนี้" ของคนไทย ปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข สถานการณ์โควิดซ้ำเติม รายได้ลด ลูกหนี้กลุ้มหนัก ไม่หนี แต่ไม่มีจ่าย
ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของประชาชนลดลง เพราะคนไม่สามารถทำมาหากินได้อย่างปกติ ธุรกิจ กิจการหลายประเภทต้องชะงัก หลายแห่งถึงขั้นปิดตัวลง คนตกงานเพิ่มมากมาย
ส่งผลโดยตรงกับปัญหา “หนี้” ที่แต่ละคนมีอยู่ เมื่อรายได้ลด ความสามารถในการชำระคืนก็ไม่มี
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 มิถุนายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่า เรื่องหนี้ของคนไทย เป็นเรื่องที่ตนร้อนใจ ต้องการเร่งแก้ไข โดยขีดเส้น 6 เดือน ให้มีมาตรการระยะสั้นออกมาช่วยคนเป็นหนี้
โดยหนึ่งในไฮไลต์สำคัญ คือ นายกฯให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 16% และ 25% และสินเชื่อจำนำทะเบียนที่ 24% เพื่อช่วยให้คนเป็นหนี้ มีโอกาสใช้หนี้ได้มากขึ้นนั่นเอง
ทั้งนี้ นายกฯ ยังได้เปิดเผยข้อมูล 5 กลุ่มหนี้ที่คนไทยมี กลุ่มที่สูงสุดคือ หนี้อื่นๆ 51.2 ล้านบัญชี แต่ที่น่าสนใจ หนี้ที่เกิดง่ายๆ จ คือ “หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” มีถึง 49.9 ล้านบัญชี
คนไทยมีสัดส่วนหนี้บัตรเครดิตสูง
ข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau : NCB) เปิดเผยการวิเคราะห์สถิติสินเชื่อบุคคล ณ สิ้นปี 2561 โดยเน้นไปที่กลุ่มคนไทยอายุ 22-40 ปี พบพฤติกรรมของคนในช่วงอายุนี้ จะก่อหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิตและส่วนบุคคล โดยเป็นการกู้เงินเพื่อนำไปซื้อที่อยู่อาศัยและรถยนต์
และเมื่อพิจารณาจากสัญญาที่มีการก่อหนี้ พบว่า คนอายุ 22-40 ปี เป็นหนี้บัตรเครดิต มากที่สุด ร้อยละ 32 รองลงมาเป็นหนี้ส่วนบุคคล ร้อยละ 28.7 และหนี้รถยนต์ 10.9
นอกจากนี้ ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยเรื่องการจ่าย หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ในช่วงมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ในแต่ละเดือนคนไทยมีการจ่ายหนี้บัตรสูงถึง 34 % ขณะที่ประเทศสิงคโปร์และอังกฤษ จ่ายหนี้ 3 - 4 % เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่มาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือ “คนเป็นหนี้” เพิ่มเติมตามบัญชาของนายกฯ จะออกมา ต้องเข้าใจก่อนว่าได้มีหนทางช่วยคนเป็นหนี้ ที่ธนาคารแห่งประเทศแห่งประเทศ และสถาบันการเงินต่างๆ ทยอยออกมาแล้ว อาทิ การขยายเวลาลงทะเบียน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหลักประกัน” ได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งครอบคลุมลูกหนี้บัตรทุกกลุ่มทุกสถานะ ดังนี้
1. ยังไม่เป็น NPL (Non-Performing Loan) หรือหนี้เสีย
2. เป็น NPL ตั้งแต่ก่อนฟ้อง และอยู่ระหว่างฟ้อง
3. เป็น NPL ที่มีคำพิพากษา หรือถูกบังคับคดีแล้ว
สำหรับผู้ที่เข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ จะได้รับการช่วยเหลือให้ชำระคืนหนี้ เป็นการ “ผ่อนจ่ายรายเดือน” แทนจาก “จ่ายขั้นต่ำ” ทุกเดือน เช่น บัตรเครดิตวงเงิน 100,000 บาท เป็นหนี้บัตรฯ อยู่ 60,000 บาท ทุกเดือนที่จ่ายได้แค่ขั้นต่ำนั้นต้องจ่ายดอดเบี้ย 16% แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นสินเชื่อผ่อนรายเดือน หนี้ 60,000 บาท ดอกเบี้ยลดอยู่ที่ 12% และลูกหนี้ยังสามารถขอคงวงเงินที่เหลือ 40,000 บาทได้ และไม่เสียประวัติในเครดิตบูโรด้วย
นอกจากนี้แล้วคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ภาครัฐจะมีมาตรการอะไรออกมาเพื่อช่วยเหลือ “คนเป็นหนี้” ให้คลายกังวลใจ ผ่านวิกฤตครั้งนี้ต่อไปอีกได้
อ้างอิง :
http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/08.aspx
https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/Activities/Pages/PRNews13Feb2021.aspx