ข่าว

ลุ้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ .."ป.ป.ช."ส่งสำนวน ส.ส. พปชร.'ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์' "คดีเสียบบัตรแทนกัน" ถึงศาลฎีกาแล้ว

ลุ้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ .."ป.ป.ช."ส่งสำนวน ส.ส. พปชร.'ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์' "คดีเสียบบัตรแทนกัน" ถึงศาลฎีกาแล้ว

23 ก.ค. 2564

ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ "ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ "ซึ่งถูก ป.ป.ช.ชี้มูล"คดีเสียบบัตรแทนกัน"ว่าผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ได้ส่งสำนวนคดีให้ศาลฎีกาแล้ว ลุ้นระทึกต้อง"หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส."หรือไม่

ผู้สื่อรายงานความคืบหน้า"คดีเสียบบัตรแทนกัน"ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนของนางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลว่าผิดมาตรฐานจริยธรรมฯให้แก่ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาแล้วซึ่งหากศาลฎีกามีคำสั่งรับสำนวนคดีนี้ไว้พิจารณานางสาวธณิกานต์  ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ทันที  


ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคสาม บัญญัติว่า เมื่อศาลฎีกาประทับรับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคําพิพากษาเว้นแต่ศาลฎีกาจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

 

ในกรณีศาลฎีกา พิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคําพิพากษานั้นพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นและจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้ 

 

วรรคสี่ ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไปและไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่งทางการเมืองใดๆ

 

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564 นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช แถลงข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว สรุปได้ดังนี้

 

-เรื่องกล่าวหา เจ้าพนักงานของรัฐใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัตรลงมติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหานางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 7(บางซื่อ-ดุสิต) กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ ใช้ผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติ ในการพิจารณาและลงมติร่างพระราชบัญญัติ

 

จากการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง)ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ โดยนางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ได้ลงชื่อเข้าร่วมประชุมและไม่ได้ลาประชุมแต่อย่างใด

 

ซึ่งในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกระทำเป็น 3 วาระรวด โดยวาระที่ 1 รับหลักการลงมติเสร็จสิ้นเมื่อเวลา 13.41 น.วาระที่ 2 มีการตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาไม่มีการแก้ไข จากนั้นวาระที่ 3 ลงมติเสร็จสิ้น เมื่อเวลา 14.01 น.

 

จำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 466+2 = 468 เห็นด้วย 464+2 = 466 ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 0 ไม่ลงคะแนน 2 โดยทั้งวาระที่ 1 เวลา 13.41 น. และวาระที่ 3 เวลา14.01 น. ปรากฏชื่อของนางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ว่าได้แสดงตนและลงมติร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

 

ทั้งที่ในเวลาเดียวกันนี้นางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ได้เข้าร่วมงานเสวนาแบ่งปันความรู้บทบาทแม่แห่งยุคดิจิทัล ณ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ ถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ตามโครงการกิจกรรมเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับแม่และเด็กในชุมชนโดยคำนึงถึงการเลี้ยงลูกให้ปลอดภัยและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นโครงการกิจกรรมวันแม่ประจำปี 2562

 

ที่นางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ เป็นผู้จัดขึ้นและร่วมเป็นวิทยากร มีผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาประมาณ 40 - 50 คน รวมทั้งมีสถานีโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส(ThaiPBS)เข้าร่วมบันทึกการเสวนาดังกล่าว แล้วนำมาออกอากาศในรายการ “ที่นี่ ThaiPBS” เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่าการกระทำของนางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ซึ่งปรากฏว่าไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแต่ปรากฏชื่อแสดงตนและลงมติร่างพระราชบัญญัติฯด้วย ฟังได้ว่า เป็นการใช้ผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติในการพิจารณาและลงมติแทนตนเอง อันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น

 

หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ มีมูลความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

 

และมีมูลความผิดฐานกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระรวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 11 ข้อ 17 และข้อ 21

 

ให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐานและความเห็นพร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงแล้วแต่กรณีต่อไป

 

ที่มา สำนักข่าวอิศรา