ข่าว

อเมริกาจุด"ไซเบอร์วอร์" สงครามโลกครั้งที่ 3..ไทยแลนด์อยู่ฝ่ายไหน?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ ลึกลับโลกมนุษย์  โดย ดร.บีจี ... "ไซเบอร์วอร์" คืออะไร ทำไมอเมริกาประกาศว่ามันคือสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่ ความเสียหายจะมหาศาลกว่าที่ผ่านมา แล้วไทยแลนด์เลือกอยู่ข้างไหน NCSA เปิดแผนจัดเตรียม กองทัพแฮกเกอร์ไทย รับมือสงครามไซเบอร์

 

 

          “โจ ไบเดน” เตรียมนำทีมนาโตเข้าสู่สงครามอาวุธจริงในเร็ววันนี้ หาก “รัสเซีย” กับ “จีน” มหาอำนาจคู่ปรับยังไม่สามารถหยุดพวกแฮกเกอร์ รือ แก๊งโจรทำลายระบบเครือข่ายข้อมูลคอมพิวเตอร์ของอเมริกา 

 

           เดิมพันกันว่า มูลค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในโลกมนุษย์มากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 กับ ครั้งที่ 2 รวมกันอย่างแน่นอน !.... 

 

           ย้อนไปช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทั่วโลกต้องรับมือกับการจารกรรมข้อมูลของ “แก๊งโจรแฮกเกอร์” ที่เก่งกาจขึ้นทุกวัน จนฝ่ายปราบปรามยอมยกธงขาวไปหลายคดี แต่คดีที่สร้างเดือดแค้นให้อเมริกาเสียหน้าและเสียหายมากสุด คือ เหตุการณ์แฮกบรรลือโลกเมื่อต้นเดือน พฤษภาคม 2564 โดยเหยื่อโดนโจมตี คือ บริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ (Colonial Pipeline) ผู้ประกอบการขนส่งเชื้อเพลิงและน้ำมันทางท่อรายใหญ่ที่สุดของอเมริกา  สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในรัฐจอร์เจีย

 

 

อเมริกาจุด"ไซเบอร์วอร์" สงครามโลกครั้งที่ 3..ไทยแลนด์อยู่ฝ่ายไหน?

 

           ตี 5 วันที่ 7 พ.ค.2564 เจ้าหน้าที่ไอทีแจ้งผู้บริหารบริษัท  แก๊งแฮกเกอร์ได้เจาะระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของบริษัท ด้วยโปรแกรมมัลแวร์เรียกค่าไถ่ หรือ “แรนซัมแวร์” (ransomware) เจาะเข้าไปเปลี่ยนพาสเวิร์ด  หรือ  รหัสข้อมูลแบบพิสดารพันลึก  ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงระบบข้อมูลตัวเองได้  ความเสียหายรุนแรงเกิดขึ้นทันที ท่อส่งเชื้อเพลิงเบนซินและดีเซลความยาวเกือบ 9 พันกิโลเมตรครอบคลุมการขนส่งน้ำมันวันละกว่า 2.5 ล้านบาร์เรลหรือเกือบครึ่งประเทศอเมริกาตั้งแต่ฝั่งตะวันตกไปฝั่งตะวันออกต้องหยุดชะงัก เพราะไม่มีข้อมูลจากระบบควบคุมคอมพิวเตอร์

 

          แก๊งแฮกเกอร์ชุดนี้ ฝีมือระดับพระกาฬ เพราะแม้แต่ทีมไซเบอร์เก่งสุดของเอฟบีไอและกองทัพสหรัฐ ยังไม่สามารถทะลวงรหัสพาสเวิร์ดเข้าไปกู้ระบบคืนมาได้  รัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน  สั่งแก้ปัญหาด้วยการใช้ระบบขนส่งเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม  ขับรถบรรทุกขนส่งผ่านทางถนนในเกือบ 20 รัฐ  ตั้งแต่ฝั่งรัฐจอร์เจีย รัฐเทนเนสซี ไปจนถึงฝั่งนิวยอร์ก ความเสียหายต่อมาคือ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้น 1 - 2%  นับเป็นคดีโจมตีไซเบอร์ที่สร้างความหายนะมากสุดของอเมริกา

 

 

         จากนั้น ไม่กี่วัน แก๊งแฮกเกอร์ทำสงครามต่อเนื่อง ทะลวงเจาะยึดเซิร์ฟเวอร์บริษัทซอฟต์แวร์และไอทีชื่อดังอีกหลายแห่ง เช่น บริษัทซอฟต์แวร์ คาเซยา (Kaseya) บริษัท ไมโครซอฟท์ ฯลฯ คาดว่ามีหน่วยงานในอเมริกาไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นแห่งถูกโจมตีด้วย  ความเสียหายระดับหลายพันล้านเหรียญหรือหลายแสนล้านบาท  เพียงแต่ตัวเลขเหล่านี้ถูกปกปิดไว้  เพราะการจ่ายเงินเรียกค่าไถ่ให้โจรแฮกเกอร์  ถือเป็นการเสียหน้าอย่างอภัยให้ไม่ได้  ต้องแอบจ่ายแบบลับสุดยอด 

 

          กรณี บริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ ผู้บริหารระดับสูงสุดออกมายอมรับว่า หลังเกิดเหตุแค่วันเดียวได้ยอมจำนนจ่ายค่าไถ่ เป็นเงิน 5 ล้านดอลลาร์ หรือ 160 ล้านบาท  เพราะดีกว่าให้เสียหายมากไปกว่านี้   เพราะแจ้งเอฟบีไอไปแล้วแต่ไม่สามารถช่วยอะไรได้   

 

          ผู้นำสหรัฐกลายเป็นเป้าทันที โดนจี้ถามว่าใครอยู่เบื้องหลัง ขณะนี้ ยังไม่มีคำเฉลยออกมา มีแค่คำขู่ของ “โจ ไบเดน” ซึ่งต่อสายด่วนประชุมกับผู้นำ “รัสเซีย” และ “จีน” จนสื่อมวลชนปูดออกมาว่า โจรแฮกเกอร์น่าจะเป็น 2 ชาตินี้อย่างแน่นอน  อเมริกาคิดแผนตอบโต้เอาคืนให้สาสม จากนั้นไม่นาน มีข้อมูลหลุดออกมาว่า แฮกเกอร์สัญชาติจีน 4 คน คือผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีระบบอีเมล์ไมโครซอฟท์เอ็กซ์เชนจ์ (Microsoft Exchange) แฮกเกอร์กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกระทรวงความมั่นคงของ “จีน”

 

           ล่าสุดวันที่ 29 กรกฎาคม 2564  ผู้นำสหรัฐให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้ประเทศตกเป็นเหยื่อของแก๊งแฮกเกอร์หลายสัญชาติ ปีนี้ถูกบุกโจมตีต่อเนื่องดุเดือด เพราะฉะนั้นอเมริกาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องใช้ “อาวุธจริง” (Real Shooting War) ตอบโต้ โดยมุ่งเป้าไปที่จีนกับรัสเซีย ตามคำแนะนำจากหน่วยงานข่าวกรองที่มีอยู่ 17 แห่ง

 

         ข่าวกรองทหารเตือนหลายครั้งแล้วว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 คือ สงครามไซเบอร์ เป็นการต่อสู้ที่ไม่เห็นฝ่ายตรงข้าม แต่ใช้วิธีแอบเข้ามาทำลายล้างระบบเน็ตเวิร์คหรือฐานข้อมูลหน่วยงานด้านสาธารณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า เชื้อเพลิง เครือข่ายโทรคมนาคม ระบบสาธารณสุข ฯลฯ เพราะประเทศไหนก็ตาม หากระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ถูกเจาะโจมตีได้ ความเสียหายจะเกิดขึ้นมหาศาล ที่สำคัญราคาต้นทุนต่ำกว่าใช้ระเบิดนิวเคลียร์แบบไม่เห็นฝุ่น

 

             ดังนั้น ฝ่ายการทูตของยักษ์ใหญ่ 3 ประเทศ เริ่มเดินเกมหาแนวร่วมกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จุดประสงค์คือสร้างพันธมิตร แฮกเกอร์สายขาว “white-hat hacker”  เพื่อชิงความได้เปรียบมาเป็นแนวร่วมโต้ตอบผู้ก่อการร้าย แฮกเกอร์สายดำ “black-hat hacker” โดยเฉพาะกับประเทศที่ยังไม่ได้เลือกข้าง อเมริกา รัสเซีย หรือจีน  ประมาณว่า “ถ้าประกาศสงครามไซเบอร์ คุณเลือกอยู่ฝ่ายไหน?  

 

           ทหารไทยผู้เชี่ยวชาญยุทธศาสตร์สงครามไซเบอร์ วิเคราะห์ให้ฟังว่า ตอนนี้ต้องยอมรับว่า การโจมตีจากแฮกเกอร์สายดำทั้งคนต่างชาติและคนไทยมีเข้ามาตลอด เราตรวจจับได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นการแวะเข้ามาทักทายเล็ก ๆ น้อย ยังไม่ค่อยมีแก๊งแฮกเกอร์ระดับพระกาฬเข้ามา อาจเป็นเพราะไทยแลนด์ไม่ได้เป็นเป้าหมายโจมตีของกลุ่มระดับนี้เท่าไรนัก

 

          “เรื่องน่าสนใจคือ ช่วงนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศผู้นำโลกเริ่มเดินสายเข้ามาป้อนข้อมูลลับเกี่ยวกับสงครามไซเบอร์ให้พวกเรา พวกเขานัดขอพบทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม  สำนักนายกฯ พยายามเอาหลักฐานลึกลับมาโชว์ว่า ประเทศฝั่งตรงข้ามคือตัวการสร้างแฮกเกอร์เรียกค่าไถ่  เราต้องจับมือเป็นพันธมิตรกับเขานะ  จะได้แลกเปลี่ยนความร่วมมือกันถ้าสงครามไซเบอร์ระดับโลกเกิดขึ้นจริง”

 

              เช่น กรณีอเมริกาส่งทีมมานัดประชุม แล้วให้ข้อมูลประมาณว่า ตอนนี้ แฮกเกอร์จีน รัสเซีย เกาหลีเหนือสร้างความเสียหายให้ประเทศไหนแล้วบ้าง  มีองค์กรลึกลับในโลกซ่อนอยู่ไหนบ้าง  ที่ผ่านมาพวกเราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันใช่ไหม  ต้องช่วยกันนะ  ส่วนรัสเซียมาในรูปแบบขอสร้างความร่วมมือทางไซเบอร์ ถ้ามีหลักฐานว่าแฮกเกอร์รัสเซียแอบเข้ามาโจมตีในไทย ให้รีบแจ้งรัฐบาลรัสเซียทันที เขาจะจัดการปราบปรามให้เป็นกรณีพิเศษ  ส่วนจีนไม่ต้องพูดถึง เพราะมาในลักษณะให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจช่วยลงทุนด้านโทรคมนาคมในไทย  เครือข่าย 5 จีทั้งประเทศของเรา น่าจะใช้อุปกรณ์จากจีนเกือบทั้งหมด

 

            ยุทธศาสตร์ข้างต้นเรียกกันว่า DIME โมเดล” ย่อมาจาก ตัว D คือ  Diplomatic เป็นการใช้ความสัมพันธ์ทางการทูต  ตัว I คือ Information Operations การสื่อสารข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ตัว คือ Military ความร่วมมือด้านการทหาร และ E  คือ  Economic  การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ 

 

          ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่า ถ้าเกิด ไซเบอร์วอร์ หรือสงครามโลกครั้งที่ 3 ยังไม่แน่ใจว่า  “ไทยแลนด์จะเลือกข้างไหน ?” แต่ที่แน่ ๆ สงครามครั้งนี้จะหวังพึ่ง พระสยามเทวาธิราช มาคุ้มครองให้ไทยผ่านพ้นวิกฤติแบบสงครามโลกครั้งที่ 1 กับ 2 คงไมได้

 

            “เราต้องพึ่งพาตัวเองให้มากสุด อยากให้ผู้นำรัฐบาลเห็นความสำคัญและสนับสนุนความร่วมมือทุกหน่วยงาน ไม่ต้องแบ่งว่าเป็นรัฐ เป็นเอกชน  รีบช่วยกันสร้างเครือข่ายป้องกันรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะ 200 หน่วยงานเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การประปา การไฟฟ้า ธนาคาร พลังงาน บริษัทไอที โรงพยาบาล ฯลฯ  ต้องมีระบบป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงโดนโจมตีจากพวกแฮกเกอร์สายดำ พร้อมกับสร้างแนวร่วม แฮกเกอร์สายขาวที่เป็นกลุ่มเชี่ยวชาญด้านไอที อาจเป็นโปรแกรมเมอร์หรือคนทั่วไปมาร่วมมือกัน นั่นคือวิธีพึ่งพาตัวเองดีสุด การไปเลือกข้างหวังพึ่งพาประเทศพี่ใหญ่อย่างเดียว คงไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ดีนักในยุคนี้”

 

 

อเมริกาจุด"ไซเบอร์วอร์" สงครามโลกครั้งที่ 3..ไทยแลนด์อยู่ฝ่ายไหน?

                             พลโท ดร.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ 

 

        

           เมื่อปี 2562 ประเทศไทยออกกฎหมายใหม่ เกี่ยวข้องกับปัญหานี้โดยตรง คือ  

พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา  พลโท ดร.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เปิดตัวองค์กรด้วยการจัดกิจกรรมออนไลน์ให้ทุกคนไทยได้รับรู้ว่า มีการจัดตั้ง “สกมช.” หรือ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (National Cybersecurity Agency : NCSA) เรียบร้อยแล้ว

 

  อเมริกาจุด"ไซเบอร์วอร์" สงครามโลกครั้งที่ 3..ไทยแลนด์อยู่ฝ่ายไหน?

 

 

             ภารกิจหลักคือ ช่วยเหลือทุกหน่วยงานทำแผนป้องกันและแผนรับมือหากโดนแฮกเกอร์โจมตี และการประสานทุกองค์กรให้ร่วมกันสร้าง “เครือข่ายนักรบแฮกเกอร์สายขาว” ที่คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 2 พันคน ทั้งระดับโปรแกรมเมอร์ทั่วไป และระดับนักเรียนนักศึกษา ที่น่าสนใจคือ นโยบายจัดแข่งขัน “Thailand Cyber Top Talent 2021”  เพื่อคัดสรรคนที่มีทักษะด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ (Cybersecurity) โดยเฉพาะ งานนี้เน้นเปิดโอกาสให้น้อง ๆ นักเรียนหรือคนทั่วไปมาปล่อยของทดลองกันเต็มที่

 

          เป็นเรื่องน่ายินดีที่ไทยแลนด์มีหน่วยงานรับมือไซเบอร์วอร์แล้ว แต่ไม่รู้ผู้นำรัฐบาลชุดนี้เข้าใจความสำคัญมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะงบประมาณสนับสนุนกองทัพโปรแกรมเมอร์ หรือ “นักรบแฮกเกอร์สายขาว” เพราะในอนาคตพวกเขาคือ “ด่านหน้าตัวจริง” ในการปกป้องไทยแลนด์ให้รอดพ้นสงครามโลกครั้งที่ 3 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ