ข่าว

ขยายเวลารพ.พิสูจน์ตัวตน "ผู้ป่วยโควิด" ก่อนเข้าระบบCI/HI เป็นภายใน 5 วัน

ขยายเวลารพ.พิสูจน์ตัวตน "ผู้ป่วยโควิด" ก่อนเข้าระบบCI/HI เป็นภายใน 5 วัน

10 พ.ย. 2564

สปสช.ขยายเวลาให้โรงพยาบาล ขอรหัสเข้ารับบริการหรือพิสูจน์ตัวตน "ผู้ป่วยโควิด-19" สิทธิ สปสช. เพื่อยืนยันเข้ารับบริการกรณีHI/CI เป็นภายใน 5 วัน หลังได้รับแจ้งอุปสรรค เพื่อลดภาระหน่วยบริการ ดูแลประชาชนเข้าถึงการติดตามและรักษา

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ สปสช. ได้แจ้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขกรณีบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิบัตรทองหรือสิทธิ สปสช. ในการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) หรือที่ชุมชน (Community Isolation) โดยหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะต้องมีการดำเนินการ พิสูจน์ตัวตนผู้ป่วยเพื่อยืนยันการใช้สิทธิในการเข้ารับบริการ หรือการขอรหัสเข้ารับบริการ (Authentication Code) ตามแนวทางที่ สปสช.กำหนดก่อน เพื่อการเบิกจ่ายได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและป้องกันการสวมสิทธิ์  
 

ขยายเวลารพ.พิสูจน์ตัวตน \"ผู้ป่วยโควิด\" ก่อนเข้าระบบCI/HI เป็นภายใน 5 วัน

 

 ทั้งนี้ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ สปสช. ได้รับแจ้งจากหน่วยบริการ (โรงพยาบาล) ว่าประสบปัญหาในดำเนินการพิสูจน์ตัวตนของผู้ป่วยเพื่อยืนยันการใช้สิทธิในการเข้ารับบริการ ทั้งจากปัญหาสัญญาณเชื่อมต่อระบบออนไลน์ การไม่มีสมาร์ทโฟนในการลงทะเบียน เป็นต้น ที่ทำให้หน่วยบริการไม่สามารถดำเนินการพิสูจน์ตัวตนฯ ให้กับผู้ติดเชื้อที่เข้าสู่ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านและในชุมชนได้ทันเวลา

 เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สปสช. จึงได้ทำการขยายเวลาให้หน่วยบริการดำเนินการพิสูจน์ตัวตนผู้ป่วยโควิด-19 หรือการขอรหัสเข้ารับบริการ (Authentication Code) เพื่อยืนยันการใช้สิทธิของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารับบริการในระบบการดูแลที่บ้านและในชุมชนได้ จากเดิมภายใน 1 วัน เป็นภายใน 5 วัน นับตั้งแต่วันแรกรับดูแลรักษาผู้ป่วย โดย สปสช.ได้ทำหนังสือ ที่ สปสช 6.70/ว6857 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 แจ้งไปยังผู้อำนวยการหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการ สปสช. ทั้ง 13 เขตแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนหน่วยบริการในการร่วมดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19