ประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จ "ในหลวง" ทรงวางศิลาฤกษ์ "อุทยานเฉลิมพระเกียรติร.9"
ประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จ "ในหลวง" ทรงวางศิลาฤกษ์โครงการ "อุทยานเฉลิมพระเกียรติร.9" อย่างเนืองแน่น พร้อมเปล่งเสียงทรงพระเจริญตลอด 2 ข้างทาง
เมื่อเวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสร็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ไปทรงวางศิลาฤกษ์แท่นพระฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 ณ สนามม้านางเลิ้ง
พร้อมกันนี้ทอดพระเนตรนิทัศน์การอุทยานเฉลิมอุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติร. 9 และทรงปลูกต้นไม้ไว้เป็นสิริมงคลแก่โครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 โดยพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกต้นรวงผึ้ง
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี ทรงปลูกคำมอกหลวง
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา ทรงปลูกต้นคำมอกหลวง
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงปลูกต้นรัตนพฤกษ์
เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ปลูกต้นสุพรรณิการ์
โดยต้นไม้ทั้งหมดเป็นต้นไม้ที่มีสีเหลือง ซึ่งเป็นสีตามวันพระราชสมภพ
ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้มีประชาชนมาเฝ้ารอรับเสด็จพระราชดำเนินอย่างเนื่องแน่น พร้อมทั้งเปล่งเสียงทรงพระเจริญ และชูพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อออกถึงแสดงความจงรักภักดี โดย พระเจ้าอยู่หัวทรงโบกพระหัตถ์ และทรงแย้มพระสรวล แก่ประชาชนตลอดเส้นทางที่เสด็จฯ ผ่าน
สำหรับ "อุทยานเฉลิมพระเกียรติ" พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงนับเป็นโครงการก่อสร้างตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ์ รัชกาลที่ 10 ที่ทรงพระราชทานที่ดินจำนวน 297 ไร่ เพื่อพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร สำหรับประชาชนทุกคนได้ใช้พักผ่อน และมีลานออกกำลังกาย ลานกิจกรรม ที่ประชาชนจะสามารถเข้าไปใช้ได้ เป็นการออกแบบเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร
แนวคิดในการออกแบบอุทยาน
พื้นที่ได้ถูกเริ่มพัฒนาแบบมาตั้งแต่ปี 2561 มีจุดเด่นสำคัญ คือ "พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร" ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจและศูนย์กลางของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ อุทยานแห่งนี้ให้สะท้อนหลักการบริการน้ำอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากต้นน้ำ ผ่านฝายชะลอน้ำ และแนวคิดการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ส่วนกลางน้ำ ผ่านโครงการแก้มลิง กังหันน้ำชัยพัฒนา และพื้นที่พืชชุ่มน้ำ และปลายน้ำ ผ่านแปลงพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ บ่อปลานิลและการใช้พืชกรองน้ำ นอกจากนี้พื้นที่ยังสามารถรองรับน้ำในกรณีที่เกิดอุทกภัยในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเชื่อมคลองผดุงกรุงเกษม กับคลองเปรมประชากร และคลองสามเสนอีกด้วย
รวมไปถึงการออกแบบเพื่อเป็นแห่งศึกษาทางธรรมชาติและแนวความคิดแห่งความยั่งยืนของในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว ยังจัดสรรพื้นที่ไว้สำหรับประชาชนออกกำลังกาย มีลานกิจกรรม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ