ข่าว

เคาะแล้ว แบงก์ชาติ ไม่หนุน "สินทรัพย์ดิจิทัล" ใช้จ่ายในประเทศ เสี่ยงฟอกเงิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เคาะแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่สนับสนุนใช้ "สินทรัพย์ดิจิทัล" ชำระสินค้าค่าบริการ เสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินในประเทศ อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือฟอกเงินได้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ธนาคารแห่งประเทศไทย - Bank of Thailand ในกรณีการนำ “สินทรัพย์ดิจิทัล” มาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้หรือไม่ หลังจากที่ได้มีการประชุมหารือกันระหว่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย กลต. และ การะทรวงการคลัง ในวันที่ 25 มกราคม 2565 โดยได้ข้อสรุปว่า “ไม่สนับสนุน” ให้ใช้ “สินทรัพย์ดิจิทัล” มาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ โดยระบุข้อความว่า

 

"สรุปแล้วนโยบายของแบงก์ชาติไม่สนับสนุนการนำ #สินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ หรือง่าย ๆ ก็คือ ไม่สนับสนุนให้เอาสินทรัพย์ดิจิทัลมาจับจ่ายใช้สอยซื้อของครับ เพราะจะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศเรา แต่แบงก์ชาติไม่ได้ปิดกั้นการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แถมยังสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาระบบการเงินด้วย"

เคาะแล้ว แบงก์ชาติ ไม่หนุน \"สินทรัพย์ดิจิทัล\" ใช้จ่ายในประเทศ เสี่ยงฟอกเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง (กค.) ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของ "สินทรัพย์ดิจิทัล" และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

 

ปัจจุบัน ผู้ประกอบธุรกิจ "สินทรัพย์ดิจิทัล" ได้ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจในลักษณะให้บริการ ชักชวนหรือแสดงตน ว่าพร้อมจะให้บริการแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น จัดทำระบบและโฆษณาเชิญชวนร้านค้า ซึ่งการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในลักษณะดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการ "ฟอกเงิน"  

หน่วยงานกำกับดูแลต่างตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบดังกล่าว จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการนำ "สินทรัพย์ดิจิทัล" มาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงกว้าง และจะมีแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสม สำหรับบริการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อนวัตกรรมทางการเงินและไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบที่กล่าวถึงข้างต้น โดยคำนึงถึงทั้งการเพิ่มศักยภาพของระบบการเงินของประเทศ และประโยชน์ของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชนต่อไป

 

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธปท. คำนึงถึงทั้งความเสี่ยงและประโยชน์ของ "สินทรัพย์ดิจิทัล" รวมถึงเทคโนโลยีเบื้องหลัง และมองว่า ณ ขณะนี้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ จึงควรมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน ขณะที่เทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวก็ควรได้รับการสนับสนุนโดยมีกลไกดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและประโยชน์ต่อประชาชน

 

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันกับ ธปท. และ กค. ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ "สินทรัพย์ดิจิทัล" ที่มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ซื้อขายอย่างเหมาะสม และให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป

เคาะแล้ว แบงก์ชาติ ไม่หนุน \"สินทรัพย์ดิจิทัล\" ใช้จ่ายในประเทศ เสี่ยงฟอกเงิน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ