ทำกันมาทุกปี แบกน้ำขึ้นเขาสมโภชน์ ไปเลี้ยง "เลียงผา" และสัตว์ป่า หน้าแล้ง
แม้การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่จิตอาสาทุกคน ต่างภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่ ช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่า ได้มีน้ำกินในหน้าแล้ง
วันที่ 22 ก.พ.65 จิตอาสากว่า 100 คน ช่วยกันแบกน้ำขึ้นภูเขาสูงชัน เพื่อไปให้เลียงผา และสัตว์ป่า ที่ประสบปัญหาภัยแล้งได้ดื่มกิน ณ ที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ ต.นาโสม อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี กิจกรรมเดินเท้าขนน้ำขึ้นภูเขา ได้ทำติดต่อกันเป็นประจำทุกปี
กลุ่มจิตอาสา ประกอบไปด้วย ชมรมฅนรักษ์สัตว์-ป่า และกลุ่ม ฅ.ฅนทำทาง กลุ่มขันอาสา กลุ่มอาสาด้วยสองมือ ชมรมเด็กและเยาวชนแก๊งรองเท้าแตะ และเยาวชนกองทัพมด อำเภอชัยบาดาล ร่วมกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ขนน้ำขึ้นเขาสมโภชน์
ป่าเขาสมโภชน์ ตั้งอยู่ที่ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี พื้นที่ประมาณ 8,440 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็น ภูเขาหินปูนปกคลุมด้วยป่าไม้ ค่อนข้างสมบูรณ์แห่งหนึ่งของ จ.ลพบุรี และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด รวมทั้งเลียงผาสัตว์ป่าหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่เนื่องจากพื้นที่ป่าเป็นภูเขาที่เต็มไปด้วยหิน จึงไม่สามารถกักเก็บน้ำตามแหล่งธรรมชาติไว้ได้ตลอดทั้งปี
โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง น้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอด มีน้ำไม่เพียงพอ ทำให้สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่บนภูเขา ต้องลงสู่พื้นล่าง เพื่อหาอาหารและน้ำ ในพื้นที่ไร่ และสวนของชาวบ้าน เสี่ยงต่อการได้รับสารพิษตกค้าง หรือได้รับอันตราย ถูกไล่ล่าเป็นอาหาร นำกระดูกเลียงผาไปทำน้ำมันรักษาโรคกระดูกตามความเชื่อ
สำหรับกิจกรรม จิตอาสาแบกน้ำขึ้นเขา ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ผืนป่าแห่งนี้ มีสัตว์ป่ามากกว่า 200 ชนิด เช่น เลียงผา หมีควาย ค่างแว่น ลิง ค้างคาว เม่น หมาจิ้งจอก เสือปลา เสือไฟ แมวป่า ไก่ฟ้า ไก่ป่า ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติวิทยาที่หลากหลายและน่าสนใจอย่างยิ่ง
จิตอาสาเหล่านี้ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตและอนุรักษ์สัตว์ป่า จึงได้รวมตัวกันจัดทำแหล่งกักเก็บน้ำให้สัตว์ป่า ได้ดื่มกินบนยอดเขาสูง จัดทำสระเก็บน้ำ ด้วยพื้น พลาสติก อ่างคอนกรีต และบ่อวงท่อคอนกรีต เพื่อกักเก็บน้ำในหน้าแล้ง พร้อมกับรวมตัวกัน ขนย้ายน้ำจากพื้นด้านล่างขึ้นไปสู่ยอดเขาเป็นประจำทุก ปี
ทั้งนี้ก่อนทำกิจกรรม จิตอาสาทุกคน ต้องผ่านการตรวจ ATK แสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง และเพื่อนๆ ที่มาร่วมทำงาน จากนั้นแต่ละคนจะต้องสะพายแกลลอนน้ำ ขนาด 18 ลิตร ใส่หลังคนละ 1 ใบ รวมจำนวน 240 แกลนลอน ปริมาณน้ำ ราว 4,320 ลิตร และค่อยๆ เดินตามเส้นธรรมชาติในลักษณะกองทัพมด ซึ่งเป็นป่าและโขดหิน ขึ้นไปสู่ยังจุดหมายบนยอดเขา ระยะทางรวม ประมาณ 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินเท้า ประมาณกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อติมน้ำให้เต็มแหล่งกักเก็บน้ำที่เตรียมไว้
แม้การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก และเหน็ดเหนื่อย แต่จิตอาสาทุกคน ต่างก็ภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่ ช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่า และยังเป็นการช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย
ภาพ/ข่าว กฤษณ์ สนใจ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ลพบุรี