ปรี๊ด กทม.เตรียมแจก "นกหวีด" จนท.ในสังกัด ป้องกันตัว ระงับเหตุฉุกเฉิน
กทม. ส่งหนังสือเวียน ผอ. 50 เขต เตรียมแจก"นกหวีด" เป็นอุปกรณ์ป้องกันตัว หากเจอเหตุฉุกเฉิน หลังพบคนร้ายก่อเหตุปล้นทรัพย์นักเรียนหลายพื้นที่ พร้อมเร่งพัฒนาแอป Risk Map ค้นหาจุดเสี่ยง
หลังจากที่แต่ละโรงเรียนกลับมาเปิดเรียน on-site แบบ100% ตั้งแต่กลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แต่กลับมีเหตุการณ์เกี่ยวกับการ ทำร้าย ปล้นทรัพย์นักเรียนหลายแห่ง เช่น โรงเรียนไถเงินนักเรียนหอวัง ปล้นพระเกี้ยวนักเรียนบดินทรเดชา จนทำให้ผู้ปกครองต่างเป็นห่วงความปลอดภัยลูกหลานกันอย่างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง ผอ.เขตจตุจักร ได้เสนอแจกนกหวีดให้พนักงานที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อถ้าเกิดฉุกเฉินจะได้นำขึ้นมาเป่าก่อน เพื่อทำให้คนร้ายเกิดความตกใจและได้รับความสนใจจากผู้อื่น โดยข้อเสนอดังกล่าว นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เห็นด้วยเนื่องจากไม่ได้ใช้ต้นทุนสูงเกินไป
ล่าสุดวันนี้ 13 ก.ค. 65 มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ฝ่ายบริหาร กทม. เวียนหนังสือ แจ้งผู้อำนวยการเขต 50 เขต รับทราบถึงแนวทางในการดำเนินการ 5 มาตรการ ในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่เด็กนักเรียนในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร (โรงเรียนสังกัด กทม. และโรงเรียนนอกสังกัด กทม.)
1. กำหนดให้ สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ดำเนินการตรวจสอบสภาพการใช้งานของกล้อง CCTV หากตรวจพบว่ามีสภาพชำรุด ภาพไม่ชัดเจน ให้เปลี่ยนกล้องให้มีความคมชัดและประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนและตรวจสอบการติดตั้งไม่ให้ทิศทางของมุมกล้องเกิดช่องว่างของระยะมุมกล้อง เพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวัง
2. ตรวจสอบไฟฟ้าส่องสว่าง ดำเนินการแก้ไขกรณีกิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่โดยรอบรั้วโรงเรียนยื่นบดบังแสงสว่างจากโคมไฟฟ้าส่องสว่างและมุมกล้อง เพื่อให้แสงสว่างสามารถส่องถึงพื้นเบื้องล่างได้และไม่บดบังทิศทางของกล้อง CCTV
3. ฝ่ายเทศกิจจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจตราบริเวณทางเดินรอบๆ โรงเรียนรวมถึงบริเวณใกล้เคียง เวลา 05.00-06.00 น. ประสานงานตรวจตราร่วมกับ สน.ท้องที่
4. เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ภายในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการช่วยดูแลด้านความปลอดภัยในพื้นที่นั้นๆ
“ให้ทางสำนักงานเขต จัดอบรมเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่งานรักษาความสะอาด โดยขอความร่วมมือจากสถานีตำรวจจัดส่งวิทยากรมาให้ความรู้ คำแนะนำ รวมไปถึงซักซ้อมแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครสามารถปฏิบัติงานภายในพื้นที่ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ”
5. เน้นย้ำการทำงานร่วมกันของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยชี้ให้เห็นว่าการปราบปรามที่ดีที่สุด คือ การป้องกัน รวมไปถึงการปรับสภาพแวดล้อมให้ไม่เป็นสถานที่เปลี่ยว ซึ่งผู้อำนวยการเขตเป็นแกนหลักในการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นภายในพื้นที่
ขณะที่นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้รับข้อเสนอในการมีหนังลือเวียนแจ้งผู้อำนวยการทั้ง 50 เขต ดำเนินการในเรื่องนกหวีด แล้ว
นอกจากนี้ยังมีนโบายกรุงเทพฯ Risk Map ที่ทางด้านดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ คณะที่ปรึกษา ผู้ว่าฯ กทม. มองว่าควรเร่งดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการงานด้านความปลอดภัย และให้แอปพลิเคชันสามารถเซึ่อมโยงกับข้อมูลกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะเป็นประโยชน์เพื่อสร้างเมืองปลอดภัย
ล่าสุด ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าฯ กทม. ได้มอบหมายสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.ประสานข้อมูลจุดเสี่ยง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อเร่งจัดทำ Risk Map ในภาพรวม ซึ่งยังมอบหมายสำนักเทศกิจ นำข้อมูลจุดเสี่ยงอาชญากรรมของตำรวจ มาผนวกรวมข้อมูลจุดเลี่ยงที่มีอยู่ ให้รวมกันอยู่บนฐานข้อมูลเดียวกัน โดยจะเปิดให้ประชาชนได้ทราบว่าจุดใดบ้างเป็นจุดเสี่ยงอาชญากรรม เพราะข้อมูลปัจจุบันยังเป็นเพียง Hazard Map ยังไม่ครบองค์ประกอบ
สำหรับจุดเสี่ยงภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวน 463 จุด แบ่งเป็น 7 ประเภท ดังนี้
1. บริเวณพื้นที่รกร้าง 12 แห่ง
2. อาคารร้าง 6 แห่ง
3. สะพานลอยคนข้าม 66 แห่ง
4. สวนสาธารณะ/สวนหย่อม 46 แห่ง
5. จุดอับ จุดมืด จุดอับสายตา 88 แห่ง
6. โรงเรียน-สถานศึกษา 64 แห่ง
7. อื่นๆ เช่น ถนน ตรอก ซอย เปลี่ยว ช่วงกลางคืน ฯลฯ 181 แห่ง
ติดตามข่าวสาร คมชัดลึก อื่นๆ ได้ที่
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057