สาวมะกันแชร์คลิปเล่าความทรมานสุดบรรยาย รักษาปอดรั่ว เพราะ "บุหรี่ไฟฟ้า"
นศ.หญิงอเมริกันวัย 23 แชร์ความเจ็บปวดแสนสาหัส หลัง "บุหรี่ไฟฟ้า" ทำปอดพัง เข้ารพ.สองรอบ ประกาศไม่มีวันกลับไปสูบอีก เตือนคนอื่นให้เลิกเถอะ (ภาพปก tiktok@gracejohanna )
เกรซ บราสเซล นักศึกษาอเมริกัน วัย 23 ปี แชร์คลิปบน TikTok ภายใต้หัวข้อ “เหตุผลที่ฉันจะไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอีกต่อไป” ( why I am never vaping again) กลายเป็นไวรัลยอดวิวกว่า 2 ล้าน เมื่อเธอบอกเล่าประสบการณ์ความทรมานแสนสาหัสขณะเข้ารับการรักษาอาการป่วย อันเป็นผลจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า
สายวันหนึ่งเมื่อปลายเดือนมิ.ย. บราสเซลตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการเจ็บซี่โครง ไอเป็นเลือด ก่อนไปเอ็กซเรย์ พบปอดข้างซ้ายล้มเหลว อาการป่วยแบบกะทันหันของเธอคือ ภาวะปอดรั่วที่เกิดขึ้นเอง โดยไม่เคยมีประวัติโรคปอดมาก่อน ( spontaneous pneumothorax) หมอสอดท่อเข้าไปในปอดเพื่อดูของเหลวออก ซึ่งประสบการณ์จุดนี้ หญิงสาวบรรยายว่าเจ็บปวดทรมานที่สุดในชีวิต
หนึ่งสัปดาห์ต่อมา เธอยังไอเป็นเลือดอยู่ และต้องกลับเข้ารพ.รอบสอง คราวนี้ เข้ารับการผ่าตัดซ่อมแซมปอด “พอตื่นจากผ่าตัด ฉันถามพยาบาลว่าความตายเป็นแบบนี้เองใช่ไหม” แต่นั่นยังไม่จบ เธอต้องอยู่ในรพ.อีก 4 วันโดยมีท่ออีกชิ้นสอดอยู่ในปอดเพื่อดูดของเหลว หญิงสาว ระบุในคลิปว่า “รู้สึกเหมือนกำลังจมน้ำตาย” “ฉันรู้แล้วว่าการถูกทารุณกรรมรู้สึกอย่างไร”
@gracejohanna I got to see how sensitive our lungs are at such a young age. It happened bc of my stature, but please respect your lungs #collapsedlung #spontaneouspneumothorax #stopvaping #vaping ♬ original sound - gracejohanna
ภาวะปอดรั่วที่เกิดขึ้นเอง ไม่มีสาเหตุแน่ชัด อาจเกิดจากหลายปัจจัย โดยมากเกิดกับคนสูงและผอมอย่างเธอ แต่การสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนสำคัญ “การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ทำให้เกิดขึ้นโดยตรง แต่อาจฆ่าฉันตายได้” บราสเซลกล่าว
สุดท้าย นศ.หญิง กล่าวว่า เธอจะไม่มีวันกลับไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าอีกตลอดชีวิต และฉันจะเคารพร่างกายของตัวเอง เธอหวังว่าเรื่องราวของเธอจะกระตุ้นให้คนอื่น ๆ เลิกสูบเช่นกัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย
ที่ออสเตรเลีย ก่อนหน้านี้ ศ.พอล เคลลี เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสาธารณสุข เคยออกมาแสดงความวิตก กระแสความนิยมบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มคนหนุ่มสาว และเตือนว่า อาจเป็นปัญหาใหญ่สุดด้านสาธารณสุขหลังจากโควิด ขณะที่สภาวิจัยสาธารณสุขและการแพทย์แห่งชาติ ระบุว่า ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงได้รับสารเคมีเป็นพิษหลายชนิด และมีหลักฐานอย่างจำกัดที่ว่าอุปกรณ์นี้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้