Lifestyle

121 วรรณกรรมคลาสสิก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ตำข่าวสารกรอกหม้อ   โดย...  จักรกฤษณ์ สิริริน

 

 

 

          “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ได้นำเอารายชื่อวรรณกรรมคลาสสิกตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 9 ถึงศตวรรษที่ 19 ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง 1001 Books You Must Read Before You Die มานำเสนอใหม่ในรูปแบบ “วรรณมาลัย” เลือกเอามา 121 เล่ม

 

 

          1001 Books You Must Read Before You Die มี Peter Boxall เป็นบรรณาธิการ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Cassell Illustrated เมื่อ ค.ศ.2012 ชุดนี้มีทั้งหมด 3 เล่ม คือ 1001 Pictures, 1001 Movies และ 1001 Books


          1001 Books You Must Read Before You Die ทำให้เราเห็นภาพกว้างของคำว่า Classic Literature และ Modern Classic Literature แม้หนังสือเล่มดังกล่าวจะไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดมากนัก ทว่า ก็ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปีการ “ก่อเกิดครั้งแรก” ของวรรณกรรม ทำให้เราสามารถมองเห็นความเป็นมาได้พอสมควร


          "สุชาติ” บอกว่า “...ผมได้ใช้หนังสือวรรณมาลัยเรื่อง 1001 Books You Must Read Before You Die ของ Peter Boxall ที่ว่านี้มาเป็นข้อมูลเบื้องต้น โดย “บ่น” มาหยุดแค่จบศตวรรษที่ 19 เท่านั้น และที่ “บ่น” มาจนกลายเป็นอย่างหนาดังที่เห็นนี้ก็เชื่อว่าจะมีข้อบกพร่องผิดพลาด เนื่องจากหนังสือบางเรื่องผมไม่เคยอ่าน ได้แต่ “อ่านที่คนอื่นอ่าน” แล้วนำมาเล่าให้ฟังแบบไม่รู้จริงอะไรนัก...”


          “...ดังนั้นก็ต้องบอกคนที่เป็น “ผู้รู้” ในหนังสือเรื่องนั้นๆ ไว้ก่อนล่วงหน้าว่า ผมก็แค่ทำเป็นแกล้งรู้ไปเท่านั้น ไม่ได้รู้จริง หรือรู้ลึกแต่ประการใด ผิดพลาดบกพร่องประการใดก็ต้องขออภัยด้วย และช่วยแจ้งมาให้ทราบกันบ้าง ต่อไปจะได้เลิก ‘บ่น’ ทำเป็นคนรู้มาก...”


          "...เนื่องจากนามปากกา “สิงห์สนามหลวง” เกิดขึ้นครั้งแรกที่นิตยสาร “โลกหนังสือ” ของ “สำนักพิมพ์ดวงกมล” ผมจึงขออุทิศการ “บ่นวรรณกรรม” ของหนังสือเล่มนี้ให้กับคุณ “สุข สูงสว่าง” แห่ง “ร้านหนังสือดวงกมล” ซึ่งเป็นผู้ก่อเกิดนิตยสาร “โลกหนังสือ” เมื่อ พ.ศ.2520 และ “โลกหนังสือฉบับเรื่องสั้น” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า “ช่อการะเกด” เมื่อ พ.ศ.2521...”




          “...ถ้าหากไม่มีคุณ “สุข สูงสว่าง” แห่ง “ร้านหนังสือดวงกมล” และ “สำนักพิมพ์ดวงกมล” ที่เคยเกื้อหนุนผมให้ผ่านวิกฤตเมื่อครั้งภายหลังเหตุการณ์นองเลือด “6 ตุลา 2519” เสียแล้ว ผมก็เชื่อว่าแวดวงวรรณกรรมในบ้านเราคงจะไม่มี “โลกหนังสือ” และ “โลกหนังสือฉบับเรื่องสั้น” ซึ่งเป็นแดนเกิดของนักคิด นักเขียน นักวิจารณ์ และนักเขียน “ช่อการะเกด” ในยุคสมัยเมื่อปี พ.ศ.2520-2526 และนั่นก็หมายความว่า นามปากกา “สิงห์สนามหลวง” คงจะไม่เกิดขึ้นมาในบรรณพิภพด้วย...”


          “...ด้วยจิตคารวะท่านผู้อ่านที่ติดตามกันมาแบบข้ามทศวรรษ และด้วยใจระลึกถึง “สุข สูงสว่าง” พ่อค้าหนังสือผู้มาก่อนกาล...” สุชาติ สวัสดิ์ศรี


          ท่านที่สนใจหนังสือกว่า 1,000 หน้า ว่าด้วยการแนะนำวรรณกรรมคลาสสิก 121 เรื่อง โดย “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” หรือ “สิงห์สนามหลวง” ชื่อหนังสือ 121 Classic Literature Book Lists บ่นสนทนา “วรรณกรรม” สามารถติดต่อไปได้ที่ www.facebook.com/sommadhibooks

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ