ข่าว

3จังหวัดเสี่ยง ตั้งกำแพงบล็อก“ตั๊กแตนไผ่”

3จังหวัดเสี่ยง ตั้งกำแพงบล็อก“ตั๊กแตนไผ่”

07 ก.ค. 2559

กรมวิชาการเกษตรจับมือ 3 จังหวัดเสี่ยงภาคเหนือบล็อก “ตั๊กแตนไผ่” เร่งวางกับดักเหยื่อพิษตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-ลาว ระยะทางกว่า 500 กม. สั่งเจ้าหน้าที่จับตาใกล้ชิด

              นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังการระบาดของตั๊กแตนไผ่ในจังหวัดเชียงราย ว่ากรมวิชาการเกษตรเร่งประสานผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พะเยา และเชียงราย เพื่อสร้างความร่วมมือในการติดตามเฝ้าระวังตั๊กแตนไผ่ (Yellow-spined bamboo locust) : Ceracris kiangsu ซึ่งเป็นศัตรูพืชสำคัญที่กำลังระบาดรุนแรงและสร้างความเสียหายอย่างหนักในแขวงหลวงพระบาง ของ สปป.ลาว อยู่ห่างจากไทยเพียง 114 กิโลเมตร
             เนื่องจาก 3 จังหวัดดังกล่าวเป็นพื้นที่เสี่ยงที่ตั๊กแตนไผ่มีโอกาสเข้ามาแพร่ระบาดสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรได้โดยเฉพาะผู้ปลูกข้าวโพด ข้าว และข้าวไร่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันติดตามความเคลื่อนไหวของศัตรูพืชชนิดนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เล็ดลอดเข้ามาระบาดภายในประเทศ
            ขณะเดียวกันกรมวิชาการเกษตรยังมอบหมายให้ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรน่าน และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เกาะติดสถานการณ์และเฝ้าระวังตั๊กแตนไผ่อย่างใกล้ชิด โดยให้เร่งจัดทำและวางกับดักเหยื่อพิษ (Mass Trapping) ระยะห่างทุก 200 เมตร ตลอดแนวชายแดนไทย-ลาว ตั้งแต่อำเภอเชียงของ จ.เชียงราย ถึง ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน รวมระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร อยู่ในเขต จ.เชียงราย 190 กิโลเมตร พะเยา 60 กิโลเมตร และน่าน 250 กิโลเมตร เพื่อตรวจสอบว่ามีตั๊กแตนไผ่เข้ามาถึงประเทศไทยหรือไม่ เพื่อจะได้วางแผนรับมือล่วงหน้าและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที   
              อธิบดีฯ กล่าวอีกว่า การติดตั้งกับดักเหยื่อพิษจะดำเนินการต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่ตั๊กแตนไผ่อยู่ในระยะตัวเต็มวัยสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างกว้างขวางและรุนแรงที่สุด โดยทุกจุดที่วางกับดักจะติดตั้งกับดักเหยื่อพิษ 2 สูตร ห่างกัน 10 เมตร เจ้าหน้าที่จะมีการตรวจเช็คกับดักทุก 3 วัน และ 7 วัน ทั้งยังจะเปลี่ยนกับดักทุกๆ 7 วันด้วย หากพบว่าชนิดตั๊กแตนที่ตายบริเวณกับดักมีลักษณะใกล้เคียงกับตั๊กแตนไผ่ เจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างตั๊กแตนส่งให้สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชตรวจสอบและจำแนกชนิดว่าเป็นตั๊กแตนไผ่หรือไม่
              “นอกจากนั้น กรมวิชาการเกษตรยังมีแผนร่วมมือกับซิงเกิ้ลคอมมานด์ (Single Command) และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตั๊กแตนไผ่ให้เกษตรกรและองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ทราบ เพื่อจะได้ช่วยกันติดตามเฝ้าระวัง และได้กำหนดมาตรการป้องกันกำจัดตั๊กแตนไผ่กรณีที่ตรวจพบในเขตประเทศไทย เพื่อเตรียมพร้อมรับมือปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
              ถ้าพบว่ามีตั๊กแตนไผ่ตัวเต็มวัยติดกับดักไม่เกิน 10 ตัว/กับดัก ให้แจ้งสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 โดยเร็ว เพื่อจะได้ควบคุมและจำกัดพื้นที่ระบาดโดยดำเนินการกำจัดในวงรัศมี 10 กิโลเมตร ก่อนที่ตั๊กแตนไผ่จะผสมพันธุ์ วางไข่และแพร่ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น” นายสมชายกล่าว 
             หากพบว่ามีตั๊กแตนไผ่ตัวเต็มวัยติดกับดักมากกว่า 10 ตัว/กับดัก จะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการควบคุมกำจัดในพื้นที่รัศมี 25 กิโลเมตร และถ้ามีการระบาดอย่างรุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลการเกษตรเป็นวงกว้างจนไม่สามารถควบคุมได้ จังหวัดอาจพิจารณาประกาศเป็นเขตภัยพิบัติและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายต่อไป