ข่าว

“กุ้งก้ามแดง”สัตว์ต่างถิ่นไม่น่ากลัวอย่างที่คิด!

“กุ้งก้ามแดง”สัตว์ต่างถิ่นไม่น่ากลัวอย่างที่คิด!

11 ก.ค. 2559

โดย - ดลมนัส กาเจ

           ในที่สุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) วิทยาเขตองครักษ์ จ.นครนายก “นายกฤติญา แสงภักดี” จากคณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง หรือเครฟิช หลังจากพบว่า ปัจจุบันกระแสนิยมการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง หรือเครฟิช กำลังเป็นที่นิยมจากเกษตรกรอย่างกว้างขวางทั้ง 5 ภูมิภาคของประเทศไทย ขณะที่กรมประมงยังไม่ให้การรับรอง และไม่สนับสนุนเนื่องจากเป็นสัตว์ต่างถิ่น ที่จัดอยู่ในประเภทสัตว์ควบคุมของกรมประมงนั่นเอง

          ขณะที่ นายประทีป มายิ้ม อุปนายกสมาคมการค้ากุ้งก้ามแดง และผู้เลี้ยงกุ้งก้ามแดงในรูปแบบของชีววิถี ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ระบุว่า เกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งก้ามแดงในประเทศไทยในรูปแบบต่างๆ กว่า 1 หมื่นรายกระจายไปทั่วประเทศและลุกลามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว ถึงขนาดรัฐบาลส่งเสริมให้เกษตรกรในประเทศของเขาเลี้ยงอย่างจริงจัง เพื่อทำการตลาดส่งออกถึงผู้บริโภคต่างทวีป และประเทศที่มีกำลังการซื้อ การบริโภคสูง เช่นจีน เป็นลูกค้าหลัก ส่วนในประเทศไทย ขณะนี้มีร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรมต่างๆ หลายแห่งเริ่มนำกุ้งก้ามแดงไปอยู่ในเมนูอาหารของร้านบ้างแล้ว จึงเชื่อว่าตลาดกุ้งเนื้อจะโตอย่างต่อเนื่องในเร็ววันอย่างแน่นอน

         “ตลาดที่ต้องการจำนวนมหาศาล แต่ประเทศไทยยังถือว่าช้าเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลทางระเบียบราชการ จึงอาจทำให้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาด มากขึ้นในอนาคต ส่วนตลาดกุ้งก้ามแดงในส่วนอื่นๆ พบว่าหลายๆ พื้นที่ พบว่ายังมีความเคลื่อนไหวของตลาดลูกกุ้ง กุ้งพ่อแม่พันธุ์ที่ดีมาก เนื่องจากกำลังได้รับความสนใจจากเกษตรกรที่หาซื้อไปเลี้ยงมีจำนวนมาก แม้ว่าเกษตรกรที่เลี้ยงอยู่แล้วจะสามารถผลิตลูกกุ้งได้เอง แต่ความชำนาญของเกษตรกรแต่ละคนที่จะผลิตลูกกุ้งให้รอดยังมีไม่มากนัก” นายประทีป กล่าว

          สำหรับงานวิจัยของนายกฤติญา แสงภักดี ดำเนินภายใต้โครงการวิจัยการศึกษารูปแบบการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง Cherax quadricarinatus ในนาข้าวและผลกระทบต่อระบบนิเวศในนาข้าว จังหวัดนครนายก เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2558-15 มิถุนายน พ.ศ.2559 ณ แหล่งเรียนรู้พฤกษศาสตร์ วิถีธรรมชาติ ชุมชน มศว อ.องครักษ์ จ.นครนายก และพื้นที่เครือข่ายจังหวัดใน 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นผลกระทบของการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในนาข้าว โดยสำรวจข้อมูลจากทั้ง 2 ด้าน ทั้งในทางบวกและลบ ให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้

          นอกจากนี้ เพื่อทราบผลจากการวิจัยระบบนิเวศในนาข้าวร่วมกับการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงและผลกระทบต่อระบบนิเวศในนาข้าวในหลายมิติ รวมถึงเพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมเกษตรกรในการร่วมกลุ่มการผลิตข้าวอินทรีย์ร่วมกับการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงเพื่อเพิ่มรายได้ และเพื่อบูรณาการการวิจัยกับการบริหารจัดการพื้นที่นาข้าวร่วมกับการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง ส่งเสริมทักษะการรักษาระบบนิเวศและกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เหมาะสมในสภาพพื้นที่ในชุมชนเพื่อการการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          ส่วนการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เน้นการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงและผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้ง 5 ภูมิภาค โดยศึกษาจากที่เราเลี้ยงแบบชีววิถีคือ ปล่อยแมลงน้ำ และวัชพืชน้ำในนาข้าวร่วมกับการเลี้ยงกุ้ง วิธีที่ 2 ปล่อยกบ หอย และแมลงในน้ำและวัชพืชน้ำร่วมกับการเลี้ยงกุ้ง วิธีที่ 3 การปล่อยกุ้งฝอย ปลาากินพืช หอย แมลงในน้ำ และวัชพืชน้ำร่วมกับการเลี้ยงกุ้ง วิธีที่ 4 การปล่อยแมลงน้ำ กบ หอย กุ้งฝอย ปลากินพืช ปลากินเนื้อ และวัชพืชน้ำร่วมกับการเลี้ยงกุ้งในนาหว่านน้ำตม หลังข้าวงอก 20 วัน และวิธีที่ 5 การเลี้ยงกุ้งในนาหว่านน้ำตม หลังข้าวงอก 20 วัน

         “ผลการศึกษาของเราพบว่า กรรมวิธีที่ 3 การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงในนาข้าว ร่วมกับการเลี้ยงกุ้งฝอย หอยขม ปลากินพืช แมลงในน้ำ และวัชพืชน้ำ กุ้งก้ามแดงเจริญเติบโตและอัตราการรอดชีวิตดีที่สุดถึง 90% ต้นข้าวได้ผลผลิตสุง 450-550 กก./ไร่ ส่วนกุ้งฝอย หอยขม ปลากินพืชเจริญเติบโตได้อย่างปกติ รองลงมาได้แก่ กรรมวิธีที่ 5 และ 1 กุ้งก้ามแดงเจริญเติบโตและอัตราการรอดชีวิต คือ 75% และ 50% ตามลำดับ ในขณะที่กรรมวิธีที่ 2 และ 4 กุ้งก้ามแดงตายทั้งหมด เนื่องจากถูกสัตว์ศัตรู ได้แก่ กบ และปลากินเนื้อกำจัดหมด” นักวิจัยจาก มศว กล่าว

         นอกจากนี้ เขายังพบอีกว่า กุ้งก้ามแดงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เพราะเหมือนสัตว์ต่างถิ่นทั่วไปอย่างปลานิลกินพืชและสัตว์ที่เป็นเป้านิ่ง หรือเคลื่อนไหวช้า และไม่แตกต่างกับกุ้งก้ามกราม แต่เพื่อความแน่ชัด มีแผนวิจัยภาค 2 ให้ครบวงจร อย่างการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงโดยปลอดจากศัตรู อาทิ กบ นก ปลากินเนื้อชนิดต่างๆ แต่สามารถจัดการระบบนิเวศแบบอินทรีย์ ที่มีกุ้งฝอย หอยขม ปลากินพืช จอก แหน สาหร่าย ผักบุ้ง ผักกระเฉด และข้าว จะอยู่ร่วมกันในระบบอย่างเกื้อกูล

         สอดคล้องกับข้อมูลของ ดร.สุขกฤช นิมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยืนยันว่า กุ้งก้ามแดง/เครฟิช เป็นกุ้งที่มีแหล่งกำเนิดก็ที่รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลียพบตามแม่น้ำ ลำธาร เขื่อน หนองบึงต่างๆ ของแม่น้ำที่จะไหลลงไปที่อ่าว มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ และที่ประเทศออสเตรเลียนั้น มีการนำสายพันธุ์ที่ต่างกันมาผสมพันธุ์ หรือปรับปรุงสายพันธุ์ใหม่ เพื่อคัดที่ดีตามหลักวิทยาศาสตร์ ก็ได้ผลดีอันดับหนึ่งแล้ว

         "กุ้งชนิดนี้กินทั้งพืชและสัตว์ โดยเฉพาะสาหร่าย แหน และจอก รวมถึงปลาตาย กรณีที่ไม่มีอาหารอย่างอื่น ปัจจุบันพบมีการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ที่ประเทศเม็กซิโก เอกวาดอร์ อาร์เจนตินา อุรุกวัย เบลีซ อินโดนีเซีย จีน อิสราเอล และอีกหลายประเทศ สำหรับการวิจัยอย่างจริงจังนั้น ส่วนใหญ่ก็มีหลายประเทศเช่นกัน อาทิ โมร็อกโค สเปน ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็มีที่เลี้ยงอยู่แล้ว มีการบริโภคเป็นล่ำเป็นสัน กินกันเป็นยกกระสอบ เป็นเวลาช้านานแล้ว

            สนใจเลี้ยงกุ้งก้ามแดงอย่างไรให้ถูกวิธีธี ผิดกฎหมายหรือไม่ และสถานการณ์ตลาดเป็นอย่างไร จะมีตัวแทนจากกรมประมง นักวิชาการ และตัวแทนเกษตรกร จะมาให้ความรู้ในงานสัมมนาเรื่อง “แนวทางส่งเสริมและการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงอย่างไรให้ถูกกฎหมาย” สอบถามได้ที่ 0-2940-5426 หรือ 08-6340-1713