ข่าว

"5พอ"ปลูกอ้อยบนฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียง

"5พอ"ปลูกอ้อยบนฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียง

18 ต.ค. 2559

โดย - อาจารย์ยักษ์ มหาลัยคอกหมู

 

           ป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าพลังงานปิโตรเลียมมีมูลค่าสูงถึงปีละ 2.9 แสนล้านบาท และการใช้พลังงานมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาอื่นๆ ที่ยากต่อการแก้ไขตามมาเป็นลูกโซ่ อาทิ ข้าวยากหมากแพง เงินเฟ้อ สภาวะเช่นนี้จำเป็นที่ต้องพูดถึง "พลังงานทางเลือก" อย่างไม่มีทางเลี่ยงได้

            อันที่จริงการแก้ปัญหาการพึ่งพาพลังงานปิโตรเลียม ด้วยพลังงานทดแทนควรกระทำอย่างจริงจังมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาพูดเอาตอนนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการสร้างพลังงานทางเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานจากลม จากน้ำ หรือจากพืช อย่างที่ทราบกันปัญหาพลังงานผูกติดกับผลประโยชน์ทางการเมืองมานานหากไม่ถึงที่สุดรัฐก็จะไม่มีทางมองหาพลังงานทดแทนอย่างอื่นหรอก

 

\"5พอ\"ปลูกอ้อยบนฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียง

 

           ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเกษตร มีพื้นที่ภาคเกษตรมากมาย พืชพลังงานไม่ว่าจะเป็น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าว ปาล์ม มะพร้าว หรือสบู่ดำ จึงได้รับการกล่าวขานและสนับสนุนให้ปลูกเพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจด้านพลังงานที่จะช่วยประเทศประหยัดเงินตราส่งออกในการซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ

            แต่พอเกษตรกรปลูกพืชเหล่านี้ไปได้สักระยะ วงจรอุบาทว์ของการผูกขาด และกดราคาก็เกิดขึ้น กระบวนการการปลูกที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยา ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผลผลิตถูกกดราคา ซึ่งมีผลให้ขาดทุน เกษตรกรรายย่อยกลับกลายเป็นหนี้ ขายที่หรือไม่ก็ที่ดินถูกยึด มีผลให้การปลูกพืชพลังงานกลับกลายเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ เกษตรกรรายย่อยหายไป เพราะไม่มีความสามารถในการแย่งชิงตลาด

 

\"5พอ\"ปลูกอ้อยบนฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียง

 

            การปลูกพืชพลังงานเพื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืน จึงต้องเริ่มต้นจากฐานคิดใหม่ ที่มิใช่ฐานคิดที่นำเอาการตลาดเป็นตัวนำ มิเช่นนั้นประเทศไทยจะมิอาจนำตัวเองหลุดออกมาจากวังวนของราคาที่ขึ้นๆ ลงๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อราคาขึ้น เกษตรกรก็ละทิ้งพืชอื่นๆ หันมาปลูกพืชพลังงานแทน และเมื่อราคาตกก็เลิกปลูก กลับไปกลับมาแบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด อันเป็นผลให้เกษตรกรต้องยากจนและเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น จากการที่ต้องลงทุนใหม่อยู่ตลอดเวลา

            นอกจากจะต้องไม่นำเอาหลักคิดการตลาดเป็นตัวนำในการแก้ปัญหาพลังงานทดแทนแล้ว เรายังต้องเชื่อมโยงพืชพลังงานกับปัญหาอื่นๆ หมายความว่า การแก้ปัญหาพลังงานด้วยการปลูกพืชพลังงานจะต้องไม่ไปสร้างให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น การขาดแคลนอาหาร ซึ่งอาจเกิดจากการแย่งชิงพื้นที่ของพืชอาหารไปเป็นพืชพลังงาน ปัญหาการบุกรุกที่ป่าเพื่อเอาไปปลูกพืชพลังงาน รวมทั้งปัญหาระบบนิเวศ เช่น ดินเสื่อมน้ำเสื่อมเพราะการใช้สารพิษในกระบวนการปลูก คงเป็นเรื่องตลกที่ประเทศไทยจะประหยัดเงินซื้อน้ำมันได้แต่ต้องควักเงินเพิ่มเพื่อซื้อขาวปลาอาหารจากประเทศอื่นทั้งที่เคยผลิตได้เอง แต่ไม่แน่นะเรื่องแบบนี้คนไทยถนัดนัก

 

\"5พอ\"ปลูกอ้อยบนฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียง

 

            แล้วทางออกของพืชพลังงานที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจจะทำได้อย่างไร หากเชื่อว่าแนวทาง "เศรษฐกิจพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คือ "คำตอบของประเทศ" เศรษฐกิจพอเพียง ก็คือคำตอบของพืชพลังงานเช่นเดียวกัน ลองดูตัวอย่างของโมเดล การปลูกอ้อยแบบ 5 พอ คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น และพอพลังงาน ที่ได้มีการริเริ่มทำกันแล้ว โดยใช้หลักคิดดังนี้

            1.การคงไว้ของพื้นที่ป่า 30% 70% เป็นพื้นที่ปลูกอ้อย แนวคิดนี้ดูจะสวนทางกับการทำเกษตรสมัยใหม่ที่ต้องใช้เนื้อที่เพาะปลูกให้เต็มประสิทธิภาพสูงสุด คือ 100% แต่การสงวนพื้นที่ป่ามากขนาดนี้เพื่อการดำรงอยู่อย่างสมดุลของระรบบนิเวศ ความชื้นสัมพัทธ์ที่มากพอจากป่ารอบๆ จะมีผลดีต่อดิน น้ำ และผลผลิต

            2.ใช้ระบบไถเฉียงตามเส้นชั้นความสูงและการใช้หญ้าแฝกเพื่อควบคุมการชะล้างของหน้าดิน (Erosion control) ระบบไถเฉียงเป็นระบบที่สามารถควบคุมการชะล้างของหน้าดินจากน้ำฝนที่หลากเข้ามาตามฤดูกาล และเป็นระบบที่สามารถกักเก็บความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินได้เป็นอย่างดี

 

\"5พอ\"ปลูกอ้อยบนฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียง

 

            3.มีระบบเก็บกักน้ำตามธรรมชาติ มีแหล่งน้ำกระจายอยู่รอบๆ พื้นที่เพาะปลูก

            4.ใช้ระบบเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ เพื่อบำรุงรักษาดิน และ

            5.ในบริเวณป่า 30% นั้นใช้หลัก ป่า 3 ประโยชน์ 4 อย่างที่จะมีพืชสำหรับใช้กิน ใช้อยู่ และพืชสำหรับเอามาทำเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือน ปลูกกระจายอยู่ตามหลักเกษตรผสมผสาน

            หากปฏิบัติตามหลักคิดข้างบนนี้เกษตรกรจะสามารถพึ่งตนเองด้านปัจจัยสี่ได้เป็นพื้นฐานทั้งอาหาร ยา ที่อยู่อาศัย และมีพืชพลังงานอ้อยไว้ขาย โดยไม่ต้องเดือดร้อนหรือพะวงกับภาวะตลาด เมื่อเกษตรกรทุกคนมีความมั่นคงเช่นนี้ ไฉนเลยประเทศชาติจะไม่มีความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและพลังงาน