ข่าว

จับมือสถาบันวิจัยเยอรมนีปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง

จับมือสถาบันวิจัยเยอรมนีปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง

02 มี.ค. 2560

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

              กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  จัดแถลงข่าวลงนามความร่วมมือ “The Collaborative Bioeconomy International Project” โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสถาบัน Forschungszentrum Jülich (ฟอชุมเซนทลัม จูลิชสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) วิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง เพื่อเพิ่มผลผลิต สร้างความยั่งยืนของประเทศตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0

           ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. หน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สนับสนุนและพัฒนาความร่วมมืองานวิจัยทางด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพเพื่อความยั่งยืน รวมถึงงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี Plant Phenotyping และการประยุกต์ใช้กับสถาบัน Forschungszentrum Jülich (ฟอชุมเซนทลัม จูลิช) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยเห็นความสำคัญร่วมกันกับสถาบัน Forschungszentrum Jülich ว่ามันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย มีศักยภาพทางด้านการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจฐานชีวภาพ จึงได้ร่วมกันวางแผนดำเนินงานศึกษาวิจัย เรื่อง "Utilization of genetic and phenotypic variation of storage root development of Cassava (Manihot esculenta Crantz) to improve an important bio-economy crop; CASSAVASTORe" มีเป้าหมายศึกษาข้อมูลฟีโนไทป์ จีโนไทป์ และสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพัฒนาของรากสะสมอาหารของมันสำปะหลัง เพื่อประโยชน์สำหรับการเพิ่มความสามารถของงานการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อเพิ่มผลผลิตของประเทศไทยในอนาคต สำหรับในส่วนของประเทศไทยมีพันธมิตรในการวิจัยจากหลายหน่วยงาน และมีแผนการดำเนินงานทั้งสิ้น 4 แผนงาน ได้แก่

1. ศึกษาลักษณะทางสรีรวิทยาของการสร้างรากมันสำปะหลัง เพื่อศึกษาการเปลี่ยนอาหารจากใบมาสู่การสะสมแป้งที่รากมันสำปะหลัง ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

2. ศึกษาลักษณะฟีโนไทป์ของการพัฒนาของรากมันสำปะหลัง จำนวน 600 สายพันธุ์ที่เก็บรวบรวมไว้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่ จ.ระยอง ดำเนินการโดย ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง กรมวิชาการเกษตร และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

3. ศึกษาเพื่อระบุตำแหน่งและเครื่องหมายโมเลกุล และยีนด้วยเครื่องมือทาง      จีโนม ดำเนินการโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)

4. ศึกษาหน้าที่ของยีนที่ควบคุมการสร้างรากมันสำปะหลังในระบบการถ่ายยีนของมันสำปะหลังเพื่อยืนยันหน้าที่ของยีน และใช้สำหรับโปรแกรมการคัดเลือกเบื้องต้นของงานด้านการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง ดำเนินการโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) และ สถาบันForschungszentrum Jülich

ทั้งนี้ในส่วนของงบประมาณได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากสถาบัน Forschungszentrum Jülich ด้วยทีมนักวิจัยเยอรมัน และรัฐบาลสหพันธ์รัฐเยอรมนี สนับสนุนงบประมาณจำนวนเงิน 803,356 ยูโร หรือประมาณ 32 ล้านบาท ส่วนงบประมาณสนับสนุนการวิจัยของทีมนักวิจัยไทยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สวทช. ประมาณ 30 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ระหว่างปี 2560 – 2562

/////////////////////////////////////////