ข่าว

เผยผลศึกษาแรงงานครัวเรือนเกษตรภาคกลาง ยังไม่ขาดแคลน

เผยผลศึกษาแรงงานครัวเรือนเกษตรภาคกลาง ยังไม่ขาดแคลน

19 พ.ค. 2560

เผยผลศึกษาแรงงานครัวเรือนเกษตรภาคกลาง ยังไม่ขาดแคลน

 นายคมสัน  จำรูญพงษ์  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่เก็บข้อมูลงานวิจัย “ความต้องการแรงงานของครัวเรือนภาคการเกษตร ตามชนิดสินค้าและขนาดฟาร์ม” ซึ่งเป็นงานบูรณาการร่วมกันของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 – 12  โดยศึกษาถึงสถานการณ์และประสิทธิภาพของแรงงานแต่ละประเภทการผลิตแยกตามขนาดฟาร์ม และเชื่อมโยงถึงความต้องการแรงงานภาคการเกษตรตามประเภทและขนาดฟาร์ม

จากการลงพื้นที่ ได้ทำการศึกษาเกษตรกรสาขาพืช ประกอบด้วย ข้าว มันสำปะหลังโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และลำไย ตามขนาดฟาร์ม ในแต่ละกิจกรรมและกระบวนการผลิต ในการนี้      ขอยกตัวอย่างการศึกษาในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 (สศท.7) ซึ่งทำการศึกษาเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลังโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่ภาคกลางของแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ดำเนินการเก็บข้อมูลในจังหวัดลพบุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ส่วนมันสำปะหลังโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เก็บข้อมูลในจังหวัดลพบุรี ชัยนาท สระบุรี สุพรรณบุรี    

ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า แรงงานภาคเกษตรในพื้นที่ภาคกลางไม่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากเกษตรกรนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานคน ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การปลูก ดูแลรักษา จนถึงเก็บเกี่ยว ซึ่งมีทั้งส่วนที่ว่าจ้าง และจัดหาเครื่องจักรมาไว้เป็นของตนเอง ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกพื้นที่มากๆ ซึ่งนอกจากจะใช้สำหรับในฟาร์มของตนเองแล้ว ยังนำไปรับจ้างให้บริการเกษตรกรรายอื่นด้วย

สำหรับการจ้าง เกษตรกรจะมีการวางแผนการเพาะปลูก และนัดหมายล่วงหน้ากับผู้ว่าจ้างไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ตรงกับรายอื่นๆ โดยค่าจ้างจะคิดเหมาเป็นไร่  และอัตราค่าจ้างจะมีตั้งแต่ไร่ละ 200 – 600 บาท ในส่วนของแรงงานคน ส่วนใหญ่จะทำการว่าจ้างสำหรับงานด้านการดูแลรักษา ซึ่งค่าจ้างจะคิดใน 2 แบบ คือ เป็นรายวัน วันละ 300 บาท หรือเหมาเป็นไร่ อยู่ที่ไร่ละ 50 - 60 บาท

อย่างไรก็ตาม พบว่า แรงงานภาคเกษตรทั้งของข้าว มันสำปะหลังโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชั่วคราว มีทั้งเกษตรกรที่ว่างจากการทำการเกษตรของตนแล้วมารับจ้าง และที่เป็นแรงงานรับจ้างทางการเกษตรโดยเฉพาะ ทั้งในรูปแบบทำเองคนเดียว และทำเป็นทีมงาน  และหากกรณีผลผลิตเกษตรกรไม่ดี เสียหายจากภัยธรรมชาติ ผู้รับจ้างจะปรับลดค่าจ้างเครื่องจักรลง เพื่อเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ค่าจ้างแรงงานคนค่อนข้างคงที่ไม่ปรับลด

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างช่วงปี 2559 และ ปี 2558 พบว่า อัตราค่าจ้างทั้งส่วนของแรงงานคน และเครื่องจักรของทั้งสองปีไม่แตกต่างกันมากนัก  โดยเกษตรกรและท่านที่สนใจสามารถสอบถามผลการศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท โทร. 056 405 005 – 6 หรือ [email protected]

 

**********************************