ข่าว

"ฉัตรชัย"สั่งทุกหน่วยรับมือ‘ไอยูยู’ตรวจเข้ม1-15ก.ค.

"ฉัตรชัย"สั่งทุกหน่วยรับมือ‘ไอยูยู’ตรวจเข้ม1-15ก.ค.

26 มิ.ย. 2560

"ฉัตรชัย"สั่งทุกหน่วยงานเตรียมข้อมูลรับมือ‘ไอยูยู’ตรวจเข้ม1-15ก.ค.

 เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป(อียู)จะเดินทางเข้ามาตรวจสอบการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing: IUU) ระหว่างวันที่ 1-15 ก.ค.นี้  เป็นการตรวจอย่างเข้มข้นกว่าทุกครั้ง 

อียูได้ให้ “ใบเหลือง” กับไทยจากปัญหา IUU Fishing เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2558  ก่อนหน้านี้ไทยถูกปรับลดอันดับไปอยู่ในเทียร์(Tier 3) จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (US’s Trafficking in Persons Report : TIP Report) ของสหรัฐเมื่อเดือนมิ.ย. 2557 กว่า 2 ปีที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหา แต่ยังไม่สามารถปลด “ใบเหลืองได้”

การให้ใบเหลือง ถือเป็นประกาศเตือนอย่างเป็นทางการของอียู เพื่อให้รัฐบาลแก้ปัญหา แม้เดิมอียูให้เวลา 6 เดือน แก้ไขปัญหาเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคว่ำบาตรการนำเข้าอาหารทะเล แต่การแก้ปัญหามีความซับซ้อนและยุ่งยาก ทั้งเรื่องข้อกฎหมายและการปฏิบัติ ทำให้การปลด “ใบเหลือง” ต้องยืดเยื้อออกไป

อียูจัดกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมง 3 กลุ่ม 1.กลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับ IUU Fishing 2. กลุ่มประเทศที่ได้รับ “ใบเหลือง” ตักเตือนให้มีการปรับปรุงแก้ไข และ 3. กลุ่มประเทศที่ได้รับ “ใบแดง” จะโดนคว่ำบาตรการนำเข้าสินค้าประมงจากอียู

พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าเพื่อเตรียมพร้อมรับเจ้าหน้าที่อียูติดตามและตรวจสอบการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทยทั้งระบบ ตั้งแต่วันที่ 1-15 ก.ค.นี้ ได้สั่ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมข้อมูลพร้อมรายงานทุกสถานการณ์ “การเข้ามาของอียูครั้งนี้จะเพิ่มความเข้มข้นมากกว่าทุกครั้ง”

 การตรวจสอบครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่จะตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเรือ การควบคุมเรือประมง รวมทั้งเรือประเภทอื่นที่มีส่วนสนับสนุนเรือประมง เช่น เรือบรรทุกน้ำมันกลางมหาสมุทร เรือบรรทุกน้ำแข็ง ปัจจุบันได้ออกประกาศให้ติดเครื่องติดตามเรือหรือ วีเอ็มเอส แล้ว

ในส่วนของวีเอ็มเอส ได้พัฒนาต่อเนื่องเป็นเวอร์ชั่นที่ 3 เพื่อแก้จุดบกพร่องจากเดิมที่อาจมีการติดบ้าง ดับบ้าง เครื่องที่สามารถถอนออกก็ให้ยึดติดกับตัวเรือ ต้องเปิดตลอดเวลา เพื่อให้สามารถติดตามเรือได้ตลอดเวลาที่ออกทำประมง 

นอกจากนี้ กรมประมงยังได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมการติดตามการทำงานเรือประมงทั้งระบบ หรือเอฟเอ็มซี เฝ้าติดตามเรือตลอด 24 ชั่วโมง 

“การทำงานไอยูยูคืบหน้ามาก หลังจากเจ้าหน้าที่อียูเข้ามาตรวจสอบครั้งล่าสุด เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แต่ยอมรับการดำเนินการยังไม่ 100% บางอย่างเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร กับหลายหน่วยงานกับระบบที่ต่างกันทั้งตัวบุคลากรและวัสดุอุปกรณ์ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่ต่างกัน แรงงานยังต้องอาศัยเวลาแก้ไข คาดอียูจะเข้าใจ” พล.อ. ฉัตรชัย กล่าวและว่าพยายามออกประกาศกระทรวงตามอำนาจที่ได้รับมอบ เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว พร้อมประสานกับกระทรวงแรงงานเพื่อแก้ไขแรงงานต่างด้าวการขึ้นทะเบียนแรงงานประมงให้ถูกต้อง 

ล่าสุดตามกฎหมายของกรมเจ้าท่า กรณีเอาผิดกับผู้ครอบครองสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ กระทบกับการเลี้ยงปลาในกระชังของเกษตรกร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือโดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ประสานคาดจะมีแนวทางที่ชัดเจนสัปดาห์นี้

“การเร่งดำเนินการแก้ปัญหา ไอยูยู ทั้งหมดไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้ไทยหลุดจากใบเหลือง แต่อยากเห็นความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล  ให้ไทยมีสถานะเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ”พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวและหวังว่าการแก้ปัญหาไอยูยูที่ผ่านมาจะเป็นส่วนผลักดันให้ไทยมีภาพลักษณ์ต่อการทบทวนรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐในเร็วๆนี้