ข่าว

 ผุดไอเดีย ต่อยอดงานวิจัย " บ่อน้ำเคลือบยางพารา

ผุดไอเดีย ต่อยอดงานวิจัย " บ่อน้ำเคลือบยางพารา

24 พ.ค. 2561

เกษตรกรชาวสวนยาง จ.เชียงราย ผุดไอเดีย ต่อยอดงานวิจัย " บ่อน้ำเคลือบยางพารา

เกษตรกรชาวสวนยางบนพื้นที่สูง จ.เชียงราย มีแนวคิดสร้างรายได้เสริมในภาวะที่ราคายางพาราผันผวน ผุดไอเดีย นำผลงานวิจัยบ่อน้ำเคลือบยางพารา ต่อยอดธุรกิจสร้างโอกาสให้เกษตรกรในพื้นที่ต่อสู้กับปัญหาขาดแคลนน้ำทำการเกษตร สร้างประโยชน์ เพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศ หวังเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ นำแนวทางไปปรับใช้ 

น.ส.นฤมล ปาณะที เกษตรกรชาวสวนยางบนพื้นที่สูง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดสร้างรายได้เสริมในภาวะที่ราคายางพาราผันผวน โดยปัจจุบัน คุณนฤมล มีพื้นที่ทำสวนยางพารากว่า 25 ไร่ จากช่วงปลายปีที่ผ่านมาเกิดประสบปัญหาด้านราคายาง เนื่องจากราคายางตกต่ำมาก จึงเลือกหาอาชีพเสริมเพื่อชดเชยรายได้เลี้ยงครอบครัว โดยได้ศึกษานำผลงานวิจัยเรื่องการสร้างบ่อน้ำเคลือบยางพารา ของ สกว. ( สำนักงานกองทุนสนับสนุนเพื่องานวิจัย ) และนำเอาแนวทางผลิตบ่อน้ำเคลือบยางพารามาทดลองผลิต เนื่องจากวัตถุดิบสามารถหาได้ในพื้นที่ และประกอบกับการทำเกษตรกรรมในพื้นที่สูงจะประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ ซึ่งการทำบ่อน้ำเคลือบยางพารา จึงเป็นการตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีเกษตรกรให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก บ่อน้ำเคลือบยางพาราจึงเป็นตัวเลือกที่ดีให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ไว้ใช้ในการกักเก็บน้ำสำหรับทำการเกษตร

                   สำหรับบ่อน้ำเคลือบยางพารามีขนาดมาตรฐาน 4 x 2 เมตร สามารถทำได้ในรูปแบบยกลอย และแบบฝังดินโดยใน 1 บ่อ ใช้น้ำยางธรรมชาติปริมาณ 50 กิโลกรัม ประกอบกับสารเคมีตามสูตรที่กำหนดไว้ มีวัตถุดิบหลักคือ ผ้าดิบและน้ำยางพารา โดยบ่อน้ำยางพารามีคุณสมบัติที่โดดเด่นคือ สามารถกักเก็บน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตรและทำการประมง มีอายุยาวนานถึง 10 ปี และที่สำคัญเมื่อเกิดการชำรุดสามารถทำการซ่อมแซมให้กับมาคงทนเหมือนเดิมได้ซึ่งแตกต่างจากบ่อน้ำพลาสติกทั่วไป ปัจจุบันตนได้เริ่มผลิตบ่อน้ำมากว่า 2 ปีแล้ว โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อปีที่ผ่านมาคงเหลือสุทธิหลังจากหักต้นทุน อยู่ประมาณ 3 แสนบาท และแรงงานส่วนมากใช้แรงงานภายในครัวเรือนเป็นหลัก โดยปัจจุบัน มีหน่วยงานการยางแห่งประเทศไทย ( กยท. ) ได้เข้ามาดูแลให้ความรู้ในด้านการแปรรูป จัดอบรมหลักสูตรต่างๆ และยังช่วยเหลือสนับสนุนเงินทุนจำนวน 80,000 บาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิต

น.ส.นฤมล ปาณะที กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนขอเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรทั่วไปที่ประสบปัญหาด้านราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง และคอยแสวงหาความรู้หรือแนวทางใหม่ๆ มาพัฒนาอาชีพการทำเกษตรให้ยั่งยืน ต่อไป