พลังประชารัฐ พัฒนาข้าวไทย เปิดเวทีถกราคาข้าวไทย…ใครกำหนด ?
พลังประชารัฐ พัฒนาข้าวไทย เปิดเวทีถกราคาข้าวไทย…ใครกำหนด ?
การกำหนดมาตรการสินค้าเกษตร รวมทั้งมาตรการสินค้าข้าว เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาอย่างเป็นระบบ อันจะนำไปสู่เสถียรภาพด้านราคาและรายได้ที่แน่นอนคุ้มค่ากับการลงทุนของเกษตรกร ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้เสียที
กรมการค้าภายในจับมือสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จัดโครงการเสริมความรู้ ชี้แจงมาตรการข้าวของรัฐบาลแก่เกษตรกร ณ บ้านโป่งแดงใหม่ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นไปตามนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบประชารัฐ เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถด้านการผลิต การตลาด และการเงินของเกษตรกร รวมถึงการเรียนรู้ถึงกลไกตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมุ่งให้เกิดความตระหนักถึงการปรับตัวด้านการผลิตและการตลาดให้เหมาะสมกับสถานการณ์
“การเตรียมความพร้อมของเกษตรกรเพื่อรับปัญหาเรื่องการแข่งขันทางการค้าที่สูงขึ้นและตระหนักถึงความสำคัญของพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพและตรงความต้องการของตลาด เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองให้ได้รับความเป็นธรรมในการจำหน่ายข้าวเปลือก ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ”
บางช่วงบางตอนของ “สมชาติ สร้อยทอง” ที่ปรึกษางานการพาณิชย์ในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในเวทีเสวนา “ราคาข้าว…ใครกำหนด”
ขณะที่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า ภายใต้โครงการ ‘พลังประชารัฐ พัฒนาข้าวไทย’ ผู้บริหารกรมการค้าภายใน และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จะร่วมกันจัดคณะลงพื้นที่ตั้งแต่เดือนนี้ไปจนสิ้นเดือนกันยายน เพื่อพบปะผู้แทนเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จาก 30 จังหวัด รวม 8 ครั้ง เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจนโยบาย หลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ตลอดจนให้ความรู้เรื่องสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้าข้าว กลไกตลาดทั้งในและต่างประเทศ
“วันนี้ที่มาก็เพราะมีความรู้สึกว่า ที่ผ่านมานี้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยไม่ได้มีการติดต่อในระดับชาวนาเลย ที่ผ่านมาส่วนมากสมาคมจะซื้อข้าวผ่านโรงสี เพราะฉะนั้นเราจะติดต่อแต่โรงสี ไม่ได้ลงมาถึงระดับชาวบ้าน และเราก็อยากรู้ปัญหาของชาวบ้านจริงๆ ว่ามีอะไรบ้าง”
นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยยอมรับว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้วชาวนาปลูกข้าวอะไรก็ขายได้หมด เนื่องจากไม่มีคู่แข่ง แต่ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว ประเทศที่เคยซื้อข้าวจากไทยอย่างเวียดนาม อินเดีย หรือกัมพูชา กลับมาเป็นคู่แข่งกับไทย ปัจจุบันเวียดนามส่งออกข้าวเฉลี่ยปีละ 7 ล้านกว่าตัน ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านตันต่อปี ซึ่งมีปริมาณการส่งออกที่ใกล้เคียงกับไทย ในขณะที่กัมพูชาก็ปลูกข้าวหอมมะลิมีคุณภาพไม่ต่างจากหอมมะลิของไทย อีกทั้งยังปลูกข้าวเหนียวและข้าวขาวด้วย ซึ่งแต่ละปีกัมพูชาส่งออกประมาณล้านตัน มีปริมาณที่ใกล้เคียงกับไทย
“เมื่อก่อนเวียดนามยังต้องซื้อข้าวไทย อินเดียก็ยังไม่ได้ส่งออก เขมรตอนนั้นก็ยังรบกันอยู่ ลาวยังต้องซื้อข้าวไทยไปกิน แต่ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เวียดนามส่งข้าวไปปีละ 7 ล้านกว่าตัน ไทยส่งออกประมาณ 10 ล้าน เป็นคู่แข่งเราเลย เพราะข้าวที่เขาปลูกใกล้เคียงกับเรา เขมรก็เหมือนกัน เขาก็มีข้าวหอมมะลิ มีข้าวเหนียว มีข้าวขาว ปีหนึ่งเขาส่งออกไปประมาณล้านตันก็ใกล้เคียงเรา ลาวจากที่เมื่อก่อนเคยซื้อข้าวเราไปกิน แต่ทุกวันนี้ลาวก็ส่งออกแล้ว”
ร.ต.ท.เจริญยังแนะให้จับตาพม่าว่าเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหม่ที่น่ากลัวที่สุด เพราะมีปริมาณการส่งออกข้าวที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี และยังมีพื้นที่ปลูกข้าวมหาศาลในแถบลุ่มน้ำอิระวดี จะเห็นว่าทุกประเทศรอบบ้านเราล้วนแต่ส่งออกข้าวทั้งสิ้น แม้กระทั่งอินเดีย ซึ่งขณะนี้เป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก เฉลี่ยแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าประเทศไทย นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาแม้ว่าคนอเมริกันจะไม่นิยมบริโภคข้าว แต่ก็หันมาปลูกข้าวไว้สำหรับขายอย่างเดียว เพราะฉะนั้นการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทำให้วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวนาไทยก็ต้องเร่งปรับตัว
“วันนี้มาถามว่าใครเป็นคนกำหนดราคาข้าวส่งออก พูดง่ายๆ ก็คือความต้องการของตลาดโลก และการผลิตของเรามันต้องสมดุลกัน เมื่อไหร่ที่เรามีของเยอะเกินไปราคาก็ลง เมื่อไหร่ที่เรามีของน้อยราคามันก็ขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือทำอย่างไรให้ต้นทุนเราต่ำที่สุดและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก คือคุณภาพต้องดี การแข่งขันถึงจะได้ ไม่ใช่ทำแล้วขายราคาไหนก็ได้ ความคิดนี้ต้องเปลี่ยนไปแล้วในปัจจุบัน”
นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยยอมรับว่าตลาดข้าวขาวใหญ่ที่สุดของไทยตอนนี้อยู่ที่ประเทศจีน โดยจีนนำเข้าข้าวจากไทยเฉลี่ยปีละ 7 ล้านตัน โดยขนส่งผ่านทางเชียงของ ข้ามไปสปป.ลาวแล้วก็ข้ามไปยูนนาน ทางจีนตอนใต้ จีนต้องการข้าวพื้นนิ่มไม่ใช่พื้นแข็งอย่างที่เราทำตอนนี้ เมื่อไหร่ที่เราปลูกข้าวพื้นนิ่มได้จะทำให้ราคาดีขึ้น เขาก็จะซื้อราคาสูงขึ้น เพราะฉะนั้นทุกอย่างเราต้องมาปรับความเข้าใจกัน การปลูกข้าวต้องปลูกสิ่งที่คนต้องการจะซื้อ เราจะได้ราคาดี ถ้ายังปลูกตามใจเรา อยากจะปลูกข้าวอะไรก็ปลูกหาตลาดราคาข้าวก็จะตกต่ำ
ทางด้าน วิจักร วิเศษน้อย อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอดีตกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาราคาข้าวที่ผ่านมาเป็นการแก้ปัญหาแบบไทยๆ โดยไม่เป็นไปตามกลไกตลาด แต่รัฐบาลจะเข้ามาช่วยพยุงราคาข้าวผ่านโครงการรับจำนำ หลังช่วยชาวนาให้ขายข้าวได้ราคาสูงแล้วเมื่อนำมาผลิตข้าวถุงกลับจำหน่ายในราคาแพง ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอีก ทำให้รัฐจัดให้มีโครงการธงฟ้าจำหน่ายสินค้าในราคาถูก แต่ก็ช่วยได้เป็นครั้งคราวไม่มีความยั่งยืน
“ที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขปัญหาแบบไทยๆ เพราะเราไม่ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเอง จริงๆ แล้วเราข้าวเปลือกแพง ข้าวสารก็ต้องแพงด้วยใช่ไหม นี่คือสิ่งที่ประสบการณ์ของผมเห็นว่า เราแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน” วิจักรให้มุมมอง
เขาเล่าประสบการณ์เมื่อครั้งรั้งตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ต้องเดินทางไปเจรจาซื้อขายข้าวในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน อิรัก บังกลาเทศ และอีกหลายประเทศ โดยแจ้งเขาไปว่าช่วยซื้อข้าวในราคาสูงขึ้นหน่อย เนื่องจากรัฐบาลมีโครงการรับจำนำอยากช่วยเกษตรกรที่ยากจน ผู้ต้องการซื้อข้าวจากเราเขาก็ตอกหน้ากลับมาว่าก็ราคามีการกำหนดโดยตลาดอยู่แล้ว เขาซื้อตามราคาคนอื่นขาย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินเดีย หรือกัมพูชา เราก็เลยหน้าแตก เพราะเขารู้ว่าข้าวเรามีอยู่เต็มโกดัง ถ้าไม่รีบปล่อยออกไปก็จะเน่าเสีย เป็นระเบิดเวลาที่จะทำให้ราคาข้าวไทยตกต่ำลงไปเรื่อยๆ
“รัฐบาลอาจจะใช้กฎหมายบังคับได้บ้างไม่ได้บ้างไม่เป็นไร แต่ต่างประเทศระดับสากลไปบอกให้เขาซื้อราคานั้นราคานี้ ลืมไปได้เลย นี่คือสิ่งที่เกี่ยวกับเรื่องข้าวที่เราไม่สามารถจะไปกดดันราคาได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออก โรงสี เกษตรกร ผู้ซื้อต่างประเทศหรือแม้กระทั่งรัฐบาล ไม่มีใครอยู่ในเหนืออำนาจตลาดได้ ทุกคนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน” วิจักรย้ำทิ้งท้าย