ข่าว

 เปิด"ตลาดเพื่อเกษตรกร"อีกก้าวความสำเร็จ"สหกรณ์สบปราบ"  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิด"ตลาดเพื่อเกษตรกร"รองรับผลผลิต  อีกก้าวความสำเร็จ"สหกรณ์สบปราบ"  

                ความที่พื้นที่โดยรอบของอำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง โอบล้อมไปด้วยภูเขาสูง สภาพคล้ายแอ่งกระทะ และยังมีปล่องภูเขาไฟตั้งอยู่ระหว่างอำเภอสบปราบและเกาะคา ทำให้ดินที่นี่เป็นดินภูเขาไฟเก่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยแร่ธาตุ ชาวบ้านจึงทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก ทั้งทำนา ทำสวนและปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย เลี้ยงครั่งและปลูกต้นจามจุรี

 เปิด"ตลาดเพื่อเกษตรกร"อีกก้าวความสำเร็จ"สหกรณ์สบปราบ"  

               สหกรณ์การเกษตรสบปราบ จำกัด  เป็นองค์กรสำคัญที่ช่วยส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านในอำเภอสบปราบ  ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 48 ปีก่อน ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 4,000 คนส่งเสริมให้สมาชิกทำอาชีพที่ตนเองถนัด โดยรวมกันเป็น กลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มผู้ปลูกข้าว ทั้งข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอรี่ และข้าวอินทรีย์ กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัย มีทั้งผักสวนครัว พริก โหระพา กะเพรา มะเขือ ผักบุ้ง มะนาว ใบมะกรูด และผักตามฤดูกาล 

            โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว จะปลูกผักบร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ฮ่องเต้ และผักสลัด ซึ่งทุกแปลงได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว นอกจากนี้ยังส่งเสริมสมาชิกทำเกษตรผสมผสาน ใช้หลักทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการประกอบอาชีพ มีสมาชิก 300 ครอบครัวเข้าร่วมโรงการตั้งแต่ปี 2560 สหกรณ์ได้ช่วยขุดสระน้ำ เลี้ยงปลา โดยกรมประมงนำพันธุ์ปลานิล ปลาตะเพียนและปลาสร้อยมาแจกจ่ายให้สมาชิก ในพื้นที่การเกษตรมีทั้งทำนาข้าว ปลูกกล้วย ปลูกผักในพื้นที่เดียวกัน โดยสหกรณ์ได้ประสานหน่วยงานเข้ามาอบรม ตั้งแต่การดูแลดิน น้ำ การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา ทำให้ที่นี่มีอาหารอุดมสมบูรณ์เพียงพอสำหรับคนในชุมชน โดยผลผลิตเกืบอทั้งหมดส่งตลาดฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต(Farmer Market) ซึ่งสหกรณ์เป็นคนดูแล

 เปิด"ตลาดเพื่อเกษตรกร"อีกก้าวความสำเร็จ"สหกรณ์สบปราบ"  

             สมคิด อุ่นแก้ว ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรสบปราบ จำกัด เล่าถึงที่มาของ Farmer Market ว่าเป็นจุดรองรับสินค้าและผลผลิตของสมาชิก เมื่อสมาชิกเก็บผลผลิตในสวนในไร่ รวมถึงมีการแปรรูปสินค้าต่าง ๆ หรืองานหัตถกรรม ในครัวเรือน ก็สามารถนำมาฝากขายกับร้านสหกรณ์ได้ ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาอุดหนุนสินค้า Farmer Market มีทั้งสมาชิกสหกรณ์ ข้าราชการ ชาวบ้านพื้นที่รอบ ๆ สหกรณ์ และนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาจังหวัดลำปางต่างแวะเวียนมาเที่ยวชมและอุดหนุนสินค้าใน Farmer Market ของสหกรณ์

            “เราตั้งสหกรณ์มาเพื่อช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและสังคม มีบริการสมาชิกหลากหลายรูปแบบ ทั้งจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ตั้งแต่ปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยา เครื่องจักรกล ส่งเสริมทำการเกษตรครบวงจร ตั้งแต่เริ่มปลูก ดูแลแปลง เก็บเกี่ยวผลผลิต ไปจนถึงหาตลาดรองรับ เพราะอยากให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เมื่อสมาชิกมีปัญหา สหกรณ์จะเข้าไปช่วยเหลือและดูแลอาชีพให้ ทุกปีเมื่อถึงฤดูทำนา สมาชิกสามารถสั่งปุ๋ยจากสหกรณ์ไปลงทุนปลูกข้าวก่อน โดยไม่มีดอกเบี้ย และรอจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตค่อยนำเงินกลับมาคืนสหกรณ์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร"

             เธอแจงรายละเอียดอีกว่าหากสมาชิกคนไหนมีปัญหาเรื่องรายได้ ก็จะส่งเสริมอาชีพให้ปลูกผักเลี้ยงปลา เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว สหกรณ์จะช่วยรับซื้อผลผลิตของสมาชิก และนำมาวางขายที่ตลาดฟาร์มเมอร์มาเก็ตของสหกรณ์ ส่วนข้าวอินทรีย์ สหกรณ์จะแปรรูปและจำหน่ายตลาดในจังหวัดลำปางก่อน ซึ่งมีทั้งร้านค้าตามโรงพยาบาล สถานีตำรวจ เครือข่ายสหกรณ์ในอำเภอต่าง ๆ ของลำปาง และกระจายไปสู่พื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน อีกส่วนหนึ่งส่งขายในกรุงเทพฯ และมีภาคเอกชนติดต่อซื้อข้าวหอมมะลิแดงไปทำตลาดต่างประเทศเช่นส่งขายสิงคโปร์ ติดแบรนด์ของเขาเอง ส่วนข้าวกล่ำดอย จะขายส่งที่ตลาดไท 

                 ส่วนรายได้ของสมาชิกทนั้น ถ้าปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ จะมีรายได้ตั้งแต่ 300 – 1,000 บาทนั้น ซึ่งสหกรณ์จะส่งเสริมให้สมาชิกเก็บออม ทุกคนจะมีบัญชีเงินฝากของตัวเอง เมื่อขายผลผลิตได้จะนำเงินมาฝากไว้กับสหกรณ์ และส่วนหนึ่งจะนำไปใช้จ่าย ในครอบครัว ส่งลูกเรียนหนังสือและลงทุนประกอบอาชีพเพิ่มเติม ซึ่งสหกรณ์แห่งนี้ส่งเสริมการออมมานานเกือบ 20 ปี เพื่อให้สมาชิกวางแผนใช้จ่ายยามจำเป็นเดือดร้อนหรือเข้าสู่วัยชรา ทำให้สหกรณ์มีเงินรับฝากจากสมาชิกมากถึง 800 ล้านบาท

              ขณะที่สหกรณ์ปล่อยสินเชื่อให้สมาชิกกู้ยืมเพียง 350 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งสมาชิกจะขอกู้ได้สูงสุดไม่เกินรายละ 800,000 บาท สหกรณ์จะพิจารณาให้เงินกู้โดยดูความสามารถในการชำระหนี้ รายได้และหลักทรัพย์ค้ำประกันมาประกอบการอนุมัติเงินกู้ให้กับสมาชิกเพื่อป้องกันความเสี่ยง ส่วนการจัดสวัสดิการเพื่อดูแลสมาชิก มีให้ตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อสมาชิกคลอดบุตร สหกรณ์จะเปิดบัญชีให้คนละ 1,000 บาท และเมื่อประสบภัยธรรมชาติ จะได้รับเงินช่วยเหลือ สมาชิกที่อายุเกิน 65 ปี สหกรณ์จะไปเยี่ยมเยียนปีละ 1 ครั้งเมื่อถึงวันพ่อหรือวันแม่ และมอบของขวัญให้เป็นกำลังใจ และเมื่อเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือจากสมาคมฌาปนกิจของสหกรณ์คนละ 80,000 บาท เพื่อให้คนในครอบครัวไว้ใช้สำหรับจัดงานศพ

              “สหกรณ์มีการจัดชั้นสมาชิก เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกมีส่วนร่วมและใช้บริการกับสหกรณ์ในทุกด้าน ซึ่งชั้นของสมาชิกมีตั้งแต่ระดับชั้นที่ 1 – 4 ส่วนใหญ่สมาชิกจะอยู่ในชั้น 1 และ 2 เป็นสมาชิกที่มีส่วนร่วมมาทำธุรกิจสินเชื่อ ไม่มีหนี้ค้างชำระ สมาชิกที่ร่วมทำธุรกิจหรือใช้บริการกับสหกรณ์ ก็จะได้คะแนนเพิ่ม ใครมาซื้อของจากฟาร์มเมอร์มาเก็ต ก็จะได้รับปันผลเฉลี่ยคืน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้สมาชิกมีบทบาทในการดำเนินงานและมาใช้บริการกับสหกรณ์”

               สำหรับโครงการในอนาคต ผู้จัดการสหกรณ์คนเดิมบอกว่าจะส่งเสริมสมาชิกให้ปลูกบัตเตอร์นัท หรือฟักทองฝรั่ง เนื่องจากตลาดมีความต้องการ ซึ่งบริเวณด้านหลังสหกรณ์มีแปลงสาธิตทดลองปลูกฟักทองฝรั่ง ผักสลัด เลี้ยงแพะนม เพื่อให้สมาชิกได้เข้ามาเรียนรู้และนำไปประกอบอาชีพได้ ซึ่งสหกรณ์ไม่ได้หยุดนิ่งในการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและการตลาด ได้ร่วมกับ กรมการข้าว นำข้าวหอมมะลิแดงของสหกรณ์ไปทดลองแปรรูปเป็นไอศกรีม ซึ่งหากงานวิจัยนี้สำเร็จ สหกรณ์จะได้สูตรเพื่อทำไอศกรีมขาย

                นอกจากนี้ยังได้จับมือกับ ITAP และมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี สร้างมูลค่าสับปะรดและมะนาวโดยนำไปผลิตเป็นโลชั่นและครีมทาผิว เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สูงขึ้น นอกจากนั้น ยังมีการวิจัยเพื่อพัฒนาข้าวแต๋นน้ำแตงโม ซึ่งเป็นของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดลำปางที่นักท่องเที่ยวเลือกซื้อมากที่สุด ให้มีความอร่อยควบคู่กับการรักษาสุขภาพ โดยตั้งโจทย์ ให้ข้าวแต๋นมีความหวานแต่ไม่ต้องใส่น้ำตาลลงไป

                ทองอิน แก้วปัน สมาชิกสหกรณ์การเกษตรสบปราบ จำกัด เป็นสมาชิกสหกรณ์แห่งนี้มายาวนานนับสิบปี มีที่ดินทำนาปลูกข้าวเหนียวและข้าวเจ้าไว้กินในครอบครัว 5 ไร่ ได้ผลผลิตไร่ละ 400 - 500 กก.เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอ สำหรับการปลูกพืช ทำให้ผลผลิตข้าวได้ไม่ดีเท่าที่ควร ต่อมาสหกรณ์ได้แนะนำให้ทดลองปลูกผักสวนครัวผักพื้นบ้าน เพื่อสร้างรายได้ จึงเช่าที่กับสหกรณ์ 1 ไร่ ปีละ 1500 บาท ปลูกผักสวนครัว กะเพรา โหระพา พริก มะเขือ ส่วนหน้าหนาวปลูกกะหล่ำ และบร็อคโคลี่ 

                “แต่ละวันจะตัดผักส่งขายสหกรณ์ และพ่อค้าที่มารับซื้อถึงสวน มีรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 300 บาท ผักที่ขายดี คือ พริกขี้หนู กิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งการปลูกผักจะแบ่งพื้นที่ ช่วงไหนตลาดต้องการผักชนิดไหนก็จะปลูกตาม ที่ตลาดต้องการ อะไรขายดีก็ปลูกเยอะหน่อย เช่น พริกขี้หนู ผักแค ผักพื้นบ้านใบมะกรูด มะนาว กล้วย มะม่วง ในแปลงผักจะใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ เพราะสหกรณ์สอนทำปุ๋ยหมัก และได้เจ้าหน้าที่เกษตรเข้ามาแนะนำสมาชิกปลูกผักปลอดภัยไร้สารเคมี ทำให้ปลอดภัยทั้งคนปลูกและคนกิน และช่วงหน้าหนาวจะมีคนแวะมาท่องเที่ยว ถ่ายรูปและซื้อผักติดมือกลับไป”

         

       ทองอินยังได้เล่าถึงประโยชน์ของการเป็นสมาชิกสหกรณ์ว่าสหกรณ์ช่วยเหลือส่งเสริมอาชีพ เมื่ออยากจะลงทุนปลูกผักแต่ไม่มีที่ดิน สหกรณ์ก็ไปซื้อที่ให้ก่อนแล้วสมาชิกก็เข้ามาใช้ประโยชน์ และผ่อนชำระค่าที่กับสหกรณ์ 8 ปี เมื่อผ่อนชำระครบแล้วที่ดินนั้นก็จะโอนเป็นชื่อของสมาชิก สหกรณ์ยังได้ส่งเสริมให้มีวินัยทางการเงิน รู้จักเก็บออม มีเงินฝากกับสหกรณ์ และมีรายได้เลี้ยงครอบครัวและส่งลูกเรียนหนังสือด้วย ทุกครั้งที่มีการประชุมกลุ่มสมาชิกก็จะเข้าร่วมเพื่อจะได้ทราบถึงกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่สหกรณ์ทำ แวะเวียนไปซื้อสินค้าจากร้านสหกรณ์ และได้รับเงินปันผลเมื่อถึงสิ้นปี 

                นอกจากนี้ สหกรณ์ยังได้พาไปศึกษาดูงานเพื่อให้สมาชิกมีความรู้และได้รับประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ และสามารถนำมาใช้ในการประกอบอาชีพ ทุกอย่างที่ได้รับจากสหกรณ์ไม่สามารถประเมินค่าได้ มีเวลาได้ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว ได้ถ่ายทอดความรักความรู้สึกดีระหว่างกัน ได้อยู่กับบ้าน มีรายได้ทุกวัน รวมถึงยังได้กินอาหารที่ปลอดสารเคมีจากการปลูกเอง ทำให้ทุกคนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ