ข่าว

 "แทงหยวก"อีกงานช่างฝีมือคนลุ่มน้ำโขง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "แทงหยวก"อีกงานช่างฝีมือคนลุ่มน้ำโขง ช่างแทงหยวกมือรางวัล"นิตินัย เฉียงเหนือ"

            การแทงหยวกอีกหนึ่งศิลปะที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมสำคัญของคนลุ่มน้ำ โขง ซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นในพิธีกรรมงานบุญสำคัญๆ ทั้งงานมงคลและงานไม่เป็นมงคล ไม่ว่าจะเป็นงานแห่เทียน งานบวช งานบุญ และงานศพ

 "แทงหยวก"อีกงานช่างฝีมือคนลุ่มน้ำโขง

 

     หยวกคือลำต้นกล้วยที่ลอกออกมาเป็นกาบ หรือแกนอ่อนของลำต้นกล้วย มีสีขาว งานเเทงหยวกมักใช้หยวกหรือกาบกล้วยตานี เพราะมีสีขาวดีและเปลี่ยนสีไม่เร็วนัก ส่วนลวดลายแทงหยวกนิยมใช้ลายไทยโบราณเป็นลายมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นลายฟันหนึ่ง หมายถึงลายที่มีหนึ่งยอด เป็นงานเบื้องต้นที่ผู้เริ่มฝึกหัดแทงหยวกจะต้องฝึกฝนให้เกิดทักษะความชำนาญ ขนาดของฟันจะต้องเท่ากันทุกซี่ แทงเป็นเส้นตรงไม่คดโค้ง ฉลุให้เท่ากันทั้งสองด้าน

        เป็นลายที่เมื่อแทงและแยกลายออกจากกันแล้วนำไปใช้ได้ทั้งสองข้าง ลายฟันสาม หมายถึงลายที่มีสามยอด เมื่อแทงและแยกลายออกจากกันแล้วนำไปใช้ได้ทั้งสองข้างเช่นเดียวกับลายฟันหนึ่ง ลายฟันห้า หมายถึงลายที่มีห้ายอด มีความยากเนื่องจากต้องแทงถึงห้าหยักหรือห้ายอด หากไม่ชำนาญด้านซ้ายและด้านขวาจะมีขนาดไม่เท่ากัน และโดยเหตุที่ลายฟันห้าเป็นลายขนาดใหญ่ การแทงลายจึงต้องสอดไส้เพื่อให้ได้ลวดลายที่สวยงามเด่นชัดยิ่งขึ้น ลายฟันห้าเมื่อแทงและแยกลายออกจากกันแล้วสามารถนำไปใช้ได้ทั้งสองข้างเช่นเดียวกัน

 "แทงหยวก"อีกงานช่างฝีมือคนลุ่มน้ำโขง

              นอกจากนั้นยังมีลายน่องสิงห์หรือแข้งสิงห์ เป็นลายที่ประกอบส่วนที่เป็นเสาด้านซ้ายและด้านขวา จัดเป็นลายที่แทงยาก ในการฉลุลายน่องสิงห์เป็นการฉลุเพียงครั้งเดียว แต่เมื่อแยกออกจากกันจะได้ลายทั้งสองด้านซึ่งต้องเท่ากัน ลายหน้ากระดาน ใช้เป็นส่วนประกอบของแผงส่วนบน ส่วนกลางและส่วนฐาน ลายที่ใช้กันทั่วไปได้แก่ ลายรักร้อย ลายก้ามปู ลายเครือเถา ลายดอก ลายเสา เป็นลายที่มีความสำคัญเนื่องจากการแทงกระทำได้ยากเช่นเดียวกัน 

             งานส่วนนี้จะออกแบบลวดลายอย่างวิจิตรพิสดาร เพื่อแสดงฝีมือของช่างแต่ละคน ลายที่มักใช้ในการแทงลายเสา ได้แก่ ลายเครือเถา เช่น มะลิเลื้อย ลายกนก ลายรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ปลา นก ผีเสื้อ มังกร สัตว์หิมพานต์ ลายดอกไม้ ลายอักษร ลายสัตว์ 12 ราศี ลายกระจัง หรือลายบัวคว่ำ เป็นลายที่ใช้ประกอบกับลายฟันสามและลายฟันหนึ่ง นิยมใช้เป็นส่วนยอดและส่วนกลาง ไม่นิยมใช้เป็นส่วนฐาน มีหลายแบบ ได้แก่ กระจังรวน กระจังใบเทศ เป็นต้น

             สำหรับ นิตินัย เฉียงเหนือ ช่างแทงหยวกมือรางวัลวัย 41 ปี ที่ชนะเลิศการประกวดทำปราสาทผึ้งที่จะต้องใช้การแทงหยวกเป็นส่วนประกอบ บอกถึงการแทงหยวกของเขาว่า เริ่มทำมาตั้งแต่เด็ก โดยใช้วิธีครูพักลักจำ เนื่องจากไม่มีโรงเรียนไหนเปิดสอนการแทงหยวกต้องอาศัยจดจำจากช่างที่เขาชำนาญเท่านั้น โดยครอบครัวสืบเชื้อสายช่างแทงหยวกมาตั้งแต่รุ่นตา มาพ่อและมาถึงรุ่นของเขา และตัวเขาเองแทงหยวกมากว่า 25 ปีแล้ว

 "แทงหยวก"อีกงานช่างฝีมือคนลุ่มน้ำโขง

             แรก ๆ ที่ทำนิตินัยบอกว่า ไม่ได้ชำนาญเหมือนทุกวันนี้ เคยลองใช้มีดปลายแหลมแทงแล้วมีดบาดมือก็มี เพราะการแทงหยวกต้องอาศัยจังหวะ ความชำนาญ ทั้งลวดลายที่แทง หากไม่ชำนาญก็ไม่สามารถทำได้ แรกๆ ใช้วิธีฝึกวาดลวดลายบนกระดาษก่อน ก่อนจะจำลายได้และเอามาแทงบนหยวกกล้วยจนได้รับการยอมรับและขึ้นเวทีประกวดได้รางวัลมาครอง

              ช่างแทงหยวกนั้นไม่ได้มีเฉพาะที่ จ.หนองคาย แต่มีอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่จะถูกเรียกใช้ในงานบุญ งานประเพณีที่สำคัญๆ เพราะฉะนั้นทุกจังหวัดจะมีช่างแทงหยวกฝีมือดีอาศัยอยู่ แต่สำหรับนิตินัยถือเป็นช่างแทงหยวกมือรางวัลของเมืองหนองคายที่ชนะเลิศการประกวดแทงหยวกเพื่อทำปราสาทผึ้งมา 4 สมัยติดต่อกัน โดยมีเพื่อนๆ ช่วยในการประกอบต้นผึ้งซึ่งจะมีนิตินัยเป็นตัวหลักในการแทง 

               นิตินัยเล่าต่อว่า สำหรับการแทงหยวกนั้น จุดสำคัญที่ทำให้ช่างแต่ละคนเอาชนะกันได้คือลาย ลายที่ใช้นิตินัยบอกว่าเป็นลายลุ่มน้ำโขงที่รู้จักกันในหมู่ช่างฝีมือ ลายลุ่มน้ำโขงที่ว่าประกอบด้วย ลายดอกผักแว่น ลายกนก ลายเปลว ลายก้ามปู และอื่นๆ การแทงของช่างจะไม่มีการวาดภาพลงบนเปลือกกล้วยก่อนแต่จะใช้วิธีแทงไปตามจินตนาการและความเชี่ยวชาญของแต่ละคน ลวดลายที่แทงจะแสดงออกถึงงานนั้นๆ ว่าเป็นงานอะไรด้วย อย่างงานพระก็จะอีกลวดลายหนึ่ง งานโยมก็จะเป็นอีกลวดลายหนึ่ง โดยเฉพาะงานศพที่นิยมทำปราสาทผึ้งไปใช้ประกอบในงาน เพราะเชื่อว่าจะทำให้คนที่ตายไปแล้วได้มีปราสาทราชวังที่สวยงามอยู่ จึงทำปราสาทและติดผึ้งหรือเทียนเพื่อประดับตกแต่งและทำลวดลายให้สวยงาม  

               การฝึกฝนเริ่มต้นจากการแทงลายฟันปลาก่อน โดยมีลายฟันปลา 2 และ 3 จากนั้นค่อยประยุกต์เป็นลายอื่นๆ ซึ่งการทำปราสาทผึ้ง 1 หลังจะใช้เวลาทำทั้งการแทงหยวกและการประกอบตกแต่งประมาณ 3-4 ชั่วโมง

              การประกวดแทงหยวกเพื่อทำปราสาทผึ้งของจังหวัดหนองคาย จะทำกันในช่วงวันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 โดยแทงเพื่อโชว์ฝีมือช่างและแทงเพื่อบูชาแม่น้ำโขงสายน้ำแห่งชีวิตของคนในพื้นที่นี้ ในวันนี้จะมีช่างจากทั่วสารทิศมาลงชื่อเพื่อแข่งขันกัน แข่งขันเสร็จก็จะเอาปราสาทผึ้งไปบูชาแม่น้ำ บูชาพญานาค ตามความเชื่อพื้นถิ่น

                ปราสาทผึ้งที่ประกอบสำเร็จโดยใช้ศิลปะการแทงหยวก จะนำเอาปราสาทผึ้งที่ทำไปลอยในแม่น้ำโขง โดยมีไหใส่สิ่งของที่ต้องการ นอกจากนั้นยังมีเงิน ทอง ของใช้ ล่องไปในลำน้ำโขง หากปราสาทลอยไปอยู่หน้าบ้านใครคนนั้นก็เก็บเอาสิ่งของและปราสาทผึ้งไปบูชาและไปเป็นของตนเองได้ ซึ่งก่อนจะลอยปราสาทผึ้งนั้นคนที่ลอยจะต้องอธิษฐานจิต โดยส่วนใหญ่อธิษฐานขอให้ชีวิตอยู่ดีมีสุข สิ่งใดไม่ดีให้ลอยไปในแม่น้ำ เวลาลงเรือหาปลาอย่าให้เรือล่ม ให้ได้ปลาเยอะๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คนหาปลาหรือชาวประมงจะต้องทำตลอดเพื่อบูชาแม่น้ำและขอพรจากแม่น้ำด้วย

               เคล็ดลับสำคัญในการแทงหยวกคือ ต้นกล้วย ต้นกล้วยที่นำมาแทงช่างต้องไปเลือกเอง ไปตัดเอง เพราะหากได้ต้นกล้วยที่ไม่ถูกใจจะทำให้ช่างแทงไม่ได้ ลวดลายไม่สวยงาม และอารมณ์เสีย ทำให้ผลงานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร 

  

                สำหรับลายแทงหยวกลายฟันปลา ลายกนกและลายเปลว หรือเรียกรวมว่าลายลุ่มน้ำโขง โดยต้นกล้วยที่จะใช้แทงจะต้องเป็นต้นกล้วยตานีสดๆ ใหม่ๆ และพอแทงแล้วจะมีอายุใช้งานได้ประมาณ 2-3 วัน ไม่เช่นนั้นน้ำในต้นกล้วยจะออกทำให้กาบกล้วยหรือหยวกกล้วยเหี่ยว ส่วนราคานั้น ปราสาทผึ้งขนาด 7 ชั้น ราคา 2,000 บาท ใช้เวลาทำประมาณ 3 ชั่วโมง มีแรงงานช่วยกัน 3-4 คน ปราสาทผึ้ง 9 ชั้น ราคา 3,000 บาท ใช้เวลาทำ 4 ชั่วโมง ซึ่งทุกวันนี้ปราสาทผึ้งที่ทำสูงสุดคือ 9 ชั้นซึ่งเป็นเลขมงคล

               ช่างแทงหยวกมองว่าการแทงหยวกกับชีวิตคนลุ่มน้ำโขงมีความสัมพันธ์กัน เพราะแม่น้ำคือชีวิต ต้นกล้วยก็คือชีวิตเหมือนกัน ต้นกล้วยคือต้นไม้วิเศษที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ใบ ลำต้น ผล หน่อ ปลี ลูก คล้ายคลึงกับแม่น้ำที่เหมือนอู่ข้าวอู่น้ำ และเป็นชีวิตของคนในแถบลุ่มน้ำโขงนี้ การใช้ต้นกล้วยบูชาแม่น้ำเสมือนนำเอาสิ่งดีๆ มาสู่ครอบครัว มาสู่ชีวิตของคนในลุ่มน้ำแห่งนี้

                ใครสนใจอยากจะติดต่อช่างแทงหยวกเพื่อนำเอาไปประกอบพิธีสำคัญ ติดต่อได้ที่ นิตินัย เฉียงเหนือ บ้านเลขที่ 55 คุ้มยอดแก้ว ซอย 3 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.หนองคาย

               สอบถามรายละเอียดได้ที่ 08-7944-9502

                          

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ