ข่าว

 จาก"เกษตร"ถึงพาณิชย์ "ตลาดนำการผลิต"ในอุ้งมือประชาธิปัตย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 จาก"เกษตร"ถึงพาณิชย์ "ตลาดนำการผลิต"ในอุ้งมือประชาธิปัตย์

               เรียบร้อยโรงเรียนบิ๊กตู่ไปแล้วสำหรับหน้าตาคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้เห็นโฉมหน้ารัฐมนตรีที่หลายคนเฝ้ารอ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คราวนี้มีรัฐมนตรีถึง 4 คน รัฐมนตรีว่าการ 1 รัฐมนตรีช่วยว่าการ 3 มากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ตั้งกระทรววงพญานาค ทว่าจำนวนรัฐมนตรีไม่ได้การันตีถึงความสำเร็จ หากการดำเนินนโยบายไม่ไปในทิศทางเดียวกันในระดับฐานราก

            แต่หากมองในระดับภาพรวมของประเทศ การที่เจ้ากระทรวงมาจากพรรคการเมืองเดียวกัน ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ การทำงานย่อมลื่นไหลมากกว่า โดยเฉพาะ “ภาคการผลิต” ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ และ “การตลาด” อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ ยิ่งถ้าดูจากรายชื่อผู้ที่รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการเป็นถึงระดับหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคด้วยแล้ว ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้ “ประชาธิปัตย์" เอาจริง

            “รัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์มีความตั้งใจมากที่เข้ามาดูแลแก้ปัญหาให้แก่พี่น้องเกษตรกร และรู้ดีว่าจุดบอดของภาคการเกษตรบ้านเราคือการตลาด หัวหน้าพรรค ท่านจุรินทร์ (ลักษณวิศิษฏ์) อยากจะเข้ามาดูเรื่องนี้เอง ส่วนเกษตรก็ให้เลขาธิการพรรคมาดู คิดว่าประมาณ 3-6 เดือนก็น่าจะเห็นหน้าเห็นหลัง”

                แหล่งข่าวระดับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์วิเคราะห์ให้ “คม ชัด ลึก” ฟังถึงการเข้ามาดูแลสองกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรโดยตรง พร้อมฟันธงว่าเป็นทางเดียวที่พรรคจะได้คะแนนนิยมจากประชาชนกลับคืนฟื้นมาอีกครั้ง หากทำผลงานได้สำเร็จตามนโยบายที่วางไว้

              ขณะเดียวกันนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” จากรัฐบาลประยุทธ์ 1 สู่รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 น่าจะชัดเจนเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในขณะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายต่างมองเป็นโอกาสของภาคการเกษตรไทยจะได้รับการดูแลแก้ไขอย่างจริงจัง 

             “เป็นเรื่องที่ดีนะ การทำงานจะได้มีการประสานกันมากขึ้น ลดโอกาสการโต้แย้งหรือปัญหาที่ไม่สอดคล้องกันในทางนโยบาย ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งต่อภาคการผลิตที่เป็นต้นน้ำและภาคการส่งออกที่อยู่ปลายน้ำจะได้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน”

               วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ในฐานะผู้ประกอบการส่งออกเผยในประเด็นดังกล่าว โดยมองว่าที่ผ่านมาการดำเนินการด้านนโยบายของกระทรวงเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ทำให้การแก้ปัญหาอาจจะไม่ตรงจุดเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นการมีรัฐมนตรีว่าการของสองกระทรวงนี้มาจากพรรคเดียวการทำงานน่าจะราบรื่นมากขึ้น ยิ่งคนระดับเบอร์หนึ่งและเบอร์สองมาดูเองทำให้ความมั่นใจของผู้ประกอบการมีมากขึ้นด้วย

              ในขณะภาคการผลิต แกนนำชาวสวนยางอย่าง “อุทัย สอนหลักทรัพย์” ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย(สคยท.) กล่าวเห็นด้วยที่กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์มีเจ้ากระทรวงมาจากพรรคเดียวกัน ทำให้การทำงานราบรื่นมากกว่ารัฐมนตรีที่มาจากต่างพรรค ส่วนนโยบายการแก้ปัญหาภาคเกษตรด้วยการประกันราคาพืชผลนั้น อุทัยมองว่าควรจะเป็นการนำมาใช้แค่ชั่วครั้งชั่วคราว ใช้ตลอดไม่ได้ เพราะต้องใช้งบประมาณมาก แต่ควรเน้นให้เกษตรกรหันมาพึ่งตัวเองมากกว่า

             “อยากฝากรัฐบาลใหม่และกระทรวงเกษตรฯ เกีี่ยวกับเงินเซส ที่เกษตรกรชาวสวนยางจ่ายกิโลละ 2 บาทนั้น ควรคืนให้เกษตรกร 90% ส่วนอีก 10% นำไปใช้ในงานวิจัย เงินที่คืนให้เกษตรกรเอาไปใช้อะไร นโยบายรัฐบาลให้โค่นยางปีละ 4 แสนไร่ รัฐบาลจ่ายชดเชยให้ไร่ละ 1.6 หมื่นบาท แล้วจ่ายเงินเซสเพิ่มให้คนละ 4,000 บาท เพื่อนำไปใช้ขุดบ่อน้ำทำเกษตรพอเพียง แค่นี้เกษตรกรก็อยู่ได้ เขามีกินไม่ต้องไปหวังพึ่งราคายาง”

             นอกจากนี้ อุทัยยังเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการบังคับในการปลูกพืชร่วมยางและปลูกพืชแซมยางเพื่อเกษตรกรจะได้มีรายได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องหวังพึ่งรายได้จากยางพาราอย่างเดียว ขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องหันมาส่งเสริมในการแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางพาราภายในประเทศมากขึ้นแทนการส่งออก เพราะถ้าหากมีการแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางภายในประเทศมากขึ้น ก็จะทำให้ราคายางในตลาดโลกก็จะปรับขึ้นตามไปด้วย

            “วันนี้ถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพารา เพราะราคายางพาราถูก เมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ก็จะทำให้มีกำไรมากขึ้น รัฐบาลก็ถือโอกาสในช่วงนี้ส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางพารา เห็นด้วยอยางยิ่งที่ท่านนายกฯ ทุ่มงบประมาณในการทำถนนลาดยางพาราในกองทัพ ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เราก็ไม่ต้องเป็นห่วงชาวสวนยางพาราอีกต่อไป เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด” ประธานสคยท.กล่าวและว่า

            ถ้าเป็นไปได้อยากให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มากำกับดูแลกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย เพราะเป็นส่วนกลางน้ำ จะทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เฉพาะยางพาราเท่านั้น แต่จะแก้ปัญหาพืชเกษตรทุกชนิดได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

          ขณะที่ เปรม ณ สงขลา บรรณาธิการวารสารเคหเกษตรและเจ้าของสวนเคหเกษตร ใน อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เห็นด้วยที่สองกระทรวงนี้มีรัฐมนตรีมาจากพรรคเดียวกัน เพราะจะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปอย่างราบรื่น ลดปัญหาการเห็นต่างลง แต่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ไม่อาจคาดเดา เพราะปัญหาใหญ่อยู่ที่ระบบโครงสร้างราชการที่ยังไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

              “อย่างกระทรวงพาณิชย์ก็มีทูตพาณิชย์ประจำอยู่ตามประเทศต่างๆ เขาก็เข้มแข็งมากนะ ผมเพิ่งกลับจากจีนไปเจอทูตพาณิชย์ไทยที่จีน เขาพร้อมมาก เสาร์อาทิตย์ปกติวันหยุดก็ยังทำงานกัน ซึ่งถ้าเราใช้กลไกตรงนี้เป็นแกนหลักในการหาตลาดก็จะช่วยได้มาก พาณิชย์ไม่น่าห่วง ผมว่าเกษตรน่าห่วงกว่า จะทำอย่างไรที่จะทลายกำแพงระบบโครงสร้างที่ไม่เอื้อต่อการทำงานและระบบราชการที่ฝังลึกมานาน”

           ส่วน ดร.ดำรงศักดิ์ แก้ววงษ์ไหม หรือที่รู้จักในนามอาจารย์ทองก้อน เจ้าของ “ไร่ทองก้อน” ใน ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และแกนนำเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังใน จ.นครราชสีมา มองว่าไม่น่าจะมีผลอะไรมากมายนัก เนื่องจากทุกพรรคจะต้องทำงานตามนโยบายรัฐบาลอยู่แล้ว แต่จะมีข้อดีอยู่อย่างเดียวก็คือปัญหาเดือดร้อนของเกษตรกรจะมีการตอบสนองจากรัฐบาลได้เร็วขึ้น เนื่องจากปัญหาต่างๆ ได้รับการร้องเรียนโดยผ่าน ส.ส.ในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลคสช.ไม่สามารถดำเนินการ เพราะไม่มีตัวแทนพี่น้องเกษตรกร เมื่อมีปัญหามีทางออกเดียวคือร้องไปที่ศูนย์ดำรงธรรมประจำอำเภอ ซึ่งปัญหาอาจจะไม่ได้รับการแก้ไขในทันท่วงที

             “ผมไม่ได้มองว่ามาจากพรรคเดียวหรือต่างพรรค แต่มองว่ารัฐมนตรีเข้าใจรากเหง้าของปัญหาแค่ไหนมากกว่า อย่างวันนี้ที่โคราชพืชเกษตรเจอโรคระบาดหมด ไม่ว่าหนอนกระทู้ลายจุดในข้าวโพด หรือไวรัสใบด่างในมันสำปะหลัง อย่าว่าแต่ชาวบ้านเลย เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ มันเรื่องใหญ่มากตอนนี้เกษตรกรจะตายกันหมดแล้ว ไม่เห็นรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลืออะไรออกมาเลย” อาจารย์ทองก้อนกล่าว

            ดร.ดำรงศักดิ์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาดูแลปัญหาภาคการเกษตรอย่างจริงจังมากกว่านี้ โดยเจาะให้ถึงแก่นของปัญหาในแต่ละพืช ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบเหมารวม เนื่องจากแต่ละพืชมีปัญหาที่แตกต่างกัน  พร้อมเสนอแนวทางไม่ควรยึดรูปแบบเดิมๆ ในการปลูกพืช แต่ควรสำรวจความต้องการของตลาดโลกแล้วจึงนำมาส่งเสริมเกษตรกรต่อไป

             “คนเราต้องการอาหารหลัก 5 หมู่ พืชก็เหมือนกัน ทำไมเราไม่แบ่งเป็น 5 หมู่ อย่างเช่น ข้าวโพด มันสำปะหลังเจอโรคระบาดหนัก แก้ยาก เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทนได้หรือไม่ที่ให้แป้งและน้ำตาลเหมือนกัน เช่นปลูกข้าวฟ่าง หรือมันฝรั่ง บ้านเราเป็นเมืองร้อนชื้นปลูกพืชได้เกือบทุกชนิด เว้นพืชเมืองหนาว อย่างจีนเมื่อก่อนเขาต้องนำเข้าแอปเปิ้ล แต่ตอนนี้เขากลับส่งออกแอปเปิ้ลแล้ว” อาจารย์ทองก้อนเผย พร้อมยืนยันว่าตนเองเดินทางมาแล้วเกือบทั่วโลก ไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่เพาะปลูกพืชเกษตรได้ดีเท่ากับประเทศไทย   

     

         ด้าน สุนทร รักษ์รงค์ หนึ่งในทีมงานด้านนโยบายภาคเกษตร  พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยอมรับว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาดูสองกระทรวงนี้เป็นไปตามนโยบายของพรรคที่มีสโลแกน “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ” ซึ่งทุกกระทรวงที่อยู่ในความรับผิดชอบของพรรคประชาธิปัตย์จะเกี่ยวข้องกับสโลแกนนี้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความยากจนของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งมีกลไกหลักอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์บางส่วน อย่างเช่น ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่มุ่งแก้ปัญหาเรื่องคนและการพัฒนาคน ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อตกลงในการเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้ด้วย

              “เป็นความตั้งใจของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้วที่เข้ามาดูสองกระทรวงนี้ ส่วนการที่หัวหน้าพรรคและเลขาฯ นั่งเอง ส่วนหนึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่รัฐบาลและพี่น้องเกษตรกรว่าจะได้รับการดูแลแก้ไขอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการนำนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรมาใช้จะสามารถบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาราคาตกต่ำเฉพาะหน้าได้ แต่ระยะยาวทำอย่างไรให้พี่น้องเกษตรกรยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง" สุนทรกล่าวย้ำทิ้งท้าย 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ