ข่าว

 เปิดวิธีปราบ"หนอนกระทู้ลายจุด"ข้าวโพด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดวิธีปราบ"หนอนกระทู้ลายจุด"ข้าวโพด กำจัดด้วย"ชีววิธี-สารบีที"ทำลายไข่ผีเสื้อ     

              เหมือนสวรรค์มาโปรดเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ภาคตะวันตก โดยเฉพาะ จ.กาญจนบุรี ถือเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดใหญ่ที่สุดใน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวานและข้าวโพดฝักอ่อนที่ต้องเจอหนอนกระทู้ลายจุดระบาดมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เช่นเดียวกับหลายจังหวัดที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ในที่สุดก็เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช  จ.สุพรรณบุรี สังกัดสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 ราชบุรี กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเจ้าหน้าที่มาให้คำปรึกษาแนะนำการป้องกันและกำจัด โดยใช้วิธีแบบผสมผสาน โดยใช้สารเคมีร่วมกับชีวภัณฑ์หรือบีที ด้วยการฉีดพ่นทำลายตั้งแต่ระยะเริ่มหยอดเมล็ดข้าวโพดลงหลุมจนกระทั่งใกล้เก็บเกี่ยว

 เปิดวิธีปราบ"หนอนกระทู้ลายจุด"ข้าวโพด

สมคิด เฉลิมเกียรติ(ซ้ายสุด)อธิบายการทำลายข้าวโพดของหนอนกระทู้ลายจุด

 

            “ในกรณีการควบคุมหนอนกระทู้ลายจุดในข้าวโพดในพื้นที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 เราเน้นในเรื่องของการป้องกันและการกำจัดโดยวิธีผสมผสาน นั่นหมายความว่าพี่น้องเกษตรกรเองจะต้องเริ่มดูแลตั้งแต่หยอดเมล็ดข้าวโพด พอข้าวโพดเริ่มงอก 5-7 วันขึ้นไปก็จะต้องลงสำรวจในแปลงของตัวเองในพื้นที่ 1 ไร่อย่างน้อยต้องเดินให้ได้ 10 จุดโดยจะต้องพลิกใบข้าวโพดมาดูว่ามีกลุ่มไข่ของแมลงผีเสื้อหรือไม่ สมมุติว่าถ้าเราเดิน 10 จุดเจอกลุ่มไข่มากกว่า 5 จุดถ้าปล่อยไว้ก็อันตรายแล้ว”

 เปิดวิธีปราบ"หนอนกระทู้ลายจุด"ข้าวโพด

           สมคิด เฉลิมเกียรติ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จ.สุพรรณบุรี เผยกับ “คม ชัด ลึก” ถึงวิธีการควบคุมหนอนกระทู้ลายจุดในข้าวโพดและแจงรายละเอียดต่อว่ากลุ่มไข่แมลงผีเสื้อส่วนใหญ่ที่เจอในข้าวโพดระยะนี้จะเป็นตัวหนอนก็จะแนะนำให้ใช้แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมม่า หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "แตนตาแดง” เป็นแมลงขนาดเล็กประมาณ 0.2-0.4 มม. โดยติดบริเวณใต้ใบของข้าวโพดประมาณ 10 แผ่น แผ่นละประมาณ 2 หมื่นตัว ในขณะเดียวกันก็สามารถปล่อยแมลงหางหนีบลงควบคู่กันไปด้วยเพื่อทำลายไข่แมลงผีเสื้อ  

           “แมลงหางหนีบนอกจากจะทำลายไข่แมลงผีเสื้อแล้วยังสามารถกินหนอนในวัยระยะแรกๆ ได้อีกด้วย ซึ่งก็จะลดจำนวนประชากรหนอนกระทู้ลายจุดตรงนี้ได้ แต่ถ้าข้าวโพดอายุตั้งแต่ 20 วันขึ้นไป บังเอิญเกษตรกรไปพบตัวหนอนทำลายบริเวณยอดข้าวโพดแต่การทำงานอาจไม่ถึง 10% พี่น้องเกษตรกรไม่ต้องการใช้สารเคมีสามารถใช้เชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่าบาซิลลัส ธูริงเจนซิส หรือเชื้อบีทีสำเร็จรูปฉีดพ่นก็ได้”

            สมคิด แจงต่อว่า สำหรับวิธีการฉีดพ่นให้ได้ผลนั้นจะต้องฉีดจ่อบริเวณส่วนยอดของข้าวโพดที่มีระยะปลูก 20 วันขึ้นไป โดยใช้หัวฉีดที่มีลักษณะเป็นรูปพัดหรือรูปกรวยเท่านั้นจึงสามารถควบคุมได้ เพราะฉะนั้นหลังการฉีดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อบีทีไปแล้วประมาณ 2-3 วัน จะสังเกตว่าหนอนส่วนใหญ่จะตาย แต่ยังสำรวจพบกลุ่มไข่แมลงผีเสื้อหรือพบตัวหนอนวัยแรกๆ ก็สามารถปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมม่าในอัตราเดิมหรือแมลงหางหนีบในอัตราเดิมควบคุมอีกครั้งหนึ่งจะสามารถยับยั้งการระบาดของหนอนกระทู้ลายจุดได้

              “ในกรณีที่บางพื้นที่มีการระบาดเกิน 20% และบริเวณยอดข้าวโพดถูกทำลายไปมากกว่า 20% ของพื้นที่ปลูก แบบนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่รุนแรง จึงจำเป็นต้องใช้สารเคมี ซึ่งเราได้เน้นย้ำกับพี่น้องเกษตรกรว่าจะต้องใช้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น แล้วก็ต้องใช้หัวฉีดให้ถูกวิธีเป็นหัวฉีดรูปพัดหรือรูปกรวยและต้องฉีดจ่อที่ยอดอย่างเดียวเท่าานั้นจึงสามารถควบคุมได้”

            สมคิด ย้ำว่าหากฉีดไปแล้วพบว่ามีการระบาดลดลง แต่ยังตรวจพบหนอนวัยแรกๆ และไข่ผีเสื้อ ก็ให้จะปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมม่าควบคุมอีกครั้งก็ได้ แต่ต้องใช้หลังฉีดสารเคมีไปแล้ว ประมาณ 7-10 วันเป็นอย่างน้อยจึงจะสามารถควบคุมการระบาดและลดการทำลายของหนอนกระทู้ลายจุดในข้าวโพดได้ อย่างไรก็ตามหลังมีการแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ณ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนในตำบลพระแท่น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ปรากฏว่าสามารถลดการระบาดของหนอนกระทู้ลายจุดในข้าวโพดได้สำเร็จ 

              “เกษตรกรเขาเห็นแล้วว่าจากการใช้วิธีผสมผสานทั้งการใช้สารเคมี ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมม่าและแมลงหางหนีบสามารถช่วยได้จริงๆ ซึ่งเกษตรกรขอให้ผลิตแมลงหางหนีบเพื่อไปใช้ในแปลงเพิ่ม ทางศูนย์เองก็ให้การสนับสนุนพ่อแม่พันธุ์แมลงหางหนีบเพื่อให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงอีกทีหนึ่ง ถ้าเลี้ยงได้มากปล่อยได้มากโอกาสจะได้ผลผลิตข้าวโพดก็จะมากขึ้น” ผอ.ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จ.สุพรรณบุรี กล่าวยืนยัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า

               การระบาดของหนอนกระทู้ลายจุดในข้าวโพดจะเริ่มระบาดในช่วงหน้าหนาวและจะทวีความรุนแรงในหน้าร้อน ส่วนหน้าฝนกลับมีน้อย ขณะเดียวกันแปลงปลูกข้าวโพดที่ใช้สปริงเกอร์ในการรดน้ำกลับมีการระบาดของหนอนชนิดนี้น้อยกว่าแปลงปลูกที่ให้น้ำผ่านร่องน้ำในแปลง  ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าน้ำจากสปริงเกอร์ที่รดลงมาส่วนยอดจะช่วยทำลายไข่แมลงผีเสื้อและตัวหนอนที่ซ่อนฝังตัวอยู่ในส่วนยอดของข้าวโพด ซึ่งวิธีการนี้อยู่ระหว่างการวิจัยในแปลงทดลอง

                 “เคยตั้งข้อสังเกตอยู่เหมือนกันว่าทำไมแปลงข้าวโพดที่ใช้สปริงเกอร์รดน้ำมีการระบาดน้อยกว่าหรือเกือบจะไม่มีหนอนกระทู้ลายจุดเลยเมื่อเทียบกับแปลงที่ปล่อยน้ำลงตามร่องแปลง ก็อาจเป็นไปได้ว่าน้ำจากสปริงเกอร์ที่รดลงส่วนยอดจะไปทำลายไข่แมลงผีเสื้อและตัวหนอนที่ฝังตัวอยู่ในส่วนยอดได้ แต่วิธีการนี้ยังไม่ยืนยันชัดเจน ยังอยู่ในระหว่างการทำวิจัยในแปลงทดลอง” สมคิดเผยและยอมรับว่าการให้น้ำตามร่องจะลดปริมาณการเจริญเติบของวัชพืชในแปลงข้าวโพดได้มากกว่าการให้น้ำทางสปริงเกอร์  

                สมชาย อาจปักษา ผู้ใหญ้บ้านในตำบลพระแท่น อ.ท่ามะกา ในฐานะเกษตรกรแกนนำในการใช้วิธีผสมผสานในการกำจัดหนอนกระทู้ลายจุดในข้าวโพดจนประสบความสำเร็จกล่าวยอมรับว่า มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดฝักอ่อนประมาณ 10 ไร่เศษ หลังจากเจอปัญหาหนอนกระทู้ลายจุดระบาดเมื่อปลายปีที่แล้วระยะแรกๆ ก็หาวิธีการแก้ปัญหาเองโดยใช้สารเคมีฉีดพ่น แม้จะลดการระบาดได้ระยะหนึ่ง แต่หลังจากนั้นกลับทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซ้ำร้ายกว่านั้นทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นค่า ใช้จ่ายส่วนใหญ่หมดไปกับสารเคมีปราบศัตรูพืช

               “ตัวผมเองก็เป็นเกษตรกรทำไร่ข้าวโพดฝักอ่อนประมาณ 10 ไร่เศษ  ลูกบ้านมีประมาณ 100 กว่าราย ก็ทำไร่ข้าวโพดกว่าครึ่ง ช่วงแรกๆ ที่ประสบปัญหาหนอนกระทุ้งระบาดไม่รู้จะทำอย่างไรหันมาแก้ปัญหากันเองโดยใช้สารเคมีฉีดพ่น แต่การระบาดกลับยิ่งรุนแรงกว่าเดิม ช่วงหลังมีเกษตรอำเภอท่ามะกาเข้ามา มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์เทคโนโลยีด้านาอารักขาพืช จ.สุพรรณบุรี ให้คำแนะนำให้ใช้แตนเบียนตาแดงปรากฏว่าได้ผล จากที่เคยสารเคมีที่มีต้นทุนสูงจึงหันมาใช้แตนเบียน ทำให้ต้นทุนลดลง” ผู้ใหญ่บ้านคนเดิมกล่าว 

 

                               

 แนะงดใช้สารเคมีเสี่ยงสารตกค้างในผลผลิต

               อาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 หรือ สสก.ที่ 2 จ.ราชบุรี กล่าวถึงการสถานการณ์การระบาดของหนอนกระทู้ลายจุดในข้าวโพดในพื้นที่จ.กาญจนบุรี ว่า จ.กาญจนบุรี เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดฝักอ่อนมากที่สุดในประเทศไทย โดยผลผลิตส่วนใหญ่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศและยังมีอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับข้าวโพด ได้แก่ อาชีพเลี้ยงโค ซึ่งมีทั้งโคเนื้อและโคนม โดยหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยวฝักข้าวโพดแล้วส่วนของลำต้นก็จะนำไปใช้เป็นอาหาร หากการแก้ปัญหาไม่ถูกวิธีหรือใช้สารเคมีเกินค่ามาตรฐานก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและอาจมีสารตกค้างในโคได้

              “โซนภาคตะวันตกมีการปลูกข้าวโพดอยู่ 3 ชนิด คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโดพฝักอ่อนและข้าวโพดฝักสด  แต่ที่เรามุ่งเน้นมาที่ จ.กาญจนบุรี ก็เพราะเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดฝักอ่อนมากที่สุดในประเทศไทย ผลผลิตจากตรงนี้ส่งไปขายต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่แล้วก็มีต่อเนื่องโดยนำเอาต้นข้าวโพดไปเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านที่นี่เลี้ยงวัวกันเกือบทุกครัวเรือนโดยเฉพาะอำเภอท่ามะกาและท่าม่วงเป็นแหล่งปลูกทีี่ใหญ่ที่สุด”

             อาชว์ชัยชาญ กล่าวยอมรับว่า หลังจากทราบการระบาดเมื่อปลายปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ โดยระยะแรกที่เข้ามาสำรวจตรวจสอบเกษตรกรตระหนกตกใจพอสมควร เนื่องจากไม่เคยพบการระบาดในพื้นที่แห่งนี้มาก่อน จากนั้นจึงประสานไปยังศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จ.สุพรรณบุรี และกรมวิชาการเกษตรลงมาในพื้นที่ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอเพื่อมาดูว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง 

              “พอเรามาดูแลก็พบปัญหาประการแรก ถ้าหากเกษตรกรตรวจพบการระบาดแล้วใช้สารเคมีและวิธีการใช้ไม่ถูกต้องก็จะส่งผลกระทบในระยะยาว เพราะข้าวโพดที่นี่ส่วนใหญ่มีการส่งออกแล้วก็ต้นข้าวโพดก็นำไปเลี้ยงสัตว์ไปเป็นอาหารโคก็จะมีสารตกค้างในสัตว์ด้วย เพราะฉะนั้นจุดนี้จึงเป็นจุดที่สำคัญมาก”

               ผอ.สสก.ที่ 2 ราชบุรี เผยต่อว่า ประการต่อมาเราพบอีกว่าการปลูกข้าวโพดที่นี่โดยเฉพาะข้าวโพดฝักอ่อนจะปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี เพราะต้องใช้ต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งปี เพราะฉะนั้นจะไม่สามารถตัดทำลายวงจรของหนอนได้เนื่องจากพื้นที่มีการปลูกข้าวโพดตลอดเวลา การแก้ปัญหาจึงต้องให้ตรงจุดและเด็ดขาดตามหลักวิชาการ โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

            “ขณะนี้เราแน่ใจและมั่นใจว่าสามารถระงับยับยั้งการระบาดของหนอนกระทู้ลายจุดในข้าวโพดตัวนี้ในระดับที่ไม่ทำความเสียหายผลผลิตข้าวโพดได้แล้ว เราเชื่อมั่นในหลักการที่เราได้แนะนำเกษตรกร ส่วนการแก้ปัญหายย่างต่อเนื่องเราต้องยอมรับว่าการที่จะทำงานให้ประสบผลสำเร็จได้อยู่ที่หลายภาคส่วนมาช่วยกันทั้งตัวเกษตรกรเองกว่าจะยอมรับในเทคโนโลยี หรือหลักวิชาการที่เราเข้าไปแนะนำก็ใช้เวลาพอสมควรกว่าเขาจะมั่นใจและนำไปปฏิบัติได้ อันนี้คือหัวใจหลักสำคัญ นอกจากนี้ก็มีองค์กรท้องถิ่นต่างๆ  ไม่ว่าผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกอบต. รวมทั้งภาคราชการทั้งหลายมีส่วนในการสนับนสนุน  ถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งผมว่ายังไงก็ไม่สำเร็จ” อาชว์ชัยชาญ ย้ำทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ