ข่าว

รมช.เกษตรฯหนุน"สหกรณ์"ผลิต"กรวยยาง-แบริเออร์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 หนุน"สหกรณ์"เพิ่มมูลค่ายางพาราผนึกคมนาคมผลิต"กรวยยาง-แบริเออร์"

            การลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างประกอบด้วย พัทลุง สตูลและสงขลาช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์"มนัญญา ไทยเศรษฐ์"และคณะเพื่อตรวจราชการในพื้นที่และติดตามการดำเนินงานตามงานกระทรวงเกษตรฯในการพัฒนาสหกรณ์ และใช้ขบวนการสหกรณ์ช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มมูลค่ายางพาราในการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร ภายใต้นโยบายรัฐบาล“ตลาดนำการเกษตร” 

  รมช.เกษตรฯหนุน"สหกรณ์"ผลิต"กรวยยาง-แบริเออร์"

        การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้ตรวจเยี่ยมการดำไเนินการของสหกรณ์ในหลายจุด เริ่มจากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพสหกรณ์บ้านพังดาน ต.นาขยาด อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งได้ดำเนินการแปรรูปน้ำยางสดเป็นผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าในชว่งที่ราคายางตกต่ำ โดยปัจจุบันสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จนเป็นที่ยอมรับของตลาดทัง้ในและต่างประเทศ ส่งออกไปยังประเทศจีนปีละไม่ต่ำกว่า 4 พันใบ 

         จากนั้นได้เยี่ยมชมความก้าวหน้าในการดำเนินธุรกิจรวบรวมยางแผ่นรมควันและการแปรรูปเป็นยางอดัดก้อนของชุมนุนสหกรณ์ชาวสวนยางจังหวัดสตูล จำกัด โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจำหน่ายให้กับชุมนุนสหกรณ์กองทนุสวนยางจ.ตรัง กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางธารน้ำทิพย์และพ่อค้าทั่วไปเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต่อไปอาทิ พื้นที่สนามฟุตซอล ไม้กวาดยางพารา เก้าอี้ยางพารา รองเท้าฟองน้ำ เป็นต้น 

รมช.เกษตรฯหนุน"สหกรณ์"ผลิต"กรวยยาง-แบริเออร์"

           "การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อตรวจเยี่ยมและเก็บข้อมูลศักยภาพการผลิตและแปรรูปยางพาราของสหกรณ์ เพื่อนำข้อมูลไปนำเสนอกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อจะหาแนวทางร่วมกันส่งเสริมให้สหกรณ์เป็นผู้ผลิตสินค้าตามที่กระทรวงคมนาคมต้องการ เช่น กรวยยางวางบนถนน และแท่งแบริเออร์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงคมนาคมได้มีแนวทางทำข้อตกลงเพื่อร่วมมือกันผลักดันให้ปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้นโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งเบื้องต้นทราบว่ารัฐบาลได้เตรียมงบอุดหนุนให้สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อแห่ง หรืออาจจะมากกว่าตามชนิดสินค้าที่ผลิต"มนัญญากล่าว

         อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่ของรมช.เกษตรฯ ครั้งนี้ทางชุมนุมสหกรณ์การเกษตรฯ และสหกรณ์การเกษตรฯ ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและสตูล ได้ขอให้รมช.เกษตรฯช่วยเหลือจัดหาเครื่องจักรที่จะใช้ในโรงงานแปรรูปยาง ถังเก็บน้ำยาง รถขนน้ำยางสด และรถแทรคเตอร์ในสวนปาล์ม ซึ่งเธอกล่าวตอบรับพร้อมจะช่วยทุกสหกรณ์ แต่จะต้องดูว่าสิ่งที่ขอมานั้นสหกรณ์ได้นำไปใช้ประโยชน์จริงหรือไม่ และควรมีการแบ่งปันเครื่องมือ เครื่องจักรให้กับสหกรณ์อื่นๆในพื้นที่ได้มาใช้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและเป็นการช่วยเหลือแบ่งปันกันในขบวนการสหกรณ์ด้วยกันต่อไป

           หลังจากนั้นได้เยี่ยมชมโรงงานผสมปุ๋ยใช้เองของสหกรณ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ในโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตปุ๋ยผสมตามค่าการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชในดิน และพบปะสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่อ.นาทวีและอ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา โดยสหกรณ์การเกษตรนาทวี จำกัด เป็นสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการปุ๋ยผสมใช้เองผ่านสหกรณ์การเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทำให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยผสมที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของพืชที่เหมาะสมกับสภาพของดินในราคาที่เป็นธรรม จึงช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์

            ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯโดยทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้สนับสนุนเครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติ ขนาด 40 ตัน/วัน จำนวน 1 เครื่อง จักรเย็บกระสอบด้ายคู่กึ่งอัตโนมัติ แท่นจักรจำนวน 1 เครื่อง พร้อมรถโฟล์คลิฟท์ขนาด 3 ตัน จำนวน 1 คัน ซึ่งสหกรณ์ได้เริ่มให้บริการปุ๋ยผสมให้กับสมาชิกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยจำหน่ายให้แก่สมาชิกแล้ว 612 ราย ปริมาณ 378,122 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 5,032,713 บาท ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์กระสอบละ 158 บาท คิดเป็นมูลค่า 1,194,796 บาท

รมช.เกษตรฯหนุน"สหกรณ์"ผลิต"กรวยยาง-แบริเออร์"

           ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรนาทวี จำกัด ได้ดำเนินธุรกิจใน 4 ประเภท ได้แก่ 1. ธุรกิจรับฝากเงิน มีมูลค่า 36,317,487.49 บาท 2. ธุรกิจสินเชื่อมูลค่ามูลค่า 85,814,626.00 บาท 3. ธุรกิจรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ รวมมูลค่า 62,580.50 บาท และ 4. ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่ายแก่เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์และผู้คนทั่วไป มีมูลค่า 10,919,665.90 บาท

           ด้านธุรกิจรวบรวมผลผลิต ทางสหกรณ์ได้ดำเนินการรวบรวมกล้วยหอมจากสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์ผู้ปลูกกล้วยหอมจำนวน 120 ราย มีกล้วยหอมที่พร้อมตัดส่งให้สหกรณ์จำนวน 14 ราย ปริมาณ 16 ตัน โดยสหกรณ์ได้รวบรวมผลผลิตและส่งพ่อค้าภายในจังหวัดต่อไป

           “การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในวันนี้ เพื่อให้เห็นถึงการทำงานและสภาพความเป็นอยู่จริงของเกษตรกรสมาชิก มาเพื่อเพิ่มคุณค่าในชีวิตให้แก่เกษตรกร ซึ่งเมื่อรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรแล้ว จะนำความต้องการในด้านต่างๆ กลับไปสู่กระทรวงฯ และนำสิ่งที่เกษตรกรต้องการกลับมาให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรต่อไป"มนัญญา กล่าวกับเกษตรกรที่มาคอยต้อนรับ

              จากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรจะนะ จำกัด อ.จะนะ จ.สงขลา ในการดำเนินงานโรงงานผลิตน้ำยางข้น ซึ่งโรงงานน้ำยางข้นของสหกรณ์แห่งนี้ นับว่ามีศักยภาพในการรวบรวมและการแปรรูปยางพาราที่ได้มาตรฐานแห่งหนึ่งของพื้นที่ภาคใต้ ด้วยมีปัจจัยพื้นฐานในการทำการผลิตน้ำยางข้นที่ได้มาตรฐาน มีการติดตั้งระบบการกำจัดกลิ่นแอมโมเนียมในขบวนการแปรรูปน้ำยางพาราเป็นน้ำยางข้น พร้อมทั้งระบบน้ำในการหล่อเลี้ยงระบบการผลิต และการบำบัดน้ำที่ผ่านขบวนการผลิตน้ำยางข้นมาแล้วอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

              สำหรับน้ำยางข้นนั้น คือน้ำยางสดที่นำมาทำให้เข้มข้นโดยการหมุน เหวี่ยง หรือ การแยกครีม เพื่อแยกส่วนที่เป็นเนื้อยางออกจากเซรุ่ม และเพิ่มปริมาณเนื้อยางแห้งจาก 30% เป็น 60% สำหรับวิธีการหมุนเหวี่ยงจะเป็นวิธีที่นิยมใช้กันเป็นส่วนใหญ่ในประเทศไทย เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อยางแห้งจาก 30% เป็น 64% เนื่องจากน้ำยางสดมีปริมาณน้ำมากไม่เหมาะที่จะนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการขนส่ง จึงมีการนำมาปรับสภาพเป็นน้ำยางข้น ก่อนนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป อาทิ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ลูกโป่ง นอนฟองน้ำ หมอนฟองน้ำ เส้นด้ายยางยืด เครื่องมือทางการแพทย์ตุ๊กตา หน้ากาก และหุ่นต่างๆ เป็นต้น

   

 

           อย่างไรก็ตามสำหรับแนวทางในการดำเนินนโยบาย รมช.เกษตรฯได้ย้ำว่าจะเน้นใน 5 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้ามาเป็นสมาชิกสถาบันภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิก ทั้งยังได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย 2.เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ ไม่ให้มีหนี้สินพอกพูน ซึง่จะต้องดูแลการประกอบาอชีพและรายได้ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการสร้างอาชีพแก่สมาชิก 

             3.การผลิตสินค้าเกษตร สหกรณ์จะเข้าไปส่งเสริมสมาชิกให้ผลิตสินค้าคุณภาพและใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐไปใช้อย่างคุ้มค่าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกร 4.ต้องพัฒนาระบบขีดความสามารถของสหกรณ์ให้เป็นระบบสากลและ5.สนับสนุนให้สหกรณ์รับซื้อน้ำยางดิบจากเกษตรกรแล้วนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ