สมเด็จวัดระฆังแร่ทองบางสะพานอิทธิวัสดุธรรมชาติ
สมเด็จวัดระฆังแร่ทองบางสะพานอิทธิวัสดุธรรมชาติ'ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้' : เรื่องไตรเทพ ไกรงู ภาพ กฤชนันท์ ธรรมไชย
“หนังสือพระสมเด็จฯ” เป็นหนังสือที่เรียบเรียงโดย ตรียัมปวาย หรือ พ.อ.ผจญ กิตติประวัติ หรือ อ.ตรียัมปวาย ผู้บัญญัติศัพท์ เบญจภาคีอันโด่งดัง เป็นหนังสือเชิงวิชาการรวบรวมชีวประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี และตำนานการสร้างพระสมเด็จฯ โดยกล่าวไว้ทั้งสามวัดอย่างละเอียด พร้อมด้วยรูปภาพประกอบ (ขาว-ดำ)
ทั้งนี้ พ.ต.ท.สรารักษ์ กิตติประวัติ บุตรชาย อ.ตรียัมปวาย มีการรวมเนื้อทั้งหมดไว้ในหนังสือ “พระสมเด็จฯ ตำราพิจารณาพระสมเด็จฯ เล่มแรกของประเทศไทย” โดยสำนักพิมพ์ไทภูมิ จำกัด พิมพ์ครั้งที่ ๗ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ โดยเขียนไว้ในส่วนหนึ่งของคำนำว่า
“ปริอรรถอธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มที่ ๑ ครั้งนี้เป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๗ กระผมมีเจตนาที่จะคงซึ่งรูปแบบดั้งเดิมของหนังสือ มิได้ตัดทอนหรือแต่งเติมถ้อยคำแต่ประการใด เพียงแต่ตกแต่งปกรูปเล่มให้ส่วยงามยิ่งขึ้น และมีความคงทนมากขึ้นเท่านั้น เจตนารมณ์อีกประการหนึ่ง คือ ดำรงตำราเล่มนี้ให้คงอยู่ตลอดไปเพื่อประโยชน์ในด้านความรู้ของท่านที่สนใจพระสมเด็จฯ เพื่อความกระจ่างแจ่มจริง และการศึกษาอย่างถูกแนวทาง กระผมเชื่อมั่นว่าตำราเล่มนี้จะเป็นแนวทางให้ทุกท่านได้ศึกษาและเข้าใจพระสมเด็จฯ ได้อย่างถ่องแท้ สมกับเจตนารมณ์ของตียัมปวาย ผู้ประพันธ์”
อย่างไรก็ตามมีผู้สะสมพระชุดเบญจภาคี โดยเฉพาะพระสมเด็จจำนวนไม่น้อยเข้าใจและคิดว่า พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ที่มีส่วนผสมของทรายเงินทรายทองไม่มีอยู่จริง ซึ่งเข้าใจว่าไม่ได้ศึกษาและอ่านตำราพิจารณาสมเด็จฯ เล่มแรกของประเทศไทยที่เขียนโดยตรียัมปวาย ทั้งนี้ เมื่อหลายสิบปีก่อนมีปูชนียบุคลในวงการพระเครื่องท่านหนึ่งเคยครอบครองพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ที่มีส่วนผสมของแร่ทองคำเนื้อเก้า (ทองคำเนื้อสุก) สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ มีการเขียนมูลค่าของพระสมเด็จองค์นี้ในพินัยกรรมว่าห้ามขายในราคาต่ำกว่า ๖๐ ล้านบาท
ในการพิจารณาเนื้อพระสมเด็จนั้น “ตรียมปวาย” เขียนถึงมูลลักษณะรอง คือ มูลฐานลักษณะที่ไม่ปรากฏเด่นชัด และบางประการอังไม่ปรากฏก็ได้ ดังนี้ ๑.ความแกร่ง เป็นลักษณะของความแกร่งที่แฝงอยู่ภายในโครงสร้างของเนื้อ ส่วนผิวเนื้อภายนอกจะปรากฏแต่ความนุ่มโดยตลอด ๒.น้ำหนักปกติจะมีความอิ่มตัวพอประมาณ ซึ่งหมายถึงน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง หรือค่อนข้างมาก นอกจากจะเป็นองค์ที่สันฐาน บอบบาง ๓.ทรายเงินทรายทอง มีปรากฏเป็นส่วนน้อย และปริมาณน้อยมาก และ ๔.รักเก่า ทองเก่า มีปรากฏบ้าง
ในหน้าที่ ๔๐๔ ได้เขียนถึง “มูลกรณีทรายเงินทรายทอง” ไว้ว่าเป็นอิทธิวัสดุซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในมูลกรณีของเนื้อ ทั้งนี้ คตินิยมของการสร้างพระศักรพุทธปฏิมาสืบเนื่องมาจากโบราณไม่ว่าจะเป็นพระเนื้อโลหะหรืออโลหะก็ตาม มักจะเจือด้วยธาตุทองคำและเงินบริสุทธิ์เสมอ โดยถือว่าเป็นสินแร่ตระกูลสูงกว่าสามัญโลหะทั้งหลาย มีความศักดิ์สิทธิ์อิทธิพลโดยธรรมชาติที่เรียกว่า “ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” นำมารีดเป็นแผ่นแล้วประสิทธิด้วยพระยันต์ ๑๐๘ และนะปถมัง ๑๘ เป็นต้น แล้วจึงตะไบออกเป็นเกล็ดเป็นผง เจือผสมลงในมวลสารของเนื้อเป็นอิทธิวัสดุ
หน้าที่ ๔๐๓ ได้เขียนถึง “ทรายเงินทรายทอง” ไว้ว่า ทรายเงินทรายทอง คือ ผงตะใบจากแผ่นเงินแผ่นทองลงคุณพระ มีลักษณะเป็นผงที่ละเอียดมาก และเป็นมวลสารที่ปรากฏตัวน้อยที่สุด สังเกตเห็นได้เพียงบางองค์เท่านั้น สำหรับองค์ที่ปรากฏก็มีเพียงเกล็ดสองเกล็ดเท่านั้นเป็นอย่างมาก เพราะอาจจะจมอยู่ในเนื้อลึก หรือมิเช่นนั้นก็เป็นส่วนที่ใช้เจือผสมเนื้อเพียงเล็กน้อยมาแต่เดิม และที่ปรากฏมีของวักระฆังเป็นส่วนมาก สำหรับบางขุนพรหมปรากฏน้อยมาก
สำหรับ “การลงรักเก่าทองเก่า” ในหน้า ๔๐๖ ระบุไว้ว่า มูลกรณีการลงรักเก่าทองเก่า สืบเนื่องจากคติคนโบราณในการลงรักปิดทองพระพุทธประติมากรรม โดยถือว่าเป็นงานขึ้นสุดท้ายของกรรมวิธีสร้างพระ ตามอุดมคติที่ว่า พระพุทธฉวีมีวรรณะผุดผ่องดังสุวรรณชมพูนุท เมื่อเจ้าประได้รับการถวายกัณฑ์เทศน์เป็นทองเปลวมาจากชาวบ้านถนนตีทองและที่อื่นๆ ท่านจึงดำริการลงรักปิดทองพระสมเด็จฯ ของท่านขึ้น โดยมิได้กำหนดว่าจะปิดทองเฉพาะองค์เพื่อเป็นคะแนนแต่ประการใด คงปิดไปตามจำนวนแผ่นทองเปลวที่ได้รับมาเป็นครั้งคราวเท่านั้น และต่อมาคงมีผู้ปฏิบัติตาม เมื่อได้รับพระสมเด็จฯ มาก็ลงรักปิดทองกันเอง
สมเด็จวัดระฆัง ซึ่งมีแร่ทองบางสะพานฝังอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังนั้น จัดว่าเป็นพระสมเด็จที่ว่ากันว่าหายากมาก เข้าใจว่ามีการจัดสร้างจำนวนน้อยมากๆ นับจากเวลาการสร้างพระสมเด็จเกือบสองทศวรรษแล้ว ถ้าจะเหลือคงเหลืออยู่ในความครอบครองของผู้สืบสกุลจากบรรดาเจ้านายชั้นสูงในสมัยก่อนเท่านั้น ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่าปัจจุบันแม่จะขึ้นชื่อว่าประเทศไทยจะอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี แต่ผู้ครอบครองพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่มักตั้งราคาสูงประมาณองค์ละ ๘๐-๑๕๐ ล้านบาทเลยทีเดียว
ขอขอบคุณภาพ "สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่" จากนายสุขธรรม ปานศรี หรือที่คนในวงการรถยนต์รู้จักในชื่อ “เฮียกุ่ย” นักสะสมชุดเบญจภาคี พระเนื้อทองคำ รวมทั้งพระหลวงพ่อทวดชุดทองคำมานานกว่า ๑๐ ปี และเจ้าของ WWW.SOONPRARATCHADA.COM" ใครอยากชมองค์จริงโทรศัพท์สอบถามได้ที่ โทร.๐๘-๑๘๑๗-๗๗๗๗
“สวดพระ” เพื่อทำลายเครดิต
“การสวดพระ” ในวงการเช่าซื้อพระเครื่องเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เซียนพระบางคนตั้งป้อมสวดพระของคนอื่น ทั้งๆ ที่ยังไม่เห็นองค์พระ ในขณะที่เซียนพระหลายคนไม่กินเส้นกัน หากใครไปเช่าก็จะสวดส่งๆ เพื่อทำลายเคริดต นอกจากนี้แล้วเซียนพระจำนวนไม่น้อย สุ่มสวดเอาดื้อๆ โดยไม่มีความรู้เรื่องพระเครื่องรุ่นนั้นๆ เลย ประเด็นปัญหาที่ตามมา คือ เมื่อ ๒-๓ ปี ที่ผ่าน มีเซียนพระหลวงปู่ทวดไปสวดพระเหรียญเม็ดแตงหลวงปู่ทวดเนื้อทองคำ ผลที่ตามมา คือ “เซียนคนดังกล่าวขาดความน่าเชื่อถือในสายพระหลวงปู่ทวด”
อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาน้ำใจเจ้าของพระ เซียนพระบางท่านอาจจะใช้ความหมายว่า “ปลอม” อื่นๆ แทน ซึ่งมีอยู่หลายคำ เช่น ชุกซัว ซาลูตู้ ดุ๊ย กระตู้ฮู้ พระไม่ถูกพิมพ์แต่เนื้อถึง พระไม่มีพุทธคุณ พระไม่มีพลัง ไม่ถึงยุค อายุไม่ถึง ไม่ถนัดพระเนื้อนี้ ผิดทาง และพระดูยาก (คำนี้อาจจะใช้ได้ทั้งเก๊ดูยากและแท้ดูยาก) หากใครได้ยินคำเหล่านี้เข้า ก็ขอให้ทำใจเผื่อไว้ล่วงหน้าด้วย เพราะการปลอมพระนั้นเป็นเรื่องที่จะประมาทไม่ได้
นอกจากนักเลงพระรุ่นก่อนได้คิดภาษาเซียนแล้ว นักเลงพระยังตั้งบัญญัติ “อย่า ๑๐ ประการ” เป็นคำกลอนสอนเซียนด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันนี้ถ้าเซียนพระคนใดยึดปฏิบัติวงการพระเครื่องก็น่าจะมีการพัฒนามากกว่านี้ “บัญญัติ อย่า ๑๐ ประการ” ที่ว่า คือ
อย่า...ทำตนไถพระเขาฟรี อย่า...อวดดีอย่างคางคก
อย่า...ฟูมฟกเมื่อเจอพระเก๊ อย่า...ทำเก๋ชักดาบเขา
อย่า...มัวเมาเล่นจนหลง อย่า...พะวงพระลาวตกรถ
อย่า...ใจคดทุบหม้อข้าว อย่า...เช่าพระใกล้พลบค่ำ
อย่า...ลูบคลำพระถูเหงื่อ อย่า...เชื่อหูแต่จงเชื่อตา"
อ.ราม วัชรประดิษฐ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี สุดยอดแฟนพันธุ์แท้พระเครื่องคนแรกของประเทศไทยประจำปี ๒๐๐๑ และ www.aj-ram.com แนะนำว่า การขายพระให้ได้ราคานั้น มีวิธี ๒ คือ วิธีแรกส่งพระเข้าประกวดตามสนามประกวดพระที่มีมาตรฐาน โดยเฉพาะสนามที่สมาคมพระเครื่องพระบูชาไทยรับรอง พระที่ติดรางวัลที่ ๑ ราคาจะสูงกว่าพระรุ่นเดียวกันถึง ๑๐๐% ส่วนรางวัลที่ ๒-๓ ราคาจะลดหลั่นลงมาตามลำดับ ในขณะที่พระติดรางวัลหลายสนาม ยิ่งเพิ่มความเชื่อถือราคายิ่งมากขึ้น เพราะผ่านการตัดสินของเซียนพระชั้นนำ ส่วนอีกวิธีหนึ่งนั้น คือการออกใบรับรองพระแท้