ข่าว

'เอฟบีไอ'ฝึกเข้มตร.ไทยคลี่คดีเด็กหาย

'เอฟบีไอ'ฝึกเข้มตร.ไทยคลี่คดีเด็กหาย

16 เม.ย. 2557

เปิดมิติใหม่'เอฟบีไอ'ฝึกเข้มตร.ไทย คลี่คดีเด็กหายก่อนสายเกินแก้ : วิศิษฏ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์รายงาน

                 ปัญหาเด็กสูญหายยังคงเป็นเรื่องที่สร้างความสะเทือนใจให้แก่สังคมไทยยิ่งนัก เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่สามารถหาสิ่งใดมาทดแทนได้หากเด็กที่หายไปเป็นลูกหลาน หรือญาติพี่น้องของเราเอง วันนี้ต้องยอมรับว่าปัญหาเด็กหายกำลังเป็นภัยมืดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

                 ทั้งนี้ "เอฟบีไอ" เคยสำรวจพบว่า "44 เปอร์เซ็นต์" ของเด็กหายจะเสียชีวิตใน 1 ชั่วโมง   "74 เปอร์เซ็นต์" ของเด็กหายจะเสียชีวิตใน 6 ชั่วโมง และ  "96 เปอร์เซ็นต์" ของเด็กหายจะเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง!!!

                 จากสถิติข้างต้นบ่งชี้ถึงภัย "ร้ายแรง" ที่เกิดขึ้นกับเด็ก หากถูกคนร้ายลักพาตัวไป แม้สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นผลสำรวจคดีที่เกิดขึ้นในต่างถิ่นซึ่งมีสภาพแวดล้อม และเหตุปัจจัยแตกต่างกัน แต่ด้วยผลการศึกษาตามหลักวิชาสากล ทำให้สามารถนำมาปรับใช้กับคดีอาชญากรรมลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นได้ทุกแห่งหน ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ซึ่งในขณะนี้สถานการณ์เด็กถูกลักพาตัว ล่วงละเมิดทางเพศ และฆาตกรรมเกิดขึ้นถี่ และมีแนวโน้มกระทำรุนแรงต่อเด็กมากขึ้น!

                 ตัวอย่างคดีที่เป็นกรณีศึกษาได้ดีที่สุด คือ คดีของ นายติ๊งต่าง จำเลยที่ตำรวจมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็น "ฆาตกรต่อเนื่อง" ก่อเหตุกับเด็กมาแล้วหลายราย ซึ่งไม่เพียงสะท้อนความร้ายแรงของการก่ออาชญากรรมต่อเด็ก แต่ยังสะท้อนให้เห็นปัญหาด้านสืบสวนและสอบสวนของ "ต้นธารกระบวนการยุติธรรม" อย่าง "ตำรวจ" ไปพร้อมๆ กัน

                 ประเด็นที่ตำรวจถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ในคดีประเภทนี้คือกรณี "ไม่รับแจ้งความ" โดยอ้างเงื่อนเวลาตามกฎหมายที่ระบุว่า ต้องหายตัวไปแล้วไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง จึงจะเป็นคดี ร้อนถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องรีบออกคำสั่งให้ทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศรับแจ้งความเด็กหายทุกกรณี

                 ส่วนอีกประเด็นที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีประเภทนี้ที่มักจะจับกุมคนร้ายไม่ได้ หรือจับกุมตัวได้ เมื่อผู้ต้องหาก่อเหตุฆาตกรรมเด็กไปแล้ว ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อันใดจึงทำให้เกิดคำถามถึงการปรับปรุงแก้ไข "องค์ความรู้" ในการสืบสวนสอบสวนในการทำคดีประเภทนี้ของตำรวจที่จะตามหลังคนร้ายอยู่หลายก้าวเสมอ

                 ก่อนหน้านี้ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ได้ทำเรื่องเสนอ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พิจารณานำคดีนายติ๊งต่างมาเป็นกรณีศึกษา และปรับปรุงการสืบสวนสอบสวนตามหลักการสืบสวนสอบสวนสมัยใหม่ ซึ่งได้รับ "ไฟเขียว" จากผู้นำหน่วยให้ดำเนินการได้

                 กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.วรวุฒิ คุณะเกษม ผกก.3 บกป. พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผกก.ปพ.บก.ป. พ.ต.ท.ทรงรักษ์ ขุนศรี รอง ผกก.6 บก.ป. พ.ต.ท.บุรินทร์  ยมจินดา สว.กก.4 บก.ป. ร.ต.อ.นิธิพัฒน์ กังรวมบุตร รอง สว.กก.ปพ.บก.ป. นำเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมศาสตร์ และการสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรมต่อเนื่องจากสำนักงานสอบสวนกลาง สหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันในชื่อ "เอฟบีไอ" จำนวน 2 คน เข้าพบ พล.ต.ท.ชัยยง กีรติขจร ผู้ช่วย ผบ.ตร.เพื่อประสานการปฏิบัติการเกี่ยวกับการศึกษาพฤติกรรมศาสตร์ของคนร้ายในคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง และหารือถึงแนวทางการสืบสวนสอบสวนคดีลักษณะนี้

                 การมาเยือนของเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากเอฟบีไอในครั้งนี้นอกจากจะมาให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีเด็กถูกลักพาตัวไปล่วงละเมิดทางเพศและฆาตกรรมแล้วยังจะเป็น วิทยากรฝึกอบรมการสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรมต่อเนื่องตามหลักสากลให้ตัวแทนจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาคต่างๆ เพื่อเสริมทักษะในการทำงานด้วย

                 "เมื่อตำรวจมีทักษะมากขึ้นจะนำองค์ความรู้นี้ไปช่วยติดตามเด็กที่หายจากฐานข้อมูลเด็กหายที่มีอยู่ แล้วสืบสวนหาตัวบุคคลต้องสงสัยที่อาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายลักพาทำร้ายเด็ก โดยจะต้องทำในเชิงสืบสวนเพื่อป้องกันเหตุ และสืบสวนเพื่อจับกุมกรณีที่เกิดเหตุ" พล.ต.ท.ชัยยง บอก

                 นอกจากแนวทางการสืบสวนสมัยใหม่ตามหลักวิชาการที่ตำรวจไทยจะได้รับแล้วก็หวังว่าผลจากการฝึกอบรมครั้งนี้ก็ช่วย "เปิดใจ" ตำรวจไทยให้ "ยอมรับและปรับเปลี่ยน" แนวคิดและวิธีการทำ งานให้เป็นสากลเพื่อนำไปสู่การค้นพบความจริงของคดีในทุกมิติ มีมุมมองการทำงานที่ไม่ยึดเพียงการใช้กำลัง ใช้อาวุธ ในการจับกุมผู้ต้องหา ลดปัญหาการจับกุมคนร้ายผิดตัว ไม่เป็นมรดกบาปที่จะเกิด ขึ้นกับวงการตำรวจไทยในอนาคต

                 พ.ต.ท.ทรงรักษ์ อธิบายว่า การทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่เอฟบีไอในครั้งนี้จะมีด้วยกัน 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Learning by doing) จากคดีที่เกิดขึ้นจริง และส่วนที่ 2 คือ การนำองค์ความรู้เรื่องภูมิศาสตร์ตำรวจ หลักการวิเคราะห์พฤติกรรม มาใช้ในการทำคดีหากพบผู้ต้องสงสัยหรือคนร้ายประเภทนี้ในอนาคตแล้วจะทำอย่างไรให้การสืบสวนรวดเร็วขึ้น

                 รอง ผกก.6 บก.ป. บอกอีกว่า ศาสตร์เหล่านี้ตำรวจต้องเข้าไปเรียนรู้เปลี่ยนแปลงตั้งแต่วิธีคิดโดยต้องคิดจากหลักวิชาที่มีผลการวิจัยออกมา มีฐานข้อมูล และต้องรีบทำ เพราะหากช้าไป ในอนาคตอาจมีเด็กที่ต้องตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้น

                 "ทำอย่างไรจึงจะลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กในอนาคต หรือแม้กระทั่งการป้องกันอาชญากรรม ระงับยับยั้งบุคคลเหล่านี้ที่มีแนวโน้มจะกระทำความผิดจะต้องทำบัญชีการเฝ้าระวัง หรือจะเข้าไปตรวจสอบเขาอย่างไร จะต้องมีกฎหมายพิเศษบังคับคนกลุ่มนี้หรือไม่ว่าต้องห้ามเข้าใกล้เด็กในระยะกี่กิโลเมตร ห้ามเข้าใกล้โรงเรียน ฯลฯ เหล่านี้คือการดำเนินการก่อนเกิดเหตุหรือเป็นการป้องกันเหตุ"

                 ด้าน นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา หนึ่งในบุคคลที่ผ่านประสบการณ์การช่วยเหลือผู้ปกครองและญาติในการติดตามคนหาย โดยเฉพาะกับเด็กที่หายตัวไป หรือถูกลักพาตัวไปล่วงละเมิดทางเพศและฆาตกรรมนั้น เห็นด้วยกับการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากเอฟบีไอมาให้ความรู้กับตำรวจไทย

                 "ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะมีการนำหลักวิชา วิทยาการที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือเด็กๆ เพราะสถานการณ์เด็กถูกลักพาตัวไปแล้วถูกล่วงละเมิดทางเพศและฆ่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ถึงมีนาคม 2557 มีถึง 5 ราย 3 รายมีผู้ต้องหาคนเดียวกัน คือ นายติ๊งต่าง ส่วนอีก 2 คดี คือ คดีน้องเดียร์ ที่ภูเก็ต และคดีน้องจันลา (เด็กหญิงอายุ 7 ปี สัญชาติกัมพูชา ซึ่งต่อมาพบเป็นศพในพงหญ้าหลังที่พักคนงานก่อสร้างใน ซอยพหลโยธิน 52 เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา) ยังจับกุมผู้ต้องหาไม่ได้ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูงจนน่ากลัว อีกทั้งยังสะท้อนถึงความไม่ปลอดภัยในเมืองหลวง"

                 ที่สำคัญจากการตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้ต้องหาสงสัยที่ก่อเหตุกับเด็กของศูนย์ข้อมูลคนหายนั้นมีนับสิบคน บางคนถูกจับแล้ว บางคนยังไม่ถูกจับกุม โดยในจำนวนนี้มีทั้งที่ก่อเหตุซ้ำมาแล้ว หลายครั้งมีทั้งที่จะพ้นโทษจากเรือนจำในปีหน้า ซึ่งคนเหล่านี้มีแนวโน้มกระทำผิดซ้ำ แต่ยังไม่แนวทางหรือมาตรการระวังป้องกันเหตุ 

                 นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่ทำงานตามหาเด็กหายแต่ละคนพบว่า ตำรวจมาช่วยไม่กี่คน ตัวอย่างคดีน้องการ์ตูนมีตำรวจมาช่วยเพียงคนเดียวซึ่งเขาเชี่ยวชาญคดีปล้นทอง ยาเสพติด แต่ไม่เคยสืบคดีเด็กแบบนี้มาก่อน แต่เมื่อมีการพบศพแล้วจึงจะมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือตำรวจที่เกี่ยวข้องคนอื่นๆ ปรากฏตัว

                 "จากจุดเริ่มต้นที่มีผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้ก็หวังว่าจะไม่กระจุกตัว หรือเป็นเพียงแต่งานวิชาการตำรวจที่อยู่กับตำรวจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่อยากให้ความรู้ที่ได้มาแพร่หลายไปสู่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงนั่นก็คือศูนย์บริการจัดการคนหายและศพนิรนาม และตำรวจท้องที่ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่แท้จริง"

                 สิ่งที่หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงาเป็นห่วงนั้นเนื่องเพราะที่ผ่านมาเขาเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานและผลักดันให้เกิดหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องคนหายโดยตรงซึ่งต่อมามีการจัดตั้ง เป็นศูนย์บริหารจัดการคนหายฯ ซึ่งในการประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเรื่องนี้นั้นต้องพบกับอุปสรรคสำคัญ คือ ความไม่เป็นเอกภาพ และปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย เปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบของนายตำรวจ

                 "ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญคือตำรวจจะนำความรู้นี้ไปทำอะไรต่อ จะปรับใช้ในการปฏิบัติอย่างไร จะวางบทบาทของแต่ละหน่วยงานอย่างไร จะให้ศูนย์บริหารจัดการคนหายฯ เป็นเจ้าภาพหรือ  บช.ก.จะตั้งหน่วยเฉพาะนี้ขึ้นมาทำเอง แล้วเมื่อถึงเวลามีเด็กหายคุณต้องมาช่วยหาจริงๆ นะ ไม่ใช่มาเอาตอนที่เด็กเสียชีวิตไปแล้ว ไม่มีประโยชน์"

                 นายเอกลักษณ์ ยังหวังว่า วิชาความรู้ด้านการสืบสวนสมัยใหม่ที่เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดให้ตำรวจไทยนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบงาน มีการจัดทำฐานข้อมูลคนหาย หรือ ข้อมูลเชิงสถิติที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การ "ป้องกัน" ไม่ให้เกิดเหตุกับเด็กได้อย่างเป็นรูปธรรม  และเมื่อเกิดเหตุแล้วจะมีหน่วยงาน ฐานข้อมูล และเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถมาทำคดีโดยเฉพาะ ไม่ใช่เงียบหายไปเพราะตำรวจที่เคยรับผิดชอบถูกย้ายไปหน่วยงานอื่น

                 จากจุดเริ่มต้นที่ตำรวจสอบสวนกลางปักหมุดหมายด้าน "สืบสวนสมัยใหม่" เอาไว้ กอปรกับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะขององค์กรภาคเอกชนซึ่งกลั่นจากประสบการณ์จริงจากการทำงานในพื้นที่แล้วก็หวังว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเล็งเห็นความสำคัญและผลักดันให้เกิดหน่วยงานเฉพาะด้านที่ป้องกันและปราบปรามการก่อเหตุกับเด็กในลักษณะนี้โดยเร็วเพื่อที่ "เด็ก" จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ อาชญากรประเภทนี้อีกต่อไป


เสียงจาก "แม่" ของเด็กที่ถูกลักพาตัวไป"อยากให้ตำรวจใส่ใจเด็กหายมากกว่านี้"


                 ความสูญเสียจากปัญหาเด็กหายเปรียบเสมือนการพรากชีวิตของบุคคลที่เป็นพ่อแม่ไปอย่างไม่มีวันจางหาย โดยแต่ละวันพวกเขาจะนั่งรอลูกน้อยกลับคืนมาสู่อ้อมอกด้วยความหวัง โดย นางมณี ทองชุม มารดา ด.ญ.จีรภัทร ทองชุม หรือ น้องจีจี้ เด็กหญิงที่คาดว่าถูกลักพาตัวไปจาก อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2553 จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ทราบชะตากรรม เห็นด้วยและคิดว่า เป็นสิ่งที่ดีมากที่มีเจ้าหน้าที่เอฟบีไอมาฝึกอบรมการทำคดีประเภทนี้ให้กับตำรวจไทย

                 "การฝึกอบรมนี้ดีต่อครอบครัวที่เด็กหาย ถ้าทำได้จริงๆ ก็ดีแน่นอน ทำให้รวดเร็วเด็กหายก็ได้กลับบ้าน"

                 นางมณี ยังบอกด้วยว่า อยากให้มีหน่วยงานเฉพาะด้านที่ทำคดีเด็กหายโดยตรง และอยากให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลเด็กหายไปยังสถานีตำรวจทั่วประเทศ เหมือนกับคดีรถยนต์หรือรถ จักรยานยนต์ถูกโจรกรรมยังมีการลิงก์ข้อมูลไปทั่วประเทศ

                 "ข้อมูลเด็กที่หายตัวไปก็น่าจะทำได้เหมือนกัน ถ้าทำให้ข้อมูลเด็กหายไปถึงมือถือของประชาชนได้ก็จะดีมาก เพราะทุกวันนี้ถ้าไม่มีมูลนิธิกระจกเงา ก็คงไม่มีใครรู้ว่ามีเด็กหายตัวไป แล้วส่วนใหญ่เด็กที่หายตัวไปจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา"

                 ถึงกระนั้น มารดาของเด็กหญิงผู้เสียหาย เห็นว่า ทุกวันนี้ตำรวจตื่นตัวในการทำคดีเด็กหายดีกว่าในอดีต หากย้อนกลับไป 3 ปีก่อนนั้นเรียนตามตรงว่า ไม่ได้เรื่อง แต่ก็เข้าใจว่าตำรวจมีงานต้อง รับผิดชอบหลายอย่าง แต่อย่างน้อยเมื่อมีกรณีเด็กเล็กๆ หายตัวไปควรต้องดูแลเป็นพิเศษ

                 "ใจจริงอยากให้ตำรวจใส่ใจเด็กหายมากกว่านี้ วันนี้อาจเป็นลูกคนอื่น แต่วันหน้าอาจเป็นลูกคุณ หรือลูกใครก็ได้ ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปอาจไมได้รับการดูแลเท่าที่ควร แต่ถ้าเป็นคนมีฐานะ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักก็คงได้รับการดูแลหรือมีการติดประกาศไปทั่วประเทศ"

...............................................

(หมายเหตุ : เปิดมิติใหม่'เอฟบีไอ'ฝึกเข้มตร.ไทย คลี่คดีเด็กหายก่อนสายเกินแก้ : วิศิษฏ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์รายงาน)