ข่าว

ยึดทรัพย์'พงศ์พัฒน์'รอบ3พันล้าน

ยึดทรัพย์'พงศ์พัฒน์'รอบ3พันล้าน

23 ธ.ค. 2557

มติ ปปง.ยึดทรัพย์เครือข่าย 'พงศ์พัฒน์' รอบ 3 พันล้าน ขณะที่ ป.ป.ช.รายงานความคืบหน้าคดี ด้านคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการลงโทษความผิดวินัยร้ายแรงเห็นชอบไล่ออก

 
                            23 ธ.ค. 57  ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)  พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. ว่า คณะกรรมการมีมติให้ยึดทรัพย์สินของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) และพวก เพิ่มเติมเป็นชุดที่ 3 รวมกว่า 3,000 รายการ ประมาณ 27,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 
 
                            1. ธนบัตรสกุลเงินต่างๆ เช่น ธนบัตรไทย 3,950,024 บาท , ธนบัตรสหรัฐ 57,000 ดอลลาร์ , ธนบัตรยูโร 5,300 ยูโร , ธนบัตรอังกฤษ 11,435 ปอนด์ , ธนบัตรฮ่องกง 92,540 ดอลลาร์ , ธนบัตรญี่ปุ่น 3,600,000 เยน 2. ทองรูปพรรณ 3. ภาพวาด และศิลปวัตถุ 4. พระเครื่อง และวัตถุมงคล 5. ของเก่า ของโบราณ เครื่องลายคราม และเบญจรงค์ 6. อัญมณี และเครื่องประดับ 7. เครื่องเฟอร์นิเจอร์ไม้ 8. วัตถุโบราณ 9. รถยนต์ และ 10. ทรัพย์สินอื่นๆ โดยทรัพย์สินทั้งหมดตรวจยึดได้จากบ้านพัก อาคารชุด และห้องนิรภัยในอาคารพาณิชย์ของ พล.ต.ท พงศ์พัฒน์ พล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ พ.ต.อ.อัครวุฒิ หลิมรัตน์ และนางปิยพรรณ ชินนะประภา ซึ่ง ปปง.ตรวจสอบแล้วพบว่า ทรัพย์สินดังกล่าวมีมูลค่าสูงผิดวิสัยผู้ประกอบการอาชีพรับราชการที่มีเงินเดือนไม่มากนัก และเป็นทรัพย์ที่ได้มาในช่วงปฏิบัติหน้าที่ราชการ
 
                            เลขาธิการ ปปง. กล่าวต่อว่า ทรัพย์ทั้งหมดจะเปิดโอกาสให้ผู้เป็นเจ้าของนำหลักฐานมาแสดงที่มา หากไม่มีหลักฐานโต้แย้ง ปปง.จะนำทรัพย์ไปประมูลขายทอดตลาดเพื่อให้เงินตกเป็นของแผ่นดิน โดยทรัพย์ดังกล่าว ปปง.จะแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ทรัพย์ที่ยังไม่ขายทอดตลาดเป็นทรัพย์มีค่าสามารถเก็บไว้ได้โดยไม่เสื่อมราคา กับทรัพย์ที่คิดว่าหากเก็บไว้แล้วเสื่อมสภาพจำเป็นต้องขายทอดตลาดเพื่อเก็บเป็นเงินแทน คาดว่าในเดือน ม.ค.ปีหน้า ปปง.จะทำรายการประเมินทรัพย์แล้วเสร็จ จากนั้นในเดือน ก.พ.จะสามารถชี้แจงทรัพย์ทั้งหมดได้ว่ามีกี่รายการ และจะจัดเป็นมหกรรมขายทอดตลาด เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาประมูลทรัพย์เหล่านี้ ทั้งนี้ ทรัพย์หลายชิ้นที่ตรวจยึดไว้มีราคาสูงมาก เช่น ชุดสร้อยเพชร มีมูลค่ากว่า 2.7 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบเม็ดเงินที่ยังไม่ถูกนำไปแปรรูปน้ำหนักกว่า 120 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1.7 ล้านบาท ขณะที่ของมีค่าอื่น เช่น เครื่องชามสังคโลก โต๊ะฝังมุก และวัตถุโบราณชิ้นพิเศษที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก
 
                            เลขาธิการ ปปง. กล่าวด้วยว่า ปปง.ยังจะขยายผลเพื่อตรวจสอบทรัพย์สินอื่นเพิ่มเติม เพราะเชื่อว่ายังมีทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดที่ยังตรวจสอบไม่พบอีก สำหรับการชี้แจงที่มาทรัพย์สินที่ ปปง.อายัดไว้ก่อนหน้านี้ 2 ชุด เป็นโฉนดที่ดิน และบัญชีเงินฝาก มูลค่ารวมกว่า 500 ล้านบาท นอกจากนี้ ปปง.อยู่ระหว่างประสานไปยังนายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปสอบปากคำผู้ต้องขังที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินในเรือนจำว่าประสงค์จะชี้แจง หรือโต้แย้งกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินรายการใดหรือไม่
 
                            เลขาธิการ ปปง. กล่าวอีกว่า คณะกรรมการธุรกรรม ยังมีมติยึดอายัดทรัพย์สินนายกริช จินต์วุฒิ กับพวกฐานกระทำผิดเกี่ยวกับการพนันผิดกฎหมาย ประกอบด้วยรถจักรยานยนต์ 212 คัน และรถยนต์ 13 คัน มูลค่าประมาณ 15 ล้านบาท ทั้งนี้ สืบเนื่องจากวันที่ 4 - 7 มิ.ย. 2557 ทหารสนธิกำลัง ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เข้าตรวจค้น โรงแรม และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเชื่อว่ามีการเปิดลักลอบเล่นการพนัน โดย สภ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก ได้ดำเนินอาญากับผู้ต้องหา 5 คน ประกอบด้วย 1. นายกริช จินต์วุฒิ (กรรมการ บริษัท กริชอินทรา (1989) จำกัด) 2. นายกิตติ พันโท (ผู้เช่าสถานที่ซึ่งจัดให้มีการเล่นการพนัน) 3. นายนฤทธิ์ หรือติ่ง บัวสนธ์ (ผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน) 4. นายภูมิธนสิษฐ์ เกียรติวิชาญกุล (ผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน) และ 5. บริษัท กริชอินทรา (1989) จำกัด (เจ้าของที่ดิน) ในข้อหา เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งการกระทำของบุคคลดังกล่าว อันเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน ซึ่งการตรวจสอบสภาพสถานที่พบเป็นสถานที่ขนาดใหญ่ มีอุปกรณ์เล่นการพนันจำนวนมาก มีการติดป้ายระบุกฎกติกาในการเล่นพนัน อีกทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับผู้เข้าเล่นการพนัน เช่น ตู้แช่ขนาดใหญ่สำหรับจำหน่ายเครื่องดื่มให้กับผู้เข้าเล่นการพนัน บริการนวดแผนโบราณ โรงอาหาร ลานจอดรถคอนกรีต ห้องสำนักงานของบ่อน รวมทั้งยังมีการจัดห้องพักไว้ให้กับคนงานที่ดูแลพื้นที่บริเวณบ่อนอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าสถานที่ดังกล่าวถูกจัดไว้สำหรับเป็นสถานที่เล่นการพนันแบบถาวร โดยสถานที่ดังกล่าวสามารถรองรับผู้เล่นการพนันได้กว่า 200 คน 
 
                            เลขาธิการ ปปง. กล่าวต่อว่า ทรัพย์ที่ยึดอายัดวันนี้เป็นทรัพย์ที่มีการตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่งเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินที่ผู้เล่นการพนันนำมาจำนำเพื่อนำเงินมาเล่นการพนัน เนื่องจากรถแต่ละคันมีการติดหมายเลขไว้ที่ตัวรถ และในการตรวจค้นห้องสำนักงานของบ่อนได้ตรวจพบสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ โฉนดที่ดิน กุญแจรถยนต์ และรถจักรยานยนต์เป็นจำนวนมาก ประกอบกับพนักงานบริการของบ่อน จำนวน 2 คน ได้ให้ข้อมูลว่า รถจักรยานยนต์และรถยนต์ เป็นทรัพย์สินที่ผู้เล่นการพนันนำมาจำนำไว้เพื่อนำเงินมาเล่นการพนัน นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าเล่นการพนันบริเวณบ่อนดังกล่าว ซึ่งเคยถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันลักลอบเล่นการพนัน พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต ได้ให้การถึงกรณีที่ตนเป็นหนี้การพนันกับบ่อน และได้นำรถจักรยานยนต์มาวางจำนำไว้ กรณีจึงน่าเชื่อว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้เล่นการพนัน นำมาจำนำไว้กับเจ้าของบ่อน เพื่อนำเงินมาเล่นการพนัน หรือตีใช้หนี้กับเจ้าของบ่อนจริง จากข้อมูลพบว่าบ่อนดังกล่าวเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 2 ปี เงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
 
 
 
ป.ป.ช.รายงานความคืบหน้าคดี 'พงศ์พัฒน์-พวก'
 
 
                            เมื่อเวลา 15.00 น. ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่กองบัญชาการตำรวจ  นครบาลได้มีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินคดีกับ พลตำรวจโท พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ กับพวก ในความผิดฐาน “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ฐานร่วมกันเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต เรียกรับเงินจากธุรกิจค้าน้ำมันเถื่อน ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และความผิดฐานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบเรียกรับเงินจากการแต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จำนวนหลายคดี ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนจำนวนทั้งสิ้น 185 นาย ดำเนินคดีในเรื่องดังกล่าวและการสอบสวนใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนความผิดฐานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบนั้น เป็นอำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงประสงค์จะดำเนินคดีดังกล่าวต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยไม่ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ
 
                            คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ กับพวกดังกล่าวข้างต้น เป็นการกระทำของกลุ่มบุคคลเดียวกัน กระทำความผิดหลายกรรมหลายวาระ มีการกระทำเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกัน ทั้งคดีที่อยู่ในอำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และที่อยู่ในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน เมื่อคดีนี้พนักงานสอบสวนได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดใกล้จะแล้วเสร็จ และมีการควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ในอำนาจศาลในระหว่างดำเนินคดี ดังนั้น เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม จึงมีมติมอบให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยไม่ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 89/1 โดยให้สำนักงาน ป.ป.ช. ติดตามผลการดำเนินการเพื่อรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป
 
                            อนึ่ง ในส่วนของทรัพย์สินของกลางในคดีจำนวนมากที่มีการยึด อายัด ไว้นั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือประสานขอบัญชีรายละเอียดของกลางดังกล่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อนำมาใช้ประกอบในการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ กับพวก ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างรอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดส่งบัญชีของกลางดังกล่าวให้สำนักงาน ป.ป.ช.
 
 
 
เสนอ 'ผบ.ตร.' ไล่ออก 'พงศ์พัฒน์-พวก'
 
 
                            เมื่อเวลา 11.30 น.  พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการสั่งลงโทษความผิดวินัยร้ายแรง พร้อมด้วย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. เข้าร่วมประชุม 
 
                            พล.ต.อ.เอก เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการลงโทษความผิดวินัยร้ายแรง มีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ให้ไล่ออก 6 นายตำรวจที่กระทำผิดในคดีของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยคณะกรรมการฯ ยืนยันการลงโทษไล่ออกนายตำรวจทั้ง 6 คน เนื่องจากฝ่ายจเรตำรวจ ได้เข้าสอบสวนผู้ต้องหา ซึ่งทั้งหมดให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดวินัยจริงในคดีอาญาทั้ง 4 คดี จึงสามารถดำเนินการทางวินัยได้เลยทันที ไม่ต้องรอการพิจารณาคดีอาญาของศาลแต่อย่างใด เนื่องจากตามระเบียบนั้นการลงโทษทางวินัยจะแยกออกจากการลงโทษทางอาญา และเมื่อนายตำรวจทั้ง 6 คน มีความผิดในคดีอาญา ประกอบกับเมื่อคณะกรรมการฯ เข้าไปสอบสวนทางวินัยผู้ต้องหาทั้งหมดก็ให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา คณะกรรมการฯ จึงมีมติดังกล่าว หลังจากที่คณะกรรมการฯ รับรองผลการลงโทษเรียบร้อยแล้ว จากนี้จะได้เสนอให้ฝ่ายวินัยทำคำสั่งเสนอไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาลงโทษต่อไป คาดว่าขั้นตอนจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ ส่วนขั้นตอนการถอดยศถือเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง โดยเป็นคนละส่วนกับการสอบสวนวินัยร้ายแรงในครั้งนี้ 
 
                            ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับสำนวนคดีของเครือข่าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ที่เกี่ยวข้องกับความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งได้ส่งมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งก่อนส่งให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องต่อศาล ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบคดีหมิ่นฯ อยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าภายใน 1-2 วันคงจะทราบผล และคาดว่าการพิจารณาสำนวนจะเสร็จสิ้นทันส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลแน่นอน เนื่องจาก พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ และพวกนั้นถูกจับกุมเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดระยะเวลาในการรวบรวมสำนวนส่งฟ้องต่อศาลทั้งสิ้น 48 วัน ขณะนี้ยังไม่หมดเวลา