ข่าว

รื้อศาลโค้ง100ศพปิดตำนานเฮี้ยนถนนรัชดาฯ

รื้อศาลโค้ง100ศพปิดตำนานเฮี้ยนถนนรัชดาฯ

19 ม.ค. 2558

รื้อศาลโค้ง100ศพปิดตำนานเฮี้ยนถนนรัชดาฯ : นิธิศ นาเจริญรายงาน

              เช้าของวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา สำนักงานเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เข้าเคลื่อนย้ายข้าวของเครื่องเซ่นไหว้ ศาลเพียงตาที่ผุพัง รวมถึงม้าลายที่มีประชาชนจำนวนไม่น้อยนำมาวางไว้ใต้ต้นโพธิ์บริเวณเกาะกลางถนน ที่ได้ชื่อว่า "โค้ง 100 ศพ" หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อจัดระเบียบบริเวณนี้ไม่ให้มีสิ่งกีดขวางจราจร ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงบ่อยครั้งก่อนหน้านี้
    
              ก่อนหน้านี้มีการถกเถียงเกี่ยวกับการรื้อศาลเพียงตา รวมถึงสิ่งของเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วจนล้นออกมาในพื้นผิวถนน บางส่วนถูกนำไปวางไว้บนสะพานลอยในลักษณะกีดขวาง ทำให้ผู้สัญจรผ่านได้รับความเดือดร้อน จนสำนักงานเขตจตุจักรต้องการที่จะเคลื่อนย้ายสิ่งของเหล่านี้ออกไป เพื่อจัดระเบียบพื้นที่เสียใหม่ให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม รวมถึงไม่บดบังทัศนียภาพของผู้ขับขี่เพื่อต้องการลดปริมาณอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในบริเวณนี้ ขณะที่มีประชาชนจำนวนไม่น้อยแสดงความไม่เห็นด้วย เพราะเกรงความเฮี้ยนของสิ่งเร้นลับ
    
              ท่ามกลางความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเร้นลับที่ผู้คนบางส่วนอ้างว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งที่โค้ง 100 ศพ แห่งนี้ พ.ต.อ.นิพนธ์ เจริญศิลป์ รรท.ผกก.สน.พหลโยธิน ยืนยันว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเร้นลับแต่อย่างใด เพราะเชื่อว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความประมาทของผู้ขับขี่เอง
    
              พ.ต.อ.นิพนธ์ ให้เหตุผลประกอบว่า ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ถนนรัชดาภิเษก โดยเฉพาะบริเวณหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาฯ มักถูกกลุ่มที่ชื่นชอบการแข่งรถในถนนหลวงใช้เป็นสถานที่ประลองความเร็วเป็นประจำ ประกอบกับถนนในระยะนั้นไม่มีแสงสว่างเพียงพอ กลายเป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ที่นำมาสู่อุบัติเหตุร้ายแรง ต่อมาในย่านถนนรัชดาภิเษกมีสถานบันเทิงเปิดให้บริการจำนวนมาก ยิ่งส่งผลให้ปริมาณอุบัติเหตุบริเวณนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากบรรดานักเที่ยวส่วนหนึ่งมีอาการมึนเมาขณะขับขี่ยานพาหนะ
    
              “บริเวณโค้ง 100 ศพ ค่อนข้างมืด แต่เป็นถนนที่ค่อนข้างกว้างและเรียบเชื่อมต่อมาจากถนนข้ามแยกลาดพร้าว รถจะใช้ความเร็ว พอมาเจอโค้งหักศอกต่อเนื่องกันสองโค้ง ซึ่งไม่ได้ออกแบบให้มีโค้งรองรับทำให้รถเสียการทรงตัวเสียหลักพุ่งชนต้นโพธิ์ ซึ่งอยู่บริเวณเกาะกลางถนนหรือพุ่งชนสิ่งกีดขวางบริเวณนั้นเป็นประจำ" พ.ต.อ.นิพนธ์ กล่าว
    
              เกือบ 20 ปี หลังถนนสายนี้ถูกใช้งานมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบริเวณนี้มากกว่า 100 ศพ จนบริเวณนี้ได้ชื่อว่า "โค้ง 100 ศพ" โดย พ.ต.อ.นิพนธ์ บอกว่า ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากสุดคือหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไปจนถึงรุ่งสาง เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่สถานบันเทิงปิดบริการ บรรดานักเที่ยวที่มักมีอาการมึนเมาสุราทยอยกลับบ้าน ผู้ประสบอุบัติเหตุจำนวนไม่น้อยมีอาการมึนเมาสุรา หลายรายประมาทขับขี่รถด้วยความเร็วทั้งที่บริเวณนี้มีเครื่องหมายจราจร สัญญาณไฟกะพริบ รวมถึงข้อความเตือนไว้กลางถนนอย่างชัดเจน
    
              สอดคล้องกับ นายณัฐพงศ์ บุญตอบ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ซึ่งระบุว่า สรีระของถนนบริเวณโค้ง 100 ศพ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพราะทางโค้งลักษณะหักศอก 2 โค้งติดกัน ตามมาตรฐานความปลอดภัยแล้วต้องมีการสร้างถนนแบบยกโค้ง เพื่อให้รถยนต์สามารถเข้าโค้งได้โดยง่าย แต่จุดนี้ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นถนนเขตเมือง ซึ่งออกแบบไว้รองรับยานพาหนะที่ใช้ความเร็วไม่เกิน 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  
    
              “โค้งทางกายภาพที่ไม่มีเนินโค้งรองรับ ต้องมีการยกขอบถนนบริเวณทางโค้งให้สูงขึ้น หรือ superelevation เพื่อให้รถวิ่งเข้าโค้งได้อย่างปลอดภัย แต่โค้งหน้าศาลอาญาไม่เป็นเช่นนั้น เป็นแบบระนาบเทออก เพราะต้องออกแบบให้มีทางระบายน้ำด้านข้างถนน เมื่อโค้งมีลักษณะเทออก หากใช้ความเร็วเกิน 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็จะเสียหลักหลุดโค้งได้ง่าย" ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน กล่าว
    
              ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้บริเวณโค้ง 100 ศพ เกิดอุบัติเหตุซ้ำๆ จนเกิดคำร่ำลือว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับสิ่งเร้นลับ ต่อมามีการนำผ้าสีไปผูกไว้กับต้นโพธิ์เกาะกลางถนน ตามมาด้วยสิ่งของเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ทั้งผ้าสไบแพร ตุ๊กตาปูนปั้น และระยะหลังมีศาลเพียงตาที่ผุพังถูกนำมาวางไว้ด้วย โดยไม่มีใครทราบความเป็นมาของความเชื่อนี้อย่างแน่ชัด แต่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า ต้นตอของเรื่องเร้นลับบริเวณโค้ง 100 ศพ เกิดจากอุบายของวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างทาง ที่ต้องการแก้เผ็ดคนงานเท่านั้น
    
              "มีการพูดคุยกันในเฟซบุ๊กของกลุ่มเพื่อนว่า มีเพื่อนซึ่งเป็นวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างถนนบริเวณนี้ ตรงเกาะกลางมีต้นโพธิ์ ระหว่างก่อสร้างมีคนงานข้ามไปข้ามมาตอนกลางคืนอยู่เรื่อยๆ ตอนนั้นยังไม่มีศาล ไม่มีการนำรูปปั้นม้าลายมาไหว้ เมื่อคนงานข้ามไปถึงต้นโพธิ์ทีไรก็ปัสสาวะทิ้งไว้จนกลิ่นเหม็นมาก วิศวกรคนนี้เลยแอบนำผ้าแพรมาพันต้นโพธิ์ไว้ แล้วนำธูปมาปักไว้หน่อยให้คนกลัวเล็กน้อย กลายเป็นว่า พอทำแค่นี้คนก็ไม่กล้ามาปัสสาวะตรงนั้นอีก” รศ.ดร.เจษฎา ให้ข้อมูล
    
              ด้าน นายสุพิศ ไตรมาก หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาด สำนักงานเขตจตุจักร ยอมรับว่า แทบทุกวันจะมีผู้คนจำนวนไม่น้อยนำของเซ่นไหว้ โดยเฉพาะปูนปั้นรูปม้าลายมาวางไว้ตรงเกาะกลางโค้ง 100 ศพ จนล้นเข้าไปในช่องจราจร ระยะหลังมีการนำไปวางไว้บนสะพานลอยทางข้ามจนกีดขวางทำลายทัศนียภาพบริเวณนี้
    
              "ระยะหลังมีสิ่งของแปลกปลอมมากันเยอะ ศาลเพียงตาที่ผุพังแล้วยังมี เกรงว่าหากไม่จัดระเบียบจะยิ่งรกรุงรังกลายเป็นกองขยะกลางเมืองไป จำเป็นต้องรื้อออก เพราะสิ่งของที่นำมาไว้บริเวณนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากทุกวันจนล้นออกไปนอกบริเวณ เป็นอุปสรรคต่อผู้ขับขี่ยานพาหนะและผู้สัญจรผ่าน หากปล่อยไว้จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ" นายสุพิศ กล่าว
    
              ศาลเพียงตาและของเซ่นไหว้ที่ถูกนำมาวางไว้ใต้ต้นโพธิ์บริเวณเกาะกลางถนนถูกเคลื่อนย้ายออกไปจากพื้นที่เดิม บางส่วนถูกนำไปวางไว้ที่ทางเท้าฝั่งศาลอาญา ถ.รัชดาฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่กีดขวางการจราจร และช่องทางการเดินเท้าของประชาชนที่สัญจรผ่านในย่านนั้น ปิดตำนานเรื่องลี้ลับโค้ง 100 ศพ ไปโดยปริยาย
              
                                                                                                                                                                 
ตุ๊กตาปูนปั้นม้าลายตัวแทนเดินทางปลอดภัย

    
              ดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว เมื่อมีศาลเพียงตา ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนเรื่องราวลี้ลับตามความเชื่อตั้งอยู่ที่ไหนมักมีสิ่งของเซ่นไหว้วางอยู่ด้วย โดยระยะหลังพบว่า ตุ๊กตาปูนปั้นรูปม้าลาย จะมีจำนวนมากเป็นพิเศษ
    
              "ป๋อง" กพล ทองพลับ พิธีกรรายการลี้ลับชื่อดัง ให้เหตุผลถึงที่มาของตุ๊กตาปูนปั้นรูปม้าลาย ที่นิยมนำมาเซ่นไหว้ตามศาลเพียงตาต่างๆ โดยเฉพาะศาลเพียงตาที่มีที่ตั้งอยู่ตามริมถนนว่า เป็นไปตามความเชื่อ ซึ่งมีการเปรียบเทียบเรื่องความปลอดภัยเข้ากับทางม้าลาย ซึ่งมีลักษณะสีขาวสลับดำเหมือนกับม้าลาย นำมาสู่ความเชื่อว่า ถ้าถวายรูปปั้นม้าลายก็จะทำให้ปลอดภัยจากเรื่องอุบัติเหตุ
    
              "คงมีการเปรียบเปรยเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง ม้าลาย อาจเป็นสัญลักษณ์ของความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เป็นตัวแทนของความเชื่อที่ต้องการให้เดินทางปลอดภัย ส่วนชุดไทยสีต่างๆ หรือตุ๊กตานางรำ ตุ๊กตาปู่-ย่า ก็เป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่อดีต มีการทำกันมาเป็นทอดๆ" นายกพล กล่าว
    
              สอดคล้องกับ "หนู กันภัย" อาจารย์สักยันต์ชื่อดัง ซึ่งให้ความเห็นว่า คนไทยมักจะมองว่าเรื่องการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน มักจะมีภูติ ผี วิญญาณ อยู่ตรงที่เกิดเหตุ และจะมีการนำอาหารผลไม้ รูปปั้นตุ๊กตานางรำ ม้าลาย ชุดไทยมาถวาย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีความจำเป็นเลย การนำม้าลายมาตั้งวางไว้ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคล พอเริ่มจากคนหนึ่งคน เมื่อคนอื่นเห็นเข้าก็ทำตามจนเกลื่อนเต็มไปหมด
    
              "จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องเป็นม้าลาย เป็นม้าดำ ม้าแดง ได้หมด มันเป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่พอทำสักคนแล้วมีคนทำตาม มีความเชื่อว่า ที่ใดมีคนตายต้องนำพระไปอัญเชิญวิญญาณมีการปักธูปเทียน เครื่องของเซ่นไหว้ไว้ตรงนั้น คนก็เลยแห่กันไปไหว้ เอาม้าลาย รูปปั้นตุ๊กตานางรำไปไว้ตรงนั้นกลายเป็นความเชื่อไป” หนู กันภัย กล่าว