เปิดปมปัญหายืดเยื้อโต๊ะเจรจาดับไฟใต้
เปิดปมปัญหายืดเยื้อโต๊ะเจรจาดับไฟใต้
จั่วหัวเรื่องแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่า “มารา ปาตานี” (MARA Patani) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือ “กลุ่มเคลื่อนไหวปลดปล่อยปาตานี” จำนวน 6 กลุ่ม ที่รวมตัวกันเพื่อเป็น “องค์กรตัวแทน” พูดคุยดับไฟใต้กับรัฐบาลไทย ไม่ใช่ “ตัวจริง” แต่กำลังจะบอกว่า การพูดคุยสันติสุขหรือสันติภาพหรือเจรจาดับไฟใต้ แล้วแต่จะเรียกกันนั้น ทุกครั้งที่มีการริเริ่มหรือตกเป็นข่าว ก็จะเป็นความหวังและความฝันของผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องทนอึดอัดกับความขัดแย้งและความรุนแรงมานานกว่า 1 ทศวรรษ
ฉะนั้นหากกระบวนการพูดคุยล้มเหลว (อีก) คนในพื้นที่ก็ต้องผิดหวังซ้ำซาก จึงเป็นที่มาของบทความชิ้นนี้ ที่จะเขียนชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนและมุมมองเกี่ยวกับ “มารา ปาตานี” ของฝ่ายต่างๆ ตลอดจนแนวโน้มของกระบวนการพูดคุยสันติสุขภายใต้การนำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งโดยมากไม่เชื่อมั่นเลยว่าจะนำไปสู่การพูดคุยเจรจาเพื่อหาบทสรุปสู่สันติสุขชายแดนใต้ได้
เริ่มจาก 1.องค์ประกอบของ “มารา ปาตานี” เอง ซึ่งมาจากการรวมตัวกันของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยปาตานี 6 กลุ่ม คือ บีอาร์เอ็น พูโลย่อย 3 กลุ่ม บีไอพีพี และจีเอ็มพี แต่คำว่า “บีอาร์เอ็น” ในที่นี่ เป็น “บีอาร์เอ็น” ปีกที่เห็นด้วยกับการพูดคุยเจรจา เรียกว่าเป็น “สายพิราบ” ไม่มีกองกำลังในมือ ไม่ใช่ “บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต” ที่คุมและสั่งการนักรบในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างแท้จริง
ประเด็นนี้ คนใน “มารา ปาตานี” เองก็ยอมรับว่าเป็นจุดอ่อนของกระบวนการพูดคุย หากจะเดินหน้าต่อไป เพราะหนึ่งใน “คู่ขัดแย้งหลัก” ไม่ยอมเข้าร่วมวง
ที่สำคัญ แม้แต่พูโล 3 กลุ่มย่อยเอง ก็มีเจ้าหน้าที่รัฐไทยบางส่วนใหญ่ข้อมูลว่า ไม่มีกลุ่มของ นายซำซูดิง คาน ซึ่งคุมกองกำลังคนหนุ่มฉกรรจ์จำนวนหนึ่ง ที่ใช้ชื่อย่อว่า “พีแอลเอ” (PLA ; Patani Liberation Army) รวมอยู่ด้วย ขณะที่กลุ่มอื่นๆ บางกลุ่มมีสมาชิกเพียงไม่กี่คน อีกบางกลุ่มแม้จะมีนักรบอยู่ในสังกัดบ้าง แต่ก็น้อยกว่าบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต มาก
2.การรวมตัวกันในลักษณะ “องค์กรร่ม” หรือ Umbrella Corporation (ตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาเป็นองค์กรตัวแทน จากการรวมตัวกันแบบหลวมๆ ขององค์กรย่อยๆ หลายองค์กร) ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้นครั้งแรกในกรณีของ “มารา ปาตานี” แต่เคยเกิดมาแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อนในนาม “เบอร์ซาตู” หรือ ขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี ซึ่หงมี ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน เป็นประธาน (ก่อตั้งปี 2532) เพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มเคลื่อนไหวทุกกลุ่มในการพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทยอย่างเป็นเอกภาพ แต่สุดท้ายเบอร์ซาตูก็ล่มสลายไป โดยที่ไม่ได้ขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยอย่างมีนัยสำคัญ
ที่น่าสนใจก็คือ การล่มสลายของเบอร์ซาตู เป็นปัญหาการไม่ยอมรับกันเองภายใน โดยเฉพาะตัวของ ดร.วันกาเดร์ ขณะที่เจ้าตัวเป็นหัวหน้ากลุ่มบีไอพีพี ซึ่งกลุ่มดังกล่าวนี้ก็เป็น 1 ใน 6 กลุ่มที่รวมตันเป็น “มารา ปาตานี” ด้วย และแกนนำบีไอพีพีก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและเปิดตัว “มารา ปาตานี” ฉะนั้นหากจะกล่าวว่า “มารา ปาตานี” เป็นหนังม้วนเก่าที่มีสิทธิ์จบแบบเดียวกับ “เบอร์ซาตู” ก็สามารถกล่าวได้เช่นกัน ส่วนเรื่องจริงจะเป็นอย่างไรนั้น เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์
3.มุมมองของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยที่มีต่อ “มารา ปาตานี” ค่อนข้างเป็น “เชิงลบ” คือมองว่าไม่ใช่ “ตัวจริง” ที่คุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้ และมองว่าเป็นเพียงองค์กรที่ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียเซตขึ้นมาเพื่อให้ดูว่ากระบวนการพูดคุยสันติสุขมีความคืบหน้าเท่านั้น ทั้งๆ ที่คู่ขัดแย้งหลักจริงๆ อย่างบีอาร์เอ็น ยังไม่ยอมเข้าร่วมกระบวนการ
ด้วยเหตุนี้จึงมีข่าวกระเส็นกระสายมาตลอดว่า รัฐบาลไทยปฏิเสธการเปิดโต๊ะพูดคุยอย่างเป็นทางการกับ “มารา ปาตานี” ทั้งๆ ที่ “มารา ปาตานี” และผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียกำหนดแผนกันไว้ว่าจะเปิดตัวองค์กรนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคม และเปิดโต๊ะพูดคูยอย่างเป็นทางการครั้งแรกช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน แต่จนถึงวันนี้ทุกอย่างก็ถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด
ที่ผ่านมามีข่าวถึงขนาดว่า นายกฯ ประยุทธ์ ตีกลับแผนพูดคุยกับ “มารา ปาตานี” ด้วยซ้ำ
ขณะที่มีข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยว่า “มารา ปาตานี” มีองค์ประกอบหลักจากกลุ่มที่ร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย เพราะตัวแทนบีอาร์เอ็นที่อ้างว่าเข้าร่วมกับ “มารา ปาตานี” ก็เป็นคนของ นายฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงไทยตั้งคำถามมาตลอดว่า “เป็นตัวจริงหรือเปล่า” นั่นเอง
ทีมงานใกล้ชิด นายกฯ ประยุทธ์ บางส่วน มองในแง่ร้ายถึงขนาดว่า การเปิดตัว “มารา ปาตานี” เป็นการชิงจังหวะกดดันไทยของฝ่ายมาเลเซียและกลุ่มผู้เห็นต่างปีกที่หนุนการเจรจา ทำให้ฝ่ายไทยยื่นเงื่อนไขกลับไปให้ทดลองหยุดยิงช่วงเดือนรอมฎอนเป็นเวลา 1 เดือน หากทำได้จึงจะยอมเปิดโต๊ะพูดคุยอย่างเป็นทางการ
หากข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นจริง ย่อมสะท้อนว่า กระบวนการพูดคุยรอบใหม่ยังเป็นวุ้นอยู่เลย เพราะยังปราศจากความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันในการที่จะเดินหน้าสู่สันติสุข ระหว่างทางยังมีแต่การชิงจังหวะ ชิงความได้เปรียบทางการเมืองกัน ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยบั่นทอนกระบวนการสันติภาพ
4.ปัญหาในคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยเอง ประเด็นนี้แม้ไม่เคยตกเป็นข่าว แต่คนวงในที่ติดตามปัญหาชายแดนใต้ทราบดีว่า ในคณะพูดคุยฝ่ายไทยก็มีหลายปีก หลายแนวคิด บ้างก็ต้องการเปิดโต๊ะพูดคุยให้ได้ก่อน เพื่อสร้างกระแส โดยไม่สนใจว่าอีกฝ่ายเป็นตัวจริงหรือตัวปลอม บ้างก็ตั้งเป้าพูดคุยกับตัวจริงเท่านั้น ไม่ยอมยืดหยุ่นให้กระบวนการขยับเขยื้อนเลย ทั้งที่การเข้าถึง “ตัวจริง” ขององค์กรที่ปกปิดโครงสร้างอย่างบีอาร์เอ็นนั้น เป็นเรื่องยากมาก
นอกจากนี้ แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย ทำท่าจะถอดใจ เพราะกระบวนการพูดคุยดูจะเกิดยาก หรือหากเกิดได้ก็ต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะสำเร็จ ขณะที่อายุราชการเหลืออีกเพียงไม่กี่เดือนก็จะเกษียณแล้ว และเมื่อพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ก็ยังไม่ชัดว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะตีตั๋วต่ออายุให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยต่อไปหรือไม่
ที่สำคัญ แม้แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เอง ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะบริหารประเทศไปได้ถึงเมื่อไหร่ จุดนี้ก็กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเปราะบางที่ทำให้กลุ่มผู้เห็นต่างบางกลุ่มไม่สนใจเข้าร่วมพูดคุย
ภาพการเปิดโต๊ะพูดคุยอย่างเป็นทางการเหมือนสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเกิดขึ้นยากในยุครัฐบาล คสช.
แต่ก็ยังดีที่การพูดคุยระดับพื้นที่ ภายใต้การวางยุทธศาสตร์ของ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 เดินหน้าไปด้วยดี และสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้เห็นต่างทั้งที่อยู่นอกประเทศและในประเทศได้มากพอสมควร
ทั้งหมดนี้คือข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “มารา ปาตานี” และกระบวนการพูดคุยสันติสุขกับอนาคตของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคาดเดายากว่าจะเป็นอย่างไร !