11 ปีตากใบ : สูญเสียทุกฝ่าย...มีแต่พ่าย ไร้คนชนะ
26 ต.ค. 2558
11 ปีตากใบ : สูญเสียทุกฝ่าย...มีแต่พ่าย ไร้คนชนะ
บรรยากาศวันครบรอบ 11 ปี เหตุการณ์ตากใบในวันที่ 25 ตุลาคม 2558 ปรากฏว่าฝ่ายความมั่นคงได้เพิ่มกำลังรักษาความปลอดภัยและป้องกันเหตุรุนแรงอย่างเข้มงวดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 11 ปีก่อน
ตั้งแต่คืนก่อนหน้าวันที่ 25 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองได้ตั้งจุดตรวจจุดสกัดในการตรวจสอบยานพาหนะทุกชนิดทั้ง 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส โดยเฉพาะรถยนต์ต้องสงสัยเป็นรถกระบะ 3 คัน ที่ในทางการข่าวแจ้งว่าคนร้ายอาจนำไปบรรทุกระเบิดเพื่อทำคาร์บอมบ์ในพื้นที่เสี่ยง ย่านชุมชน และพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น อ.เมืองนราธิวาส อ.สุไหงโก-ลก เป็นต้น โดยรถที่ฝ่ายความมั่นคงเฝ้าระวังเป็นพิเศษมี 3 คัน คือ รถกระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นไทรทัน แบบสี่ประตู สีขาว ทะเบียนชลบุรี, รถกระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นไทรทัน แบบแค็บ สีดำ ทะเบียนยะลา และรถกระบะยี่ห้ออีซูซุ รุ่นดีแมคซ์ สี่ประตู สีบรอนซ์เงิน ทะเบียนกรุงเทพมหานคร
นอกจากตั้งด่านตรวจด่านสกัดแล้ว เจ้าหน้าที่ยังจัดชุดลาดตระเวนเดินเท้า เพื่อเสริมในการรักษาความปลอดภัยอีกด้านหนึ่งด้วย
ย้อนอดีตตากใบ
การเพิ่มมาตรการคุมเข้มเพื่อป้องกันเหตุรุนแรง เป็นปรากฏการณ์ปกติที่ฝ่ายความมั่นคงดำเนินการทุกปีในห้วงใกล้วาระครบรอบเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547
เหตุการณ์ดังกล่าวสืบเนื่องจากการชุมนุมประท้วงให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. จำนวน 6 ราย ที่ถูกทางการจับกุมดำเนินคดี เนื่องจากถูกคนร้ายปล้นอาวุธปืนที่ทางราชการแจกให้ เพราะสงสัยว่ารู้เห็นเป็นใจกับการทำให้อาวุธปืนถูกปล้นอย่างง่ายดาย
ทว่าการชุมนุมบานปลายจนกลายเป็นการรวมตัวของผู้คนหลายพันคน สุดท้ายเจ้าหน้าที่รัฐได้ตัดสินใจสลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธ เพราะเชื่อว่ามีความพยายามปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรง ผลจากการสลายการชุมนุมทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน จากนั้นได้จับกุมผู้ชุมนุมนับพันคน โดยวิธีถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง และนำขึ้นไปนอนเรียงซ้อนกันบนรถยีเอ็มซีของทหาร เจตนานำตัวไปสอบสวนต่อยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 180 กิโลเมตร ทำให้ผู้ชุมนุมอีก 78 ราย เสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้าย
เยียวยา 700 ล้าน
ประเด็นที่ไม่ค่อยมีฝ่ายใดพูดถึงนัก ก็คือความสูญเสียด้านชีวิตและร่างกาย เศรษฐกิจ ตลอดจนผลการดำเนินคดีหลังเกิดเหตุการณ์ตากใบ
จากการตรวจสอบพบว่า กรณีตากใบนั้น รัฐต้องจ่ายเยียวยาและค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบในทางคดีสูงถึงเกือบ 700 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.ยอดเงินเยียวยาที่จ่ายเมื่อปี 2556 ตามมติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวม 641,451,200 บาท แบ่งเป็น ผู้เสียชีวิต 85 ราย จ่ายรายละ 7.5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 561,101,000 บาท, ผู้ได้รับบาดเจ็บ 51 ราย จ่ายรายละ 1 ล้านบาทขึ้นไปตามอาการ รวมเป็นเงิน 60,455,000 บาท, ทุพพลภาพ 1 ราย เป็นเงิน 6,380,000 บาท, ผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วอัยการถอนฟ้อง 58 ราย เป็นค่าเยียวยาจิตใจ รายละ 3-5 หมื่นบาท เป็นเงิน 2,025,200 บาท และผู้ที่ถูกควบคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดี 1,280 ราย เป็นค่าขาดโอกาสในการทำมาหารายได้ รวม 11,490,000 บาท ส่วนนี้ยังจ่ายไม่ครบ เพราะมีผู้ที่ไม่กล้าออกมาแสดงตัวอีกจำนวนหนึ่ง
2.ค่าเสียหายทางแพ่งที่กองทัพบกจ่ายให้แก่ครอบครัวผู้สูญเสีย รวม 42 ล้านบาท
เหยื่อที่ยังต้องทนทุกข์
จนถึงปัจจุบันยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบที่ร่างกายพิการ ไม่สมบูรณ์ ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องอีก 8 ราย บางรายเสียชีวิตแล้ว ประกอบด้วย 1.นายมะตาราวี เจ๊ะมะ ขาไม่สามารถใช้การได้ตามปกติ เนื่องจากถูกกดทับเป็นเวลานานขณะถูกเคลื่อนย้าย 2.นายเจ๊ะยูฮารี ดอรอนิง ขาลีบจากการถูกกดทับเป็นเวลานาน 3.นายมะยูดีน อาแว มือลีบใช้การไม่ได้ 4.นายรอกิ มะหะมะ ขาลีบใช้การได้ไม่ปกติ 5.นายเจ๊ะกอเชม มัยเซ็ง มือหักไม่สามารถใช้การได้เหมือนเดิม 6.นายสานูสี เจ๊ะแม มือลีบเพราะถูกกดทับเป็นเวลานาน 7.นายแวดี มะโซ๊ะ ตาบอด ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว และ 8.นายมะรีกี ดอเล๊าะ แขนขาลีบ นิ้วมือผิดปกติไม่สามารถใช้การได้
สามคดีใหญ่สิ้นสุด
สำหรับคดีความจากเหตุการณ์ตากใบ มีคดีใหญ่ๆ 3 คดี เป็นคดีอาญา 2 คดี ประกอบด้วย
1.คดีผู้เสียชีวิต 78 ราย ระหว่างเคลื่อนย้ายโดยรถยีเอ็มซีของทหาร
ผลคดี : อัยการสั่งไม่ฟ้องหลังศาลมีคำสั่งในสำนวนชันสูตรพลิกศพว่าผู้ตายขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏว่าถูกใครทำให้ตาย แต่ไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายฟ้องคดีเอง
อย่างไรก็ดี เรื่องคำสั่งไต่สวนการตายนั้น มีประเด็นที่ต้องบันทึกไว้ คือ ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนชันสูตรพลิกศพ (หรือไต่สวนการตาย) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ว่าผู้ตายทั้ง 78 ราย ตายเพราะ “ขาดอากาศหายใจ” โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย ซึ่งแม้มีข่าวอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ตัดสิทธิผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีเอง
ทว่าตลอดมากลับไม่มีการยื่นฟ้องเอง สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะครอบครัวผู้สูญเสียหวาดกลัว ไม่อยากเป็นความกับรัฐ แต่ก็มีความพยายามขององค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่ชายแดนใต้ ผลักดันให้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายดังกล่าว และสู้กันจนถึงชั้นฎีกา สุดท้ายศาลฎีกามีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจรับคำร้องในเรื่องนี้ เพราะผู้เสียหายต้องไปยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนี้ (ซึ่งน่าจะพ้นเวลาที่กฎหมายเปิดช่องให้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งไต่สวนการตายไปนานแล้ว)
2.คดีที่รัฐฟ้องแกนนำ 58 ราย ปลุกปั่นยุยงให้เกิดการชุมนุมประท้วง
ผลคดี : อัยการถอนฟ้องตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
ส่วนคดีแพ่งมี 1 คดี คือ คดีที่ญาติผู้สูญเสียฟ้องหน่วยงานรัฐ ต่อมากองทัพบกเจรจาไกล่เกลี่ยยอมความ และจ่ายค่าเสียหายจำนวน 42 ล้านบาท
แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 1 ทศวรรษ แต่เหตุการณ์ตากใบก็ยังคงเป็นบาดแผลในใจของผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ปลายด้ามขวาน ผู้สูญเสียบางส่วนยังคงทุกข์ทรมาน ขณะที่รัฐเองก็สูญเสียทั้งงบประมาณและความเชื่อมั่น
ผลของเหตุการณ์นี้ไม่มีฝ่ายใดชนะ มีแต่พ่ายแพ้…