วอน'ประยุทธ์'ใช้ม.44ผ่าตัดอุดมศึกษาไทย
ประธานสภาคณาจารย์มองเหตุ 3 ดร.ราชภัฏพระนครเกิดจากปัญหาเรื้อรังของอุดมศึกษาไทย วอน 'ประยุทธ์'ใช้ม.44ผ่าตัด ญาติ 'ดร.วันชัย' งดแจกเอกสารปมยิง 2 ดอกเตอร์ ในงานศพ
ความคืบหน้ากรณี ดร.วันชัย ดนัยตโมนุท อายุ 60 ปี อาจารย์ประจำวิทยาลัยการฝึกหัดครู สาขาการบริหารการศึกษา หลักสูตรปริญญาโท มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองเสียชีวิตขณะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าปิดล้อมและเจรจาเพื่อให้มอบตัว เหตุเกิดที่โรงแรมสุภาพ ซ.สุทธิสารวินิจฉัย 1 แขวงและเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา หลังจาก ดร.วันชัยได้ก่อเหตุยิง ผศ.ดร.พิชัย ไชยสงคราม ประธานสาขาวิชาบริหารการศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และ ดร.ณัฐพล ชุมวรฐายี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เสียชีวิตอยู่ภายในห้องเลขที่ 502 ชั้น 5 อาคารเรียนรวมและศูนย์วัฒนธรรม พุทธวิชชาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เขตบางเขน กรุงเทพฯ เหตุเกิดเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 18 พฤษภาคม และเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ญาติๆ ได้นำศพ ดร.วันชัยไปประกอบพิธีสวดอภิธรรมศพ ที่วัดกลางคลองสี่ ศาลาปีกานนท์ ศาลา 1 ต.บึงลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี นั้น
ล่าสุดเมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 21 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศพิธีรดน้ำศพ ดร.วันชัย เป็นไปด้วยความโศกเศร้า และญาติขอความเป็นส่วนตัวและให้นักข่าวถ่ายภาพอยู่บริเวณรอบนอกศาลาสวดพระอภิธรรมเท่านั้น โดยจะมีการสวดพระอภิธรรมเป็นเวลา 3 คืน และจะมีพิธีฌาปนกิจศพในเวลา 16.30 น. วันที่ 24 พฤษภาคม
อย่างไรก็ตาม ทางญาติงดแจกเอกสารข้อความบันทึกลาตายของ ดร.วันชัย ที่เป็นกระดาษ A4 จำนวน 8 แผ่น ซึ่งเป็นข้อความบอกเล่าเรื่องราวความขัดแย้งของ ดร.วันชัย กับ ดร.พิชัย และ ดร.ณัฐพล ที่ญาติได้ทำสำเนาไว้ 200 ชุด เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง
ด้าน ผศ.ดร.รัฐกร คิดการ ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เปิดเผยว่า ขอเรียกร้องให้หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่บังคับบัญชาสถาบันอุดมศึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายกรัฐมนตรี สอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงและใช้การสูญเสียในครั้งนี้เป็นบทเรียน ทปสท.ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นับว่าเป็นการสูญเสียบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในคราวเดียวกันถึง 3 คน
ผศ.ดร.รัฐกร กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่สะสมอยู่ในสถาบันอุดมศึกษามาอย่างยาวนาน ทั้งด้านการบริหารงานที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีการแสวงหาทั้งอำนาจและผลประโยชน์ที่มิชอบ ขาดการกำกับดูแลและตรวจสอบที่ดี ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอุดมศึกษาโดยรวม หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ดำเนินการใดๆ ก็อาจจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงเช่นนี้อีก
หลักสูตรพิเศษ ปมขัดแย้ง มรภ.
ต่อกระแสเรียกร้องให้จัดสัมมนาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อหาทางออกปมขัดแย้งในสถาบันอุดมศึกษาไทยนั้น ผศ.ดร.รัฐกร กล่าวว่า เคยจัดสัมมนาร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชนมาแล้วถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ส่วนครั้งที่สองจัดที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากนั้นก็นำผลสรุปเสนอต่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกาาธิการ
ผศ.ดร.รัฐกร กล่าวอีกว่า ข้อสรุปที่ได้เริ่มจากสาเหตุปัญหาและปมขัดแย้งในสถาบันอุดมศึกษาไทยนั้น มาจากอธิการบดีและสภามหาวิทยาลัย ประเด็นอยู่ที่ถ้าสภากับอธิการบดีไปด้วยกันได้ ก็ผลประโยชน์ร่วมกัน ถ้าสภากับอธิการบดีขัดแย้งกันก็จะมีปัญหาในการบริหารมหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่อธิการบดีและสภาไปด้วยกัน เพราะว่าอธิการบดีเลือกนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการในสภาเลือกอธิการบดี เลือกกันไปมาก็กลายเป็นเอื้อผลประโยชนฺ์ โดยเฉพาะการเปิดหลักสูตรพิเศษที่ทำรายได้ดี อธิการบดีจะนำเสนอสภามหาวิทยาลัย ส่วนสภาเป็นฝ่ายอนุมัติให้เปิดหลักสูตรได้
“ผมยืนวันว่า การเปิดหลักสูตรพิเศษนำไปสู่ปมขัดแย้งในทุกมหาวิทยาลัย แต่ที่เป็นปัญหามากที่สุดอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เพราะ มรภ.เปิดหลักสูตรพิเศษสาขาบริหารการศึกษาที่มีจำนวนผู้เรียนมากที่สุด ผู้บริหาร ประธานสาขาหลักสูตร อาจารย์ที่สอน อาจารย์ที่ควบคุมวิทยานิพนธ์ ฯลฯ คนเหล่านี้จะได้รับค่าตอบแทนสูงมาก จนเกิดการร้องเรียน เพราะการเปิดหลักสูตรพิเศษเป็นการดำเนินการเฉพาะกลุ่มอาจารย์ เลือกเฉพาะพวกตัวเองมาเป็นกรรมการตรวจวิทยานิพนธ์หรือเป็นอาจารย์สอน จึงมีการร้องเรียนกันมากมาย ร้องเรียนทั้งด้านวินัย ร้องศาลปกครอง ร้องป.ป.ช. ฯลฯ แต่สุดท้ายก็เพียงยกเลิกคำสั่งสภา แต่ปัญหาความขัดแย้งยังอยู่” ผศ.ดร.รัฐกร กล่าว
ผศ.ดร.รัฐกร กล่าวถึงหลักสูตรพิเศษ การบริหารการศึกษา ระดับปริญญาโท ว่า หลักสูตรนี้ มีครูและผู้บริหารโรงเรียนนิยมมาเรียนกันมากที่สุด ส่วนมากระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เนื่องจากการเป็นผู้บริหารโรงเรียนในปัจจุบัน เป็นครูก็ไปสอบเป็นผู้บริหารโรงเรียนก็ได้ แต่บางคนที่มาเรียนเพราะไม่ได้เรียนสายครูจึงมาเรียนเพื่อไปสอบ เป็นหลักสูตรที่เปิดช่องให้คนอยากมาเรียน บางคนไม่ได้มาเรียนเพื่อเป็นผู้บริหารโรงเรียน แต่เรียนเพื่อต้องการคำนำหน้าว่า “ดอกเตอร์” ซึ่งการเรียนสาขานี้ไม่ยากเมื่อเทียบกับสาขาอื่นในระดับปริญญาโท เรียน 2 ปี ส่วนปริญญาเอกเรียน 3 ปี แต่มีมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งเปิดสอนหลักสูตรบริหารการศึกษาระดับปริญญาโทเรียนแค่ 1 ปี
วอน “ประยุทธ์” ผ่าตัดอุดมศึกษา
ผศ.ดร.รัฐกร กล่าวอีกว่า ทปสท.ได้เสนอทางออกต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่า ต้องเริ่มตั้งแต่มาตรฐานการสรรหาอธิการบดี การสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทุกขั้นตอนต้องมีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจตามหลักธรรมาภิบาล แต่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่กำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐ-เอกชน รวมถึงรัฐมนตรีมักจะอ้างว่าไม่มีอำนาจ เพราะเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งอนุมัติหลักสูตร งบประมาณ รัฐมนตรีทำอะไรไม่ได้ ขณะที่ปลายทางการประเมินผล สภาก็ไม่มีการประเมินผลใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำผิดก็ร้องศาลปกครอง ผลก็แค่ยกเลิกคำสั่งมติสภา ไม่มีโทษทางวินัยหรืออาญา ปัญหาอุดมศึกษาไทยจึงเรื้อรังมานานมาก
"ทางออกจริงๆ ณ วันนี้ ทปสท.ขอเรียกร้องและวิงวอนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลงมาดูแลแก้ไขปัญหาการอุดมศึกษาไทย แนะนำให้ใช้มาตรา 44 ผ่าตัดอุดมศึกษา เนื่องจากตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ที่ทบวงมหาวิทยาลัย(ม.รัฐ-เอกชน)ย้ายมาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ปรากฏว่าการอุดมศึกษาไทยไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐมนตรี เพราะรัฐมนตรีสนใจเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา แต่อุดมศึกษาถูกลอยแพมากว่า 10 ปี ผมและ ทปสท.เรียกร้องมาตลอด ทำไมไม่มีนายกรัฐมนตรีพบอาจารย์มหาวิทยาลัยบ้าง มีแต่นายกรัฐมนตรีพบเพื่อนครู อยากให้นายกฯ พบอาจารย์มหาวิทยาลัยจะได้รับฟังอุปสรรคปัญหาและทางออกอุดมศึกษาไทย” ประธาน ทปสท. กล่าว
ผศ.ดร.รัฐกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามหลักสากลแล้วสถาบันอุดมศึกษาต้องการเสรีภาพทางวิชการ ต้องมีอิสระ แต่ต้องมีระบบมาถ่วงดุล แต่สภาพสถาบันอุดมศึกษาไทยทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน ณ วันนี้ ไม่มีระบบถ่วงดุลเลย ทั้งที่ความจริงแต่ละมหาวิทยาลัยมีความซับซ้อนมากกว่าขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา มีความแตกต่าง หลากหลาย และซับซ้อนมาก
จี้ ศธ.สอบ มรภ.พระนคร
ด้าน รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) กล่าวถึงกรณีที่ ทปสท. เรียกร้องให้หน่วยงานที่ดูแลสถาบันอุดมศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการ สอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของ มรภ.พระนคร โดยเรียกร้องให้ปฏิรูปอุดมศึกษา เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นสะท้อนปัญหาการบริหารงานไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล การแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ว่า ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา เป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้ความสำคัญและพยายามดูแลมาตลอด ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่มี อาทิ มีการร้องเรียนว่าหลักสูตรการสอนไม่มีคุณภาพ ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เหล่านี้ สกอ.ก็จะมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องลงไปกำกับติดตาม ให้มหาวิทยาลัยแก้ไขเพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ถือเป็นหัวใจสำคัญ
“สำหรับ มรภ.พระนคร เนื่องจากขณะนี้สูญเสียอาจารย์และนักวิชาการอันทรงคุณค่าถึง 3 ราย ตรงนี้ในแง่ของจัดการศึกษา ผู้ที่ได้รับผลกระทบแน่นอนคือนักศึกษา ตรงนี้ สกอ.ก็จะติดตามการแก้ไขปัญหาของ มรภ.พระนคร อย่างจริงจัง ที่ต้องเร่งหาอาจารย์มาทำการสอนแทน เพื่อไม่ให้นักศึกษาได้รับความเดือดร้อน และเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรที่กำหนดจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา ที่ผ่านมา มรภ.พระนครได้รายงานให้ทราบเบื้องต้นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนที่ มรภ.พระนครมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนั้น ขณะนี้ สกอ.ยังไม่มีรายงานเข้ามา” รองเลขาธิการ กกอ. กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวว่า เหตุการณ์ใน มรภ.พระนคร เป็นเพียงปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษา แต่ก็สะท้อนถึงระบบการบริหารจัดการในสถาบันอุดมศึกษาที่เกิดปัญหาลักษณะนี้อยู่เป็นประจำและมีเกือบทุกสถาบัน ซึ่งกรณีนี้จบปัญหาด้วยวิธีดังกล่าวเป็นเพราะคนไม่มีที่พึ่ง ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้ามาช่วยรับผิดชอบ กำกับดูแล และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องการแต่งตั้งในตำแหน่งหน้าที่ระดับสูงในสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง ขอวอนหน่วยงานกลาง ไม่ควรวางเฉย มัวแต่อยู่บนหอคอยงาช้าง และผลักปัญหาให้บุคลากรจัดการกันเองอีกต่อไป