หนุนปลูกกัญชงเป็นพืชศก.-รัฐปลูก3ปีแรกชาวบ้านยังไม่มีสิทธิ์
ป.ป.ส.แจงส่งเสริมปลูก"กัญชง"เป็นพืชศก.เพื่อนำเส้นใยมาผลิตเสื้อผ้า-กระเป๋าฯ เผยทดลองปลูกแล้ว 6 จังหวัด 15 อำเภอ ระบุรัฐปลูก3ปีแรกชาวบ้านยังไม่มีสิทธิ์
ป.ป.ส. แจงส่งเสริมปลูก"กัญชง"เป็นพืชเศรษฐกิจ ระบุรัฐปลูก3ปีแรกชาวบ้านยังไม่มีสิทธิ์
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 ธันวาคม 2559 นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีการส่งเสริมการปลูกกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ ดังนี้ “เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ “กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชง หรือ เฮมพ์ (Hemp)” ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกกัญชง หรือ เฮมพ์ (Hemp) สำหรับการใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ใช้ในการทอเส้นใยผ้า และในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้กฎกระทรวงดังกล่าวอยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเมื่อประกาศฯ แล้วจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 360 วัน นับแต่วันประกาศ เป็นต้นไป
“โดยในระยะ 3 ปีแรกนับแต่วันประกาศ จะให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ขออนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง” และให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ประเมินผลเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า เหมาะสมหรือไม่ ที่จะอนุญาตให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลมายื่นขออนุญาต สาระสำคัญของกฎกระทรวง คือ สายพันธ์ กัญชง หรือ เฮมพ์ (Hemp) ที่จะปลูกได้ต้องมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol หรือ THC) ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง
วัตถุประสงค์ของการ ขออนุญาตกำหนดไว้เพื่อ 1. ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน 2. ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชย์ 3. ปลูกสำหรับการศึกษาวิจัย 4. ผลิตเมล็ดพันธ์สำหรับปลูกตามข้อ 1-3 5. เพื่อจำหน่ายเมล็ดพันธ์ ลำต้นสด หรือส่วนอื่นตามที่ได้รับอนุญาต 6. เพื่อใช้ประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษกำหนด โดยกำหนดให้ผู้รับอนุญาต ต้องมีแผนการผลิต การจำหน่าย การใช้ประโยชน์ตามขั้นตอนที่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งมีสถานที่รักษาเมล็ดพันธ์ตามวัตถุประสงค์ของการอนุญาต มีการตรวจวิเคราะห์เพื่อหาปริมาณสาร THC ในกัญชงที่ปลูก
ทางสำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มูลนิธิโครงการหลวง ได้ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทาง เพื่อเตรียมการรองรับ เมื่อกฎกระทรวงนี้ มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะเป็นมาตรการเพิ่มเติม สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง โดยดำเนินการเพื่อปรับปรุงพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์กัญชงที่มีปริมาณสาร THC ต่ำกว่าร้อยละ 0.5 และมีผลผลิตเส้นใยหรือปริมาณเมล็ดสูงและคุณภาพดี การส่งเสริมเกษตรกรปลูกเพื่อผลิตเส้นใยภายใต้ระบบควบคุมและการแปรรูป จากเส้นใยภายใต้ระบบควบคุมของรัฐ การพัฒนากระบวนการแปรรูปลดขั้นตอนและลดระยะเวลาในการผลิต รวมทั้งการปรับปรุงและออกแบบผลิตภัณฑ์จากกัญชงที่มีรูปแบบที่ทันสมัย
นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดเผยต่อว่า “สำนักงาน ป.ป.ส. จะนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ส. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว พร้อมทั้งจะกำหนดกลไกในการกำกับดูแลการปลูกกัญชงทั้งในระดับส่วนกลาง และในระดับพื้นที่ (จังหวัด/อำเภอ/ตำบล) ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ทดลองปลูกกัญชงเพื่อการวิจัยในด้านเมล็ดพันธุ์ การส่งเสริมการปลูกและการสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนากระบวนการแปรรูปจากเส้นใย โดยทดลองปลูกใน 6 จังหวัด 15 อำเภอ เท่านั้น คือ จังหวัดเชียงใหม่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่วาง แม่ริม สะเมิง แม่แจ่ม จังหวัดเชียงราย 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเทิง เวียงป่าเป้า แม่สาย จังหวัดน่าน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาหมื่น สันติสุข สองแคว จังหวัดตาก 1 อำเภอ คือ อำเภอพบพระ จังหวัดเพชรบูรณ์ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง หล่มเก่า เขาค้อ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน 1 อำเภอ คือ อำเภอเมือง”
นายศิรินทร์ยา เปิดเผยอีกด้วยว่า การปรับแนวทางการควบคุมและกำกับดูแลการปลูกกัญชง โดยการส่งเสริมกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อนำเส้นใยมาผลิตเสื้อผ้า กระเป๋าฯ นั้น ยังคงมีการควบคุมจากภาครัฐ โดยมีการกำหนดการขออนุญาตปลูก พื้นที่ปลูก และให้ใช้ประโยชน์ได้เฉพาะตามที่ได้รับอนุญาต และต้องมีการตรวจวัดปริมาณสาร THC ของกัญชงที่ปลูก ต้องไม่เกิน ร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำกัญชงไปใช้ในทางที่ผิด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงให้มากขึ้นด้วย