ข่าว

เปิด 'ไทม์ไลน์' บุ้ง ทะลุวัง 'อดอาหาร เข้าเรือนจำ นอน รพ.'

เปิด 'ไทม์ไลน์' บุ้ง ทะลุวัง 'อดอาหาร เข้าเรือนจำ นอน รพ.'

15 พ.ค. 2567

'กรมราชทัณฑ์' แจง 'ไทม์ไลน์' ช่วงเวลา 'บุ้ง ทะลุวัง' อดอาหาร เข้าเรือนจำ 'ส่งตัวไปรักษาที่ รพ.' ก่อนและหลัง 'เสียชีวิต'

กรมราชทัณฑ์ แจงไทม์ไลน์ ขณะ บุ้ง ทะลุวัง อดอาหารอยู่ในเรือนจำ และเสียชีวิต

วันที่15พ.ค.2567 ที่ กรมราชทัณฑ์ นพ.สมภพ สังคุตแก้ว ผู้ตรวจราชการ กรมราชทัณฑ์ , นางอาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง  และนายแพทย์พงศ์ภัค อารียาภินันท์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แถลงกรณี น.ส.เนติพร เสน่ห์คง หรือ บุ้ง ทะลุวัง นักกิจกรรมทางการเมือง เสียชีวิต เมื่อวันที่14พ.ค.2567 ที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยการ เสียชีวิต อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมราชทัณฑ์

 

นพ.สมภพ ผู้ตรวจราชการ กรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า จากกรณีเสียชีวิตดังกล่าว รัฐบาลขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ รับตัว น.ส.เนติพร มาควบคุมไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2567 โดยขณะนั้น น.ส.นิติพรได้อดอาหารอยู่แล้ว

 

ทัณฑสถานหญิงกลาง เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพบว่ามีอาการอ่อนเพลีย จากภาวะอดอาหาร จึงได้ส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ทันตสถานหญิงกลาง

จากนั้น วันที่29ก.พ.2567- วันที่8มี.ค.2567 ได้ส่งตัวเข้ารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จากอาการอ่อนเพลีย

 

วันที่8มี.ค.2567- วันที่ 4เม.ย.2567 ย้ายตัว น.ส.เนติพร ไปรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นเวลา 27 วัน และมีรายงานว่าปฏิเสธการรับสารอาหาร ยาบำรุงเลือดต่างๆ และยังอยู่ในภาวะทั่วไป ที่สามารถรับประทานอาหารเองได้ จึงมองว่าไม่น่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น แพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จึงมีหนังสือส่งตัวกลับมารักษาตัวที่ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากเห็นว่าสามารถรักษาต่อได้

 

หลังจาก น.ส.เนติพร กลับมาจาก รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สามารถรับประทานอาหารได้บ้างตามลำดับ ทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้จัดให้พักในห้องผู้ป่วยรวม ที่มีน.ส.ทานตะวัน เพื่อนสนิทพักอยู่ด้วย

 

ยืนยันว่าแพทย์และพยาบาลได้เฝ้าตรวจรักษาอาการอยู่ตลอดเวลา ขณะนั้นพบว่า น.ส.เนติพร รู้สึกตัวดีมีอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

จนกระทั่งวันที่14พ.ค.2567 เวลาประมาณ 06.00 น. น.ส.เนติพร  มีอาการวูบและหมดสติ ขณะกำลังพูดคุยกับ น.ส.ทานตะวัน เจ้าหน้าที่จึงได้ช่วยเหลือและกระตุ้นหัวใจทันที พร้อมประสานส่งตัวไปที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จนกระทั่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา

 

ขอยืนยันว่า กระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ ให้ความสำคัญตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิขั้นพื้นฐาน และหลักนิติธรรม เฝ้าระวังและดูแลรักษาอาการของ น.ส.เนติพร อย่างใกล้ชิด และเพื่อความโปร่งใสกระทรวงยุติธรรมได้ในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเรื่องสาเหตุการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร  ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตจะชี้แจงให้ทราบเมื่อผลการชันสูตรออกมาอย่างชัดเจน

 

สำหรับอาการของ น.ส.เนติพร นั้น นพ.สมภพ กล่าวว่า ก่อนจะเกิดภาวะช็อก น.ส.เนติพร มีอาการปกติทุกอย่าง และขณะที่รักษาตัวอยู่ที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ก็มีรายงานว่าปฏิเสธการรับสารอาหาร ยาบำรุงเลือด ต่างๆด้วยเช่นกัน และยังอยู่ในภาวะทั่วไปที่สามารถรับประทานอาหารเองได้ จึงมองว่าไม่น่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น และในเช้าวันเกิดเหตุก็ยังสามารถคุยกับ น.ส.ทานตะวัน ได้ตามปกติ กล่าวเพียงว่ามีอาการปวดหัว

 

สำหรับแนวทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ต่อผู้ต้องขังที่มีเจตนารมณ์อดอาหารนั้น นพ.สมภพ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นจะส่งนักจิตวิทยาเข้าไปพูดคุยและโน้มน้าว แต่หากผู้ต้องขังยังยืนยันเจตนาเดิม ทางกรมราชทัณฑ์ก็จะใช้แนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ ทั้งด้านจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์เข้าประเมินร่างกาย หากพบว่าเกิดภาวะที่มองว่าน่าจะเกิดอันตราย เกินศักยภาพของสถานพยาบาลเรือนจำก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่าย

 

ด้าน นพ.พงศ์ภัค อารียาภินันท์ ผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กล่าวว่า ตั้งแต่หลังวันที่4เม.ย.2567ที่กลับจาก รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ น.ส.เนติพร ยังคงมีอาการอ่อนเพลีย สามารถรับประทานอาหารได้บ้างตามลำดับ เช่น ข้าวต้ม ไข่เจียว โดยจัดหาอาหารให้ทั้ง 3 มื้อ

 

ยืนยันว่า ที่ผ่านมามีการแนะนำ น.ส.เนติพร ตลอดว่า การอดอาหารอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่ซึ่ง น.ส.เนติพร รับทราบอย่างต่อเนื่อง แต่ยังยืนยันในแนวทางเดิม โดยมีเจตจำนงที่จะปฏิเสธรับเกลือแร่หรือวิตามิน ยืนยันว่าให้การรักษาและดูแลตามมาตรฐาน ก่อนเกิดเหตุไม่มีภาวะวิกฤต

 

อย่างไรก็ตาม ในการนำตัว น.ส.เนติพร ไปยัง รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ นั้น ไม่ได้ใช้ เครื่อง AED  หรือเครื่องกระตุ้นหัวใจ เพราะไม่มีข้อบ่งชี้