บ้านหลังแรก“อ.ศิลป์ พีระศรี”
เปิดบ้านประวัติศาสตร์หลังแรกที่อาจารย์ศิลป์พำนักหลังทำสัญญาจ้างทำงานกับรัฐบาลสยาม
เป็นที่รู้จักกันดีว่า ศ.ศิลป์ พีระศรี เป็นประติมากรเอกผู้ทุ่มเทและอุทิศตนเพื่อศิลปะมาตลอดชีวิต และเป็นผู้มีคุณูปการมุ่งมั่นทำงานรับใช้แผ่นดินสยาม จนมีผลงานศิลปะทรงคุณค่ามากมายที่เห็นจนทุกวันนี้ และนายช่างฝรั่งผู้นี้เปรียบเสมือนบิดาผู้ก่อกำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปากร
การเปิดบ้านอาจารย์ฝรั่ง คอร์ราโด เฟโรจี หรือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี บ้านประวัติศาสตร์หลังแรกที่อาจารย์ศิลป์พำนักหลังทำสัญญาจ้างทำงานกับรัฐบาลสยาม ซึ่งเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของท่านในโลกตะวันออก นับเป็นความพยายามฟื้นเรื่องชีวิตที่บ้าน เรื่องการทำงานออกแบบให้ประเทศสยามเจริญทัดเทียมนานาประเทศ ไว้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ โดยมีกองทัพบก มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลี ประจำประเทศไทยเป็นแม่ทัพใหญ่ทำการนี้ให้สำเร็จ
บ้านหลังแรกของ ศ.ศิลป์ พีระศรี อาคารประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญ
ฤกษ์เปิดบ้านอาจารย์ฝรั่ง เมื่อวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ก็มีความหมาย เพราะย้อนไปเมื่อ 93 ปีก่อน ในวันที่ 14 มกราคม 2467 อาจารย์ฝรั่ง ภริยา และลูกๆ แม่บ้าน ผู้ช่วยแม่บ้าน คนเลี้ยงเด็ก คนขับรถ และสุนัข เดินทางมาพักที่นี่ เป็นอาคารบริวารของบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ อยู่ติดถนนราชวิถี โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนบ้านหลังนี้เป็นโบราณสถานอายุเก่าแก่ 94 ปี ปัจจุบันตั้งอยู่ในความดูแลของสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ถนนราชวิถี แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต หรือที่ซังฮี้นั่นเอง
เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย-พล.อ.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล- ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช
พล.อ.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า บ้านของ ศ.ศิลป์ พีระศรี แห่งนี้ เป็นบ้านของตระกูลไกรฤกษ์ ตามที่รัฐบาลสยาม โดยความตกลงกับรัฐบาลอิตาลีได้ว่าจ้างท่านเข้ามาดำรงตำแหน่งนายช่างปั้น แห่งศิลปากรสถาน กระทรวงวังในขณะนั้น ด้วยวัยเพียง 32 ปี ถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในเขตพื้นที่ของสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก เป็นแหล่งรวบรวมเรื่องราวการดำเนินชีวิตและการทำงานของ ศ.ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทย ที่ไม่เพียงแต่เป็นผู้ริเริ่มรากฐานความรู้ด้านศิลปะตะวันตกในประเทศไทยเท่านั้น หากยังสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่วงการศิลปะไทยให้เจริญก้าวหน้าจนทุกวันนี้ ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลและครูผู้อุทิศตนในการพร่ำสอนลูกศิษย์ให้มีความรู้ ความสามารถ และความเข้าใจในศิลปะอันเป็นแบบอย่างให้ผู้ที่รักงานศิลปะได้นำแนวคิดการทำงานของท่านไปศึกษา ต่อยอด และเป็นแบบแผนดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต ขอบคุณมหาวิทยาลัยศิลปากรที่สนับสนุนการเปิดบ้านอาจารย์ฝรั่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์
ด้าน ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดี มศก. กล่าวว่า การค้นพบบ้านอาจารย์ฝรั่งที่ซังฮี้จะช่วยเติมเต็มเรื่องราว ศ.ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ยังไม่มีใครรู้ เดิมบ้านเช่าหลังนี้ตั้งอยู่บนที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ มหาดเล็กส่วนพระองค์ ให้สร้างที่อยู่ บ้านหลังใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมแบบวิคตอเรียนเรเนอซองส์งดงาม ช่างก่อสร้างชุดเดียวกับที่สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วยังมีบ้านหลังรองลงมาอีก 3 หลัง โดยหลังที่ 3 เป็นบ้านที่จัดหาให้อาจารย์ศิลป์พัก ท่านพักที่นี่ 8 ปี ก่อนจะย้ายไปบ้านที่สีลม และสะพานควาย ลูกชาย บีโน โรมาโน ก็เกิดในบ้านหลังแรกนี้
“ท่านเป็นคนทำงาน ขยัน ช่วงที่พักบ้านซังฮี้ตรงกับในช่วงสร้างสรรค์พระบรมราชานุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สะพานพุทธ สถานที่แห่งนี้สำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นบ้านหลังเดียวของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ยังหลงเหลืออยู่ อาคารอนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์ ถ้าผลักดันให้เป็นพิพิธภัณฑ์ก็น่าสนใจ มีความแตกต่างจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ที่เป็นบรรยากาศห้องทำงาน แต่ที่นี่คือ บ้านของอาจารย์ ให้คนมาเที่ยวชมและรำลึกถึงอาจารย์ศิลป์ได้"ผศ.ชัยชาญ กล่าว
ด้าน นิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กล่าวว่า การเปิดบ้านอาจารย์ฝรั่ง ซึ่งเป็นอาคารประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับประติมากรเอก ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์แห่งใหม่ แต่ถ้าจะให้ผู้เข้าชมรับรู้เรื่องราวและความสำคัญของอาจารย์ศิลป์จะต้องดำเนินการในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ ขณะนี้ทดลองสื่อสารผ่านการจัดแสดงภาพถ่ายผลงานสร้างสรรค์และภาพอาจารย์ฝรั่งและครอบครัวครั้งพำนักในบ้านซังฮี้
“หลังจากนี้ถ้าจะเดินต่อเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ต้องทำงานวิจัย สมาคมนักศึกษาเก่า ม.ศิลปากร ก็เห็นตรงกัน จะค้นหาเรื่องราวในบ้าน มุมทำงาน มุมสเก็ตช์ภาพ เป็นการคืนภาพ คืนบรรยากาศ เหมือนสมัยที่อาจารย์ศิลป์อยู่ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและถ่ายทอดความเป็นบุคคลสำคัญของสังคมไทย สมัยรัชกาลที่ 5 มีการเปิดประเทศ ปฏิรูปบ้านเมืองให้สวยงามตามตะวันตก อนุสาวรีย์และประติมากรรมเป็นพระบรมราโชบายของพระองค์ ท่านเป็นหนึ่งในนายช่างและสถาปนิกต่างประเทศที่เข้ามาเนรมิตเมืองให้งดงาม ไม่น้อยหน้าจนทุกวันนี้” นิตยา เสนอแนวทางจัดทำพิพิธภัณฑ์คืนชีวิตให้บ้านหลังประวัติศาสตร์ทิ้งท้าย