"Burn-Out Syndrome" ภัยเงียบของคนทำงาน
Burn-Out หมายถึง การทำงานหนักมากเกินไปและไม่ได้สัดส่วนกับการพักผ่อนจนเกิดอาการ เช่น สมองไม่แล่น ความจำไม่ดี อ่อนเปลี้ยเพลียแรง นอนไม่หลับ เหมือนเครื่องยนต์ที่วิ่งไม่หยุดจนทำให้เครื่องร้อนจนหม้อน้ำเดือด ทำงานจนหมดพลัง ไม่มีประจุเก็บไว้ใช้งาน
นักจิตเวชชาวอเมริกัน เฮอร์เบิร์ต เจ ฟลอยเดนเบอร์เกอร์ ได้นำชื่อ Burn out มาใช้ในการรักษาทางจิตเวช เมื่อปี 1974 ซึ่งก็คือโรคจิตทางหนึ่ง ซึ่งมักเกิดกับคนที่ตั้งความหวังไว้สูงเกี่ยวกับตัวเอง และต้องการความเพอร์เฟกต์ จนก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางร่างกายและจิตใจ
สัญญาณแรกเริ่มของโรค Burn-Out เป็นอย่างไร รู้สึกเบื่องาน นอนไม่หลับ เครียด ไม่มีความสุข ไม่สนุกกับงาน คือต้องแยกจากโรคซึมเศร้าและโรคเครียดซึ่งมีอาการคล้ายๆ กัน แต่มีสาเหตุที่แตกต่างกัน อย่างโรคเครียดก็มีสาเหตุของโรคอย่างชัดเจน เช่น เครียดจากเศรษฐกิจ เครียดเรื่องลูก กลัวภรรยาหรือสามีไม่ได้ดั่งใจ หรือภรรยากลัวสามีไปมีคนอื่น ลูกเรียนไม่ดีก็ทำให้พ่อแม่กลุ้มใจ ส่วนอาการซึมเศร้าก็จะมีสาเหตุทำให้ซึมเศร้า เช่น การสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินเงินทอง หน้าที่การงาน ตำแหน่ง ฯลฯ อีกส่วนหนึ่งของโรคซึมเศร้าก็เกิดจากสารเคมีในสมองผลิตน้อยเกินไป หรือจากกรรมพันธุ์ พอถึงเวลาเป็น ก็จะเป็นขึ้นมา ส่วนโรค Burn-Out จะเกี่ยวกับการทำงานโอเวอร์เกินไป ใช้เวลาทำงานเยอะเกินไป คือมีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
ทำไมจึงเกิดอาการ Burn-Out ได้ เมื่อคนเราทำงานมากกว่าสัดส่วนของการพักผ่อนก็เกิดอาการนี้ได้ คือเราควรทำงานแล้วพัก เช่น ทำงานหนึ่งชั่วโมง เราก็ควรใช้สมอง 45 นาที แล้วก็พัก 10-15 นาที สมองก็จะได้พัก ได้ขจัดเมตาบอลิซึ่มของเสียต่างๆ ออกไป หมุนเวียนเอาวัตถุดิบใหม่เข้ามา ควรหมุนเวียนเช่นนี้ทุกๆ ชั่วโมง การงานก็เหมือนกัน ทั่วโลกเขาทำงานกัน 5 วันพัก 2 วัน ในสัปดาห์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ว่า Burn-Out นี่มันไม่ได้สัดส่วนที่ควรจะเป็นตามที่ธรรมชาติต้องการ คือทำงานมากเกินไปจนไม่มีเวลาหยุดพัก หรือหยุดพักไม่เพียงพอก็จะหมดเรี่ยวแรง หมดพลัง
ถ้าเราปล่อยให้ Burn-Out ไปเรื่อยๆ จะส่งผลอย่างไร ก่อให้เกิดโรคที่เป็นไปได้มากกว่า 100 โรค สุดท้ายก่อให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น โรคเกี่ยวกับหู โรคหัวใจหรืออัมพฤกษ์ อัมพาต สัญญาณแรกก็คือ หมดพลัง หมดความกระตือรือร้น เฉื่อยชา บางคนเป็นโรคซึมเศร้าตามมาได้ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ความจำแย่ลง ขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย ร่างกายอ่อนเปลี้ยไม่ค่อยมีแรง นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ประสาทเครียด ความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อสูง ซึ่งส่วนมากคนที่เป็นโรค Burn-Out ก็มักหาทางออกปลอบจิตตัวเองด้วยการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป กินยานอนหลับ กินอาหารมากเกินไป และสูบบุหรี่มากเกินไป
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเริ่มเป็น Burn-Out แล้ว เริ่มรู้สึกว่าการทำงานไม่เหมือนเดิม สมาธิในการทำงานและความตั้งใจในการทำงานต่างๆ ลดลง มีอาการข้างเคียงอื่นๆ เช่น ความจำไม่ดี นอนไม่ค่อยหลับ ซึ่งต้องมีสาเหตุมาจากการทำงานที่โอเวอร์เกินไป ไม่ได้หมายถึงสาเหตุอื่นๆ
ผู้หญิงไทยน่าเสี่ยงกับการเป็นโรค Burn-Out Syndrome เพราะต้องทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน วันเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่ได้หยุด
จริงๆ แล้วคนไทยมักมีอาการ Burn-Out โดยไม่รู้ตัว เพราะคนไข้ที่มาพบจิตแพทย์ส่วนใหญ่มักเลยเถิดไปถึงโรคซึมเศร้าแล้ว นอกจากนี้ สังคมและวัฒนธรรมไทยมีส่วนทำให้ผู้หญิงต้องยอมรับ ต้องเงียบๆ หัวอ่อน ไม่มีปากมีเสียง โอกาสจะเข้าข่ายเป็น Burn-Out Syndrome ก็จะสูง การที่ผู้หญิงต้องแบกภาระมากมายก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงเป็นโรคจิต โรคเครียด โรคประสาทเยอะกว่าเพศชาย ทางจิตเวช ผู้หญิงจึงมีมากกว่าผู้ชายสองเท่า บางโรคสามสี่เท่า ฉะนั้น คนไทยในสังคมเมืองจึงมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงมาก และมักเป็นกับคนวัยทำงานและกับวัฒนธรรมการทำงาน อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก เพราะคนญี่ปุ่นทำงานกันตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม ด้วยเหตุนี้ ชายญี่ปุ่นจึงเข้าคลับเข้าบาร์หรือเล่นเกมหลังเลิกงาน ไม่ตรงกลับบ้านเพราะเครียดกับงานมาก
เราควรรักษาอาการ Burn-Out ของตัวเองอย่างไร ให้ความสมดุลกับจิตใจ เช่น ตรึกตรองว่า ฉันได้พลังมาจากไหนแล้วฉันจะใช้พลังเพื่ออะไรบ้าง คุณภาพชีวิตของฉันเป็นอย่างไร ระหว่าง 0 (แย่มาก) -10 (ดีมาก) ปัจจัยก่อให้เกิดความเครียดแล้ว ฉันจะหลีกเลี่ยงความเครียดได้อย่างไร ฉันใช้จ่ายเงินอย่างไร จุดมุ่งหมายก็คือ การมีความสุขในชีวิตมากขึ้น เราควรใส่ใจกับสุขภาพร่างกายและจิตใจของตัวเอง ข้อแนะนำก็คือ การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เช่น จ๊อกกิ้ง ขี่จักรยาน หรือออกกำลังกายกับคนหมู่คน เช่น เล่นวอลเลย์บอลและเทคนิคการผ่อนคลายอื่นๆ หรือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ
ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่มีอาการ Burn-Out Syndrome การทำงานและการพักผ่อนของคนเราควรได้สัดส่วน ซึ่งสัดส่วนที่พอดีของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน บางคนอาจจะมากหรือบางคนอาจจะน้อย เพราะบางคนใช้เวลาทำงานสั้นๆ แต่มีประสิทธิภาพสูงก็มี ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลในการจัดความสำคัญของงานว่างานใดควรทำก่อนทำหลัง หากจัดสรรเวลาได้ดี เราควรมีกิจกรรมคลายเครียด เช่นมีเครือข่ายญาติพี่น้องเพื่อนฝูงไว้พูดคุยหรือออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายทางจิตวิทยาถือว่าเป็นการให้คุณค่าแก่ตัวเราเอง ควรรู้จักปฏิเสธบ้าง ข้อเสียของคนไทยคือปฏิเสธไม่เป็น ถ้าเรารู้จักปฏิเสธก็จะไม่เกิดอาการ Burn-Out หรือเกิดช้า
โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719