วิษณุเผยประชามติตัดคนอยู่นอกประเทศ
วิษณุเผยประชามติตัดคนอยู่นอกประเทศ ชี้เหตุทำให้ยุ่งยากแถมสิ้นเปลือง
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 12 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายหลังการเชิญตัวแทน 3 ฝ่าย กกต. สำนักงบประมาณ และกรมการปกครอง มาหารือ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า เป็นการซักซ้อมทำความเข้าใจ เพื่อทำข้อตกลงซึ่งได้ความว่า สุดท้ายกกต.ต้องไปออกกฎ กติกา ในการออกเสียงประชามติ ที่จะต้องไปออกประกาศการทำประชามติที่จะเสนอให้ สนช. เห็นชอบ ส่วนการออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักร ตนได้เสนอกกต.ไปว่าไม่ต้องทำก็ได้ เนื่องจากสิ้นเปลืองงบประมาณและเสียเวลา จะเกิดความยุ่งยาก โดยเฉพาะการแจกตัวร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องแจกให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือน เพราะถ้าไปต่างประเทศก็แจกไม่ได้อยู่ดี แล้วการมาใช้สิทธิก็คงลำบาก ก็ให้ตัดออกไป
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า การออกเสียงลงประชามติล่วงหน้าครั้งนี้ก็ให้ทำได้ แต่ให้ทำในวันเดียวกันกับการลงประชามติ ไม่ใช่ 7 วันก่อนการออกเสียงประชามติ ไม่เช่นนั้นจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาอีก ในการตั้งคณะกรรมการตรวจนับบัตร ซึ่งก็คือเป็นการลงประชามติเพียงวันเดียว ส่วนเรื่องของเวลาเปิดหีบ อาจจะไม่เหมือนเวลาในการเลือกตั้ง ที่ใช้เวลา 08.00 น.-15.00 น. ซึ่งการทำประชามติครั้งที่ผ่านมามีการเปิดให้ลงประชามติถึง 16.00 น. แต่ก็ต้องดูด้วยว่า จะมีการถามคำถามกี่ข้อ เพราะถ้าถามหลายข้อก็ต้องใช้เวลานับ เพราะถ้าปิดก่อน 16.00 น. แล้วต้องไปแยกหีบในการนับ เดี๋ยวจะมืดเร็ว จะถูกโวยวายว่ามีการทุจริต แต่อย่างไรก็ตามก็ประมาณเวลาไว้ที่ 16.00 น. ส่วนเรื่องของการแจกร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องแจกให้ได้ 80 เปอร์เซนต์ ก็มีการพูดถึงปัญหาในเรื่องของโรงพิมพ์และกระดาษ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งกำหนดให้พิมพ์เฉพาะตัวร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ให้มีการพิมพ์โฆษณาชวนเชื่ออื่นๆ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับทางโรงพิมพ์ จะพูดคุยต่อเมื่อถึงวันที่ 4 กันยายน 2558 ส่วนเรื่องวันลงประชามติก็ไม่ได้ขัดข้องว่าจะต้องเป็นวันที่ 10 มกราคม 2559 แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าต้องล็อคตายตัว เพราะขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะแจกร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์วันไหน ซึ่งอาจจะบวกลบได้อีกเล็กน้อยถึงวันที่ 17 มกราคม 2559 อย่างไรก็ตาม จะให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กกต. กระทรวงมหาดไทย ไปรษณีย์ ในการประสานงานเพื่อให้การดำเนินการออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า การแจกร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนอ่านเองคงยากจะเข้าใจ จึงเป็นหน้าที่ของกมธ.ยกร่างฯ จะได้อธิบายและสร้างความเข้าใจต่อประชาชนก่อนลงคะแนนประชามติ และกกต.ได้แนะนำว่าอาจต้องเปิดเวทีกลางให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่างในร่างรัฐธรรมนูญได้ดีเบตกันผ่านโทรทัศน์ถึงข้อดีข้อเสีย ไม่ใช่ให้แต่ละฝ่ายไปตั้งเวทีพูดกันเอง ไม่เช่นนั้นก็จะพูดในทำนองไม่ให้รับหรือไม่ให้เชื่อ
นายวิษณุ กล่าวต่อไปอีกว่า การนับคะแนนประชามติให้ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว สมมติว่ามาใช้สิทธิจำนวน 20 ล้านคน ก็จะนับคะแนนแค่ครึ่งของผู้มาใช้สิทธิ จะไม่เหมือนการทำประชามติอื่นๆ ที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการทำประชามติ พ.ศ. 2552 เขียนไว้ว่า เวลาจะถามเรื่องอะไรถ้าคนมาใช้สิทธิไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ มตินั้นจะใช้ไม่ได้ทั้งหมด แต่เมื่อมาถึงครึ่งหนึ่งแล้วให้นับครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ เมื่อมีผู้มีสิทธิลงประชามติ 49 ล้านคน จะมาเท่าไหร่ก็แล้วแต่ หรือถ้ามาเพียง 20 ล้านคน โหวตเท่าไหร่ก็เท่านั้นนับเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ
นายวิษณุ ยังกล่าวอีกว่า ตนได้บอกไปว่าบัตรออกเสียงอย่างมากสุด มี 3 ใบ หรืออาจจะมี 1 - 2 ใบก็ได้ เพราะสปช. กับสนช. อาจจะไม่ส่งคำถาม หรือส่งมาแต่ครม.ไม่เลือก ทั้งนี้ถ้ารวมเป็นใบเดียวก็แยกบัตรเสียไม่ได้ จึงนับคะแนนลำบาก จึงมีการแยกเป็นหลายบัตรและหลายหีบเลือกตั้ง รวมถึงแยกคนที่จะนับคะแนน ส่วนงบประมาณอยู่ที่ 2,667 ล้านบาท ซึ่งประหยัดไปได้มาก เพราะไม่มีการลงประชามตินอกราชอาณาจักรที่ต้องใช้งบประมาณถึง 400 ล้านบาท ส่วนของกกต.จังหวัด จะให้เข้ามามีส่วนในการดำเนินการออกเสียงประชามติหรือไม่นั้น ต้องดูเนื่องจากกกต.จังหวัดกำลังจะหมดวาระกว่า 60 จังหวัด ถ้าตั้งขึ้นมา ก็จะอยู่ยาวไป 4 ปี อาจจะไม่มีอะไรทำ แต่ต้องจ่ายเงินเดือนตลอด ซึ่งอาจจะคิดว่า ไม่ต้องถึงขั้นตั้งใหม่ แต่จะทำอย่างไรนั้น ให้กกต.ไปคิดอยู่
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า การรณรงค์ประชามติกำลังให้กกต.ไปช่วยคิด โดยหลักกกต.จะเป็นผู้รณรงค์ จะไม่มีอะไรมากไปกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำถาม ซึ่งทุกคำถามจะใช้เกณฑ์เดียวกันคือใช้เสียงข้างมากของผู้ที่มาใช้สิทธิ ดังนั้นจึงต้องตั้งคำถามออกมาในรูปแบบที่ว่า เห็นชอบ/ไม่เห็นชอบ หรือ รับ/ไม่รับ หรือว่า ใช่/ไม่ใช่ เพราะคำถามประชามติสามารถถามได้หลายอย่าง รวมถึงถามว่า เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่งไม่รู้ว่าใครอยากถามเรื่องนี้หรือไม่ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะถามอะไร สุดท้ายแล้วทั้งสปช.และสนช.ก็ต้องไปโหวตให้เหลือเพียงสภาละ 1 คำถาม จากเดิมที่คิดว่าจะให้ส่งได้หลายคำถาม แต่ถ้าส่งมา รัฐบาลคงปวดหัวแน่ เพราะถูกกดดัน เลือกเอาคำถามเดียวที่เด็ดที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า การรณรงค์ออกเสียงประชามติ ฝ่ายการเมืองจะออกมารณรงค์ได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นเรื่องที่จะต้องหารือกันอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนรู้ปัญหา การจัดชุมนุมหรืออะไรต้องหยุดไว้ก่อน ยังคิดไม่ได้ในเวลานี้ ส่วนที่นักวิชาการตั้งข้อสังเกตุเรื่องความบริสุทธ์และเป็นธรรมของการออกเสียงประชามติภายใต้คำสั่งที่ 3 ของมาตรา 44 นั้น ทำให้เป็นธรรมนั้นทำได้ ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร ถ้าคิดว่าไม่เป็นธรรม ก็อาจจะผ่อนคลายกฏซักอย่างสองอย่าง ว่าสิ่งที่ห้ามไว้ เวลาให้ลงประชามติจะไปติดตรงไหนหรือไม่ ซึ่งยังมีเวลาคิดอีกหลายเดือน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการรณรงค์ให้ไม่ออกมาใช้สิทธิมีความผิดหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถือว่ามีความผิดรวมถึงฉีกบัตร ขัดขวางการลงประชามติ รวมถึงการทำโพลล์ก่อนการทำประชามติ 7 วัน ถือว่ามีความผิดทั้งสิ้น หรือเห็นความไม่ชอบมาพากลในการลงประชามติก็สามารถร้องเรียนกกต.ได้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนคำถามที่ว่าจะให้รัฐบาลอยู่ต่ออีก 2 ปีนั้น เรื่องนี้มีคนพูดไปนานแล้ว จนไม่อยากจะพูดแล้ว เพราะนั่นคือสิ่งที่นายไพบูลย์ นิตินะวัน สมาชิกสปช. พูดขึ้นมา หากคิดอยากเดินหน้าต่อก็เป็นเรื่องของคุณไพบูลย์ไปทำให้สปช.เห็นชอบ มันไม่ใช่เรื่องง่าย วันนี้เราเอาคำพูดของคุณไพบูลย์มาตั้งประเด็น พอถึงวันนั้นนายไพบูลย์เองก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง
แจงวิปสนช.16 มิ.ย.เคลียร์ปมแก้รธน.ชั่วคราว
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มีประเด็นแก้ไขมากกว่าเรื่องการทำประชามติ ซึ่งก็เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ดังนั้นอะไรเป็นจุดอ่อนหรือจุดเพิ่มก็ต้องเติมไป สำหรับมาตรา 8(4) เรื่องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ขาดคุณสมบัติในการเป็น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) , คณะรัฐมนตรี ( ครม.) และ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาว่าจะยกเลิกการถูกเพิกถอนสิทธิในอดีต เพราะมีคนอยากช่วยบ้านเมือง ก็น่าจะเปิดโอกาสได้ และไม่คิดว่า คสช.ฉีกหลักการตัวเอง เนื่องจากในรัฐธรรมนูญมาตรา 35 ที่กำหนดเกี่ยวกับกลไกไม่ให้ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มาดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเรื่องของอนาคต คือ ให้การร่างรัฐธรรมนูญคำนึงถึงเรื่องนี้ แต่กรณีนี้ยังไม่ใช่รัฐธรรมนูญใหม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเท่านั้น ส่วนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯนั้น นายสมชาย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่มีการเขียนในร่างรัฐธรรมนูญถูกวิจารณ์มากเรื่องที่มาว่าจะมีการสืบทอดอำนาจ แต่ในร่างแก้ไขนี้มีการกำหนดหน้าที่ไว้ชัดเจน คือ ทำงานต่อจากสภาปฏิรูป ทั้งนี้เห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาในการพิจารณา 3 วาระรวดเพราะยังไม่เห็นประเด็นที่จะแก้ไขจากร่างที่ ครม.เสนอมา
“ขณะนี้คสช.มีอำนาจรัฎฐาธิปัตย์หยุดยั้งความสูญเสีย ก็ต้องเดินหน้าเพื่อแก้ปัญหาต่อจึงต้องเป็นคนเลือกผู้ที่จะมาทำงาน ดังนั้นการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนฯ 200 คน แน่นอนว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ผู้นำในภาวะวิกฤตต้องเด็ดขาด แม้แต่ในหนังสือท่านพุทธทาสก็ยังระบุว่าผู้นำต้องเป็นเผด็จการ แต่ผมไม่ได้หมายความว่าสนับสนุนเผด็จการ เพียงแต่การปกครองก็ต้องดูสถานการณ์ภายในประเทศด้วย” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า วันอังคารที่ 16 มิ.ย.นี้ เวลา 11.00 น. นายวิษณุ มาชี้แจงในที่ประชุมวิป สนช. ซึ่งคงมีการถามรายประเด็นที่มีการแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจน เช่น กรณีกรรมาธิการยกร่างฯมีสปช. 20 คน สปช.เหล่านั้นต้องหมดวาระลงหรือไม่ ถ้าหมดวาระก็จะทำให้ต้องมีการแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างฯเพิ่ม ดังนั้นเรื่องเหล่านี้จึงต้องหารือกันถ้ายังไม่สมบูรณ์ก็ต้องเพิ่มเติม