ข่าว

‘วิษณุ’ชี้นักวิชาการประกาศโหวตโนไม่ผิด

‘วิษณุ’ชี้นักวิชาการประกาศโหวตโนไม่ผิด

18 เม.ย. 2559

‘วิษณุ’ยันร่างรธน.ถูกคว่ำใช้รธน.ปี40-50ไม่ได้ อ้างผิดหลักยึดอำนาจ โยนคสช.เป็นผู้เผยทางออกเอง ชี้นักวิชาการประกาศโหวตโนไม่ผิดชี้นำ เพราะไม่มีนัยซ่อนเร้น

             ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 18 เม.ย.2559 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี   กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงคัดค้านการนำรัฐธรรมนูญทั้ง4ฉบับ มาปรับใช้ใหม่ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ว่า ตนแค่บอกว่าสามารถทำได้ ที่จะหยิบฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาเป็นต้นแบบ ซึ่งต่างกับนักการเมืองที่มองแค่2-3ประเด็น คือ เรื่องคณะรัฐมนตรี(ครม.) เรื่องนายกฯคนนอก และอำนาจส.ว. ส่วนข้อเสนอให้นำรัฐธรรมนูญปี2550มาใช้ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ แล้วให้นำบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญปี2559มาใช้นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ข้อเสนอนี้เท่ากับใช้รัฐธรรมนูญปี2550เป็นหลัก ถ้าอย่างนั้น ก็จะตอบไม่ได้ว่ายึดอำนาจทำไม ในเมื่อกลับไปใช้กฎเกณฑ์กติกาเดิม และถ้าหากเอารัฐธรรมนูญปี2540มาแล้วบทเฉพาะกาลใส่ลงไป ก็จะเกิดคำถามว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผบ.ทบ. ยึดอำนาจทำไม ดังนั้น ควรเอาส่วนดีของแต่ละฉบับมา อย่าไปคิดว่าทำไม่ได้ พอถึงเวลาค่อยว่ากัน และแน่นอนว่าการร่างรัฐธรรมนูญยังต้องอยู่ในกรอบของมาตรา35ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี57และต้องร่างให้เสร็จตามกำหนด ที่กำหนดโรดแม็ปปักธงเลือกตั้งปี60จะไม่เคลื่อนธงไปไหน

             “เรื่องทางออกหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามตินั้น ถ้าจะให้ชัด ต้องให้ คสช. เป็นคนพูดเอง ตนพูดเองไม่ได้ ซึ่งทางเลือกมันก็มีอยู่แค่นี้ และจะเป็นทางการเลือกไหนนั้น ขอให้ใจเย็น อีก3เดือนก็จะรู้ และตอนนี้ก็ยังไม่ได้เตรียมทางออกไว้ว่าจะเป็นแนวทางไหน ตอนนี้ยังคิดแต่เส้นทางที่จะเดินทางไปสู่การทำประชามติเท่านั้น”นายวิษณุ กล่าว

             เมื่อถามถึงกรณีมีกลุ่มเครือข่ายนักวิชาการ นักการเมือง ออกมาเคลื่อนไหว ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า    เท่าที่อ่านดูเป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ และยังอยู่ในร่องในรอยที่ใช้ได้ ไม่ได้เป็นการเข้าข่ายความผิด เมื่อถามว่า จะเป็นการชี้นำหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ความผิดฐานชี้นำมันไม่มีว่า จะชี้นำได้หรือไม่ได้ เพียงแต่ถ้าชี้นำโดยวิธีสัญญา บิดเบือน หลอกล่อ ก็จะมีความผิดตามมาตรา62ของพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ อย่างที่นักวิชาการชี้มีจุดอ่อน3-4ข้อ ถือเป็นการแสดงออกที่มีเหตุมีผล ไม่มีการเมืองซ่อนเร้น ซึ่งอยู่ที่ตัวบุคคล คำพูด และเวลา เมื่อถามว่า อย่างกรณีนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แล้วทำไมถูกเรียกปรับทัศนคติ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่มีความเห็น

             เมื่อถามอีกว่า    หากประเมินสถานการณ์จนถึงขณะนี้แนวโน้มทำประชามติจะไม่ผ่านหรือไม่ เพราะมีหลายกลุ่มออกมาคัดค้าน นายวิษณุ กล่าวว่า “ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้แถลงแล้วว่าผู้มีสิทธิมี50ล้านคน ดังนั้นเขาจะเป็นผู้ตัดสิน ตนจะไม่พูดชี้นำใดๆ ส่วนถ้าต้องมีการร่างใหม่ จะเสร็จเร็วหรือช้า อยู่ที่กฎหมายลูกที่มีหลายฉบับ เพราะต้องละเอียดรอบคอบ”    เมื่อถามว่า จะต้องมีผู้สังเกตการณ์ตอนทำประชามติเหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องแล้วแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จะจัดการอย่างไร แต่เมื่อแก้รัฐธรรมนูญไปชัดแล้ว จะไม่มีปัญหาเรื่องนับคะแนนแล้ว จริงแล้วการทำประชามติมีเพียงแค่การรับ หรือไม่รับเท่านั้น ไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ เหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไป ที่มีเจ้าของค่าย มีผู้ส่งเข้าประกวด ที่ต้องมีการชิงไหวชิงพริบกัน ดังนั้นการมีหรือไม่มีผู้สังเกตการณ์ก็ได้ และในส่วนของคำถามพ่วงที่อาจล่าช้าในการนับคะแนน แต่ทางกกต.ยืนยันแล้วว่าจะรู้ผลไม่เกิน3ชั่วโมงหลังปิดหีบ แต่จะทราบผลเป็นทางการจะใช้เวลาไม่เกิน3วัน

             เมื่อถามถึงกรณีที่ร่างรัะฐธรรมนูญประชามติไม่ผ่าน คสช. ควรจะปลดประเด็นที่ฝ่ายต่างๆ ไม่เห็นด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องรอให้ผลออกมาแล้วค่อยมาแปลกัน เพราะจะมีความหมายอะไรหลายอย่างเหมือนกัน และตนได้พูดไปหลายครั้งแล้วว่าทั้งคำถามหลักและคำถามพ่วง จะส่งสัญญาณหลายอย่างว่าจะผ่านหรือไม่ และจะเป็นตัวจะบอกหน้าตาของรัฐธรรมนูญต่อไป เมื่อถามว่าหากประชามติไม่ผ่านเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้คณะกรรมการร่างรัฐธรมนูญ (กรธ.) ชุดเดิมร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกรอบ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นไปได้ทุกทาง และเป็นไปได้ที่จะตั้งทั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญกรณีไม่ผ่านประชามติ รวมถึงตนก็เป็นไปได้


เผยเร่งสอบศธ.ปมจัดซื้อชุดนร.เกินจำนวน

             นายวิษณุ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตการจัดซื้อชุดนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการว่า ส่วนหนึ่งที่ตีความได้ว่ามีการซื้อไปจำนวนมากกว่าที่จำเป็นนั้น อาจจะเพราะซื้อไว้เพื่อแจกจ่าย หรือกักตุนไว้ ทำให้ของขึ้นราคา และในปีต่อไปก็มีการซื้อเพิ่มขึ้นอีก โดยไม่ได้นำของเก่าไปแจกจ่าย ดังนั้นแสดงว่าเป็นการซื้อเพื่อเอาเปอร์เซ็นต์ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงตรวจสอบอยู่ ทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ทั้งหมดถือเป็นการทุจริต และประพฤติมิชอบ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.)ด้วย

             นายวิษณุกล่าวอีกว่า ในวันเดียวกันนี้ ตนได้รับรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า ในส่วนของผู้ที่ถูกสั่งพักราชการ ตามคำสั่งคสช.ทั้ง4ฉบับนั้น ได้มีการดำเนินการสอบ ทั้งในส่วนผู้ที่ไม่มีปัญหา และบางรายก็หมดปัญหา แต่ยังมีบางรายที่เกี่ยวข้องกับทุกๆปัญหา ซึ่งทางกระทรวงได้มีการจัดแยกกลุ่มเป็นคนๆไป ซึ่งมีทั้งในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปลัด เทศบาล ข้าราชการ และอธิบดี ส่วนกระทรวงอื่นๆยังไม่ได้มีการรายงานเข้ามา จึงอยากให้กระทรวงอื่นๆจัดแบ่งหมวดหมู่เข้ามาในลักษณะเช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทย ที่มีการแยกจำนวนและรายงานถึงสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนแต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถสรุปตัวเลขความเสียหายอันเกิดมาจากการทุจริตได้ ยกเว้นในส่วนของกระทรวงศึกษาฯที่ คตร.ได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบ

             เมื่อถามว่า    ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยมีการกำหนดชัดเจนหรือไม่ว่าจะสามารถคืนตำแหน่งให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาได้จำนวนเท่าใด นายวิษณุ กล่าวว่า ทางกระทรวงไม่ได้มีการระบุ แต่ให้รัฐบาลพิจารณา โดยมีการรายงานแต่เพียงว่ารายนี้มีกี่ข้อหา ดำเนินการไปแล้วเท่าใด ยังเหลืออีกกี่ราย ส่วนจะมีความผิดเกี่ยวโยงกับกระทรวงอื่นหรือไม่ ก็ต้องดำเนินการสอบสวนต่อ ไปอีก ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเช่นกัน ทั้งนี้ในส่วนที่สอบสวนเสร็จแล้วนั้น ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่มีความผิดก็คงไม่ต้องมีการเยียวยาอะไร เพียงแต่ให้กลับไปดำรงตำแหน่งในหน้าที่เดิม เพราะตลอดเวลาเงินเดือนทุกคนก็ยังได้รับ ยกเว้นเงินประจำตำแหน่งเท่านั้น เพียงแต่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งรัฐจะดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่ทุจริตและประพฤติมิชอบก่อน ส่วนผู้ที่ไม่ได้ทำผิด แต่มีความล่าช้าในเรื่องความรับผิดชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ต้องรอไว้ก่อนอีกปะเภทหนึ่ง

 

กกต.ประกาศ7ส.ค.วันออกเสียงประชามติร่างรธน.เป็นทางการแล้ว


             ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รักษาการเลขาธิการสำนักงานกกต. แถลงว่า ที่ประชุมกกต.มีมติกำหนดให้วันที่ 7 ส.ค.เป็นวันออกเสียงประชามติ โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 39/ 1 ที่กำหนดว่าหลังกกต.ได้รับสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ให้กกต.ประกาศกำหนดวันออกเสียงโดยต้องไม่น้อยกว่า 90 แต่ไม่เกิน 120 วัน ซึ่งวันที่ 7 ส.ค. ถือเป็นวันที่ 117 ของกรอบเวลา 120 วัน ส่วนระเบียบต่างๆ ทางสำนักงานได้มีการเตรียมการต่างๆ ไว้พร้อมแล้ว ขณะนี้รอเพียงพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการประชุมพิจารณาประกาศใช้ระเบียบต่อไป

             ด้านนายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการกกต.ด้านบริหารงานทั่วไป กล่าวว่า ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้จัดพิมพ์และส่งร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการพิมพ์ 1 ล้านฉบับ สรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ตามที่กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้น ที่จะจัดพิมพ์ อย่างละ 4 ล้านฉบับ หลักการ เหตุผลประกอบคำถามของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดพิมพ์อีก 4 ล้านฉบับ และสรุปย่อร่างรัฐธรรมนูญ (บุ๊คเล็ต)ที่จะพิมพ์รวม 17 ล้านฉบับ โดยจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 96 ล้านบาท ซึ่งการจัดส่ง ในส่วนของบุ๊คเล็ต จะส่งพร้อมกับหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน ไปยัง 19 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ส่วนที่เหลือจะเริ่มจัดส่งในวันที่ 23 พ.ค.เป็นวันแรก การจัดส่งจะทำเป็นชุด โดย 1 ชุดจะประกอบด้วย ร่างรัฐธรรมนูญ 1 เล่ม และสรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ และ คำอธิบายคำถามของสนช.อย่างละ 4 เล่ม ซึ่งกกต.จะจัดส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศรวม 846,491 ชุด โดยจะกระจายไปยัง ศาลากลางจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยของกกต. กระทรวง ทบวง กรมต่าง กองบัญชาการรักษาดินแดน ศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตยระดับตำบล สถาบันการศึกษาทุกระดับ สื่อมวลชน รวมถึงมีการส่งให้กับสนช. และกรธ.ด้วยโดยส่วนหนึ่งก็จะมีการเก็บไว้ที่สำนักงานกกต.ด้วย ซึ่งประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ยังสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

             นายธนิศร์ ยังกล่าวถึงกรณีมีการเรียกร้องให้กกต.กำหนดให้ชัดเจนว่าอะไรทำได้ไม่ได้ในการรณรงค์ประชามติร่างรับธรรมนูญว่า ขณะนี้อยู่ในการดำเนินการของสำนักกฎหมายและคดี ของสำนักงานกกต. ซึ่งยังต้องรอดูพ.ร.บ.ประชามติที่จะออกมาก่อน เพราะมีบทกำหนดโทษต่างๆ ที่ต้องมาเป็นหลักในการพิจารณา ทั้งนี้ตามกฎหมายดังกล่าวมีโทษทางอาญา ดังนั้นถือว่าภาครัฐเป็นผู้เสียหาย หากเกิดเหตุและมีผู้พบเห็นว่ากากระทำดังกล่าวเป็นความผิดก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ตามป.วิอาญา ไม่ต้องมาร้องต่อกกต.เสนอไป

             เมื่อถามต่อว่า ประเมินหรือไม่ว่าอาจจะมีการร้องทุกข์มากและทำให้การประกาศผลออกเสียงล่าช้า นายธนิศร์ กล่าวว่า ไม่อยากให้คาดเดากันไป เพราะทุกอย่างอาจจะเรียบร้อยก็ได้ รวมถึงเวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินในเรื่องเหล่านี้

             ขณะที่นายกฤช เอื้อวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง กกต. ได้แถลงชี้แจงกรณีมีการเผยแพร่ใบปลิวโจมตีกกต.ทัวร์นอก ว่า ที่ประชุมกกต.มีความกังวลใจต่อกระแสข่าวดังกล่าว และเห็นเนื้อหาตามใบปลิวไม่เป็นความจริงในหลายเรื่อง จึงมอบหมายให้สถาบันฯชี้แจง โดยยืนยันว่าการเดินทางไปต่างประเทศของกกต.ร่วมกับนักศึกษาพตส.ทั้ง 4 ประเทศ เป็นการไปดูงานการเลือกตั้ง ที่ทางอนุกรรมการจัดทำหลักสูตรและผู้บริหารสถาบันได้มีการพิจารณาโดยยึดหลักว่าประเทศที่จะเดินทางไปนั้นต้องมีการจัดการเลือกตั้ง จึงไม่มีการเหลื่อมเวลาเดินทางเพื่อที่จะให้กกต.คนหนึ่งได้ไปหลายประเทศ ซึ่งใน 4 ประเทศที่กำหนดคือ เกาหลีใต้ มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ จึงได้เดินทางไปดูการเลือกตั้งระหว่างวันที่ 8-15 เม.ย.

             นายกฤช กล่าวต่อว่า ส่วนประเทศออสเตรีย จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 24 เม.ย. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร จึงจะเดินไปดูระหว่างวันที่ 18-26 เม.ย. ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในหลายรัฐ แต่ที่เลือกไปรัฐเพนซิวาเนียเพราะอยู่ใกล้วอชิงตัน สามารถนั่งรถบัสข้ามระหว่างเมืองไปได้ ประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังได้รับเชิญจากพรรคเดโมเครตและรีพับลีกัน รวมถึงสถานกงสุล เพื่อไปดูงานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรด้วย ประธานกกต.จึงจะเดินทางไปในวันที่ 19-29 เม.ย.และยืนยันว่าไม่ได้เป็นการไปเยี่ยมลูกอย่างที่กล่าวหา

             นายกฤช ยังกล่าวอีกว่า ส่วนประเทศอังกฤษ สก๊อตแลนด์ จะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ในวันที่ 5 พ.ค. นายบุญส่ง น้อยโสภณ จึงจะเดินทางไปดูงานระหว่างวันที่ 30เม.ย.-8 พ.ค. อย่างไรก็ตามยืนยันว่ากกต.ไม่มีส่วนในการจัดทริปดูงานดังกล่าว แต่เป็นความรับผิดชอบของอนุกรรมการจัดทำหลักสูตร และที่ระบุว่ามีการเบิกเบี้ยเลี้ยงให้กับกกต.และผู้บริหารก็ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ส่วนที่กล่าวหาว่ามีการเพิ่มเงินค่าไปศึกษาดูงานจากเดิมคนละ 5 หมื่นเป็น 7 หมื่นบาทนั้น ทั้งที่สำนักงานประสบปัญหางบประมาณ ก็ขอยืนยันว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ซึ่งเป็นคนละส่วนกับเงินของสำนักงานและไม่สามารถนำเงินดังกล่าวมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนพนักงานได้ นอกจากนี้ในส่วนบริษัททัวร์ที่มารับงาน กกต.ก็ใช้วิธีประมูลตามระเบียบอย่างถูกต้อง ซึ่งนักศึกษาพตส.ก็มีส่วนร่วมในการจัดหา และมี 9 บริษัทที่เข้าเสนองาน โดยบริษัทที่ชนะการประมูลก็เป็นบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุด ยืนยันว่าไม่มีการกินส่วนต่างแน่นอน