อินทิรา คานธีสตรีโลกไม่ลืม
เป็นเวลา 25 ปีแล้ว ที่ อินทิรา คานธี ชื่อของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก และคนเดียวของอินเดียถูกลอบสังหาร แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ชื่อของสตรีทรงอิทธิพลและชื่อดังที่สุดคนหนึ่งของโลกกลับยังอยู่ในหัวใจของชนอินเดียไม่เสื่อมคลาย
สำหรับบางคน เธอยังคงเป็นแม่พระมาโปรด ผู้เข้าถึงโลกของคนยากจนและคนไร้โอกาสด้วยโครงการสังคมสงเคราะห์ของเธอ พร้อมกับสโลแกนประชานิยม "การิบี ฮาเทา" หรือ "ขจัดความยากจน" แต่สำหรับอีกหลายคน เธอคือภาพของปีศาจร้ายที่ปลดปล่อย "ยุคเอเมอเจนซี" หรือยุคมืดที่สุดในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของอินเดีย เมื่อนักการเมืองฝ่ายค้านถูกไล่สังหารอย่างโหดร้าย ฝ่ายตรงข้ามถูกจำคุก และเสรีภาพสื่อที่อินเดียเคยภูมิใจหนักหนา ต้องตกอยู่ในภาวะถูกใส่ตะกร้อครอบปากอยู่นานถึง 19 เดือน
ในฐานะที่เป็นลูกสาวของ เยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียนับแต่ได้เอกราชจากอังกฤษ ทำให้อินทิราเติบโตขึ้นท่ามกลางการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียภายในครอบครัวการเมืองชั้นนำของประเทศ เธอได้รับเลือกให้เป็นประธานฝ่ายยุวชนของพรรคอินเดียน เนชั่นแนลคองเกรสในปี 2499 ก่อนจะได้รับเลือกเข้าสภาแทนเก้าอี้ของพ่อที่เสียชีวิตลงเมื่อปี 2507 ส่วนสามีที่ระหองระแหงกันอย่าง เฟโรซ คานธี ก็เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2503
ในขณะนั้น นางอินทิราถูกมองว่า เป็นพวกมีวุฒิภาวะทางการเมืองน้อย และถูกตั้งชื่อเล่นเจ็บแสบว่า "กูกี กูดิยา" หรือ "ตุ๊กตาหน้าโง่" เมื่อจู่ๆ บรรดาแกนนำพรรคคองเกรสเลือกเธอให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2509 ด้วยความหวังจะใช้เธอเป็นหุ่นเชิด
แต่ภายในเวลา 5 ปี อินทิราก็ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของประเทศ
อินทีร์ มัลโหตร นักหนังสือพิมพ์ผู้ออกงานเขียนชีวประวัติของอินทิราเมื่อปี 2532 ให้ความเห็นว่า นางอินทิรา เป็นนักการเมืองที่เข้าใจถึงความสำคัญของอำนาจ และรู้ว่าควรจะจัดการกับอำนาจได้ดีกว่านักการเมืองคนอื่นๆ โดยภายใต้การนำของสตรีเหล็กผู้นี้ ทำให้อินเดียชนะสงครามกับปากีสถาน และปลดปล่อยบังกลาเทศได้ในปี 2514
เธอยังเป็นผู้ริเริ่มการปฏิวัติสีเขียวเพื่อรับประกันความมั่นคงทางอาหารให้แก่อินเดีย ดึงธนาคารเข้ามาเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อลดผลกระทบของอินเดียที่มีต่อภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน รวมทั้งยุบรวมรัฐอินเดียเก่าๆ ที่ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย พร้อมนำแดนโรตีเข้าร่วมสมาชิกประเทศที่มีนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง และนำอินเดียก้าวกระโดดครั้งใหญ่เข้าสู่งานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แต่ในขณะเดียวกัน ยุคของเธอก็ทำให้อินเดียตกอยู่ในช่วงเวลาแห่งการใช้กฎหมายอย่างทารุณ และการบริหารประเทศอย่างเข้มงวดจนทำให้การบริหารบ้านเมืองและเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปอย่างลำบาก ส่วนงานด้านระหว่างประเทศ อินทิราเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพและแข็งแกร่งผู้กล้าต่อกรกับสหรัฐ
อย่างไรก็ดี ความแข็งแกร่งที่สุดของเธอกับอยู่ในความสามารถที่จะเข้าถึงคนยากจน ที่ฝ่ายตรงข้ามวิจารณ์ว่าเป็นเพียงกลยุทธ์ทางการเมืองเท่านั้น
และด้วยมรดกที่อินทิราทิ้งไว้ให้ ทุกวันนี้บรรดาแกนนำพรรคคองเกรส ก็ยังคงเดินหน้าหาเสียงโหวตจากพื้นที่ชนบทภายใต้ชื่อ "อินทิรา อัมมา" หรือ "แม่อินทิรา" โดยบ้านหลายหลังทางตอนใต้ของประเทศ ถึงกับสักการะเธอไปพร้อมๆ กับสิ่งบูชาในศาสนาด้วย
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นใน ยุคเอเมอเจนซี คือสิ่งที่พรรคคองเกรสตั้งใจจะกวาดไปซุกไว้ใต้พรม โดยมัลโหตร นักชีวประวัติของนางอินทิรา ยังถึงกับอธิบายยุคเอเมอเจนซีว่าเป็น 1 ในบาป 7 ประการของนางอินทิรา แต่ก็ยอมรับว่า ด้วยเวลาที่ผ่านไป ความโกรธแค้นที่มีต่อยุคมืดในครั้งนั้นก็ลดน้อยลงไปมาก
ด้วยความต้องการจะแสดงจุดยืนไม่เอาท่าทีแข็งกร้าวของนางอินทิรา ทำให้บรรดา ส.ส.ลงมติโหวตอินทิราออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2520 ในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังยุคเอเมอเจนซี แต่สุดท้ายก็เลือกเธอกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี 2523 โดยหลังจากที่กลับมาครองอำนาจ อินทิราสามารถสร้างความจงรักภักดีขึ้นภายในสมาชิกพรรคคองเกรส และเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งวัฒนธรรมนี้ไว้ให้สืบทอดกันมาภายในพรรคจนถึงทุกวันนี้
นางอินทิรายังทำในสิ่งที่ครอบครัวของเธอทำมาตลอดนั่นคือการให้ตระกูลการเมืองของเธอเป็นอมตะ โดยตอนแรกเธอสนับสนุนลูกชายคนเล็ก สัญชัย คานธี เข้ามาเป็นสมาชิกพรรค แต่เมื่อสัญชัยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกในปี 2523 เธอก็ทำให้มั่นใจว่า ราจีฟ คานธี บุตรชายคนโตจะได้รับการมองว่า อาจเป็นผู้นำตามที่คาดหวังเอาไว้
จากนั้นไม่นาน ราจีฟ อดีตนักบินที่กลายเป็นนักการเมือง ก็ได้รับเลือกจากพรรคคองเกรสให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของอินเดียจริง หลังเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในวันที่ 31 ตุลาคม 2527 เมื่อชาวซิกข์ หนึ่งในบอดี้การ์ดส่วนตัวของนางอินทิราได้จ่อยิงเธอจนเสียชีวิตคาบ้านพัก อันเป็นผลจากความต้องการแก้แค้นที่เธอเป็นผู้สั่งการให้ทหารอินเดียเปิดฉากต่อสู้ที่วิหารทองคำ วิหารศักดิ์สิทธิ์ของชาวซิกข์ เพื่อขับไล่กลุ่มติดอาวุธชาวซิกข์ที่ใช้วิหารศักดิ์สิทธิ์เป็นที่มั่น
การเสียชีวิตของนางอินทิรา ตามมาด้วยเหตุจลาจลทางเชื้อชาติครั้งใหญ่เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เมื่อชาวกรุงนิวเดลีที่รักนางอินทิราและโกรธแค้นในการกระทำนี้ออกมาไล่ล่าฆ่าฟันชาวซิกข์ในเมืองหลวงจนเสียชีวิตมากกว่า 3,000 ศพ ไม่นับเมืองต่างๆ ที่มีชาวซิกข์ตกเป็นเหยื่อแห่งความโกรธแค้นนี้อีกไม่น้อยกว่า 4,000 ศพ
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ สำหรับชาวอินเดียส่วนใหญ่ นางอินทิรายังคงเป็นบุคคลสำคัญที่มีแนวคิดก้าวหน้าและมีอุดมการณ์ ขณะที่บ้านพักของเธอในกรุงเดลี ที่ซึ่งเธออาศัยและถูกยิงเสียชีวิต ก็ได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นอนุสรณ์สถานที่สามารถเรียกผู้เข้าชมได้มากถึงวันละ 1 หมื่นคน โดยภายในบ้านพัก ห้องแต่ละห้องก็จะเต็มไปด้วยภาพถ่าย และรางวัลมากมาย รวมทั้งผ้าส่าหรีเปื้อนเลือดที่เธอใช้สวมใส่ในวันที่ถูกยิงเสียชีวิตด้วย
"เธอเป็นคนเข้มแข็งและกล้าได้กล้าเสีย ฉันยกย่องเธออย่างมาก" จานากี สาวจากเมืองบังกะลอร์ ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอินเดียเล่าให้ฟังหลังจากที่เดินชมบ้านพักของนางอินทิรา "ตอนนี้ไม่มีใครสร้างผู้นำอย่างเธอได้อีกแล้ว"