ข่าว

พระพิมลฯผจญมารคดีประวัติศาสตร์วงการสงฆ์

พระพิมลฯผจญมารคดีประวัติศาสตร์วงการสงฆ์

11 ธ.ค. 2552

เมื่อศิษย์ตถาคตต้องผจญกับมารน้อยใหญ่จนเกือบเพลี่ยงพล้ำ แต่ด้วยจิตมุ่งมั่นในหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อนั้นจึงหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งปวง นั่นคือเรื่องราวของพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) เมื่อ 60 ปีก่อน ที่ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มบุคคลผู้มีมิจฉาท

 "พระพิมลธรรม" เดิมชื่อ "อาจ ดวงมาลา" เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2446 ณ ต.บ้านโต้น อ.เมือง จ.ขอนแก่น บวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุได้ 14 ปี ศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่อยมาจนอายุย่างเข้า 18 ปี จึงย้ายเข้ามาศึกษาพระธรรมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เมื่ออายุครบจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีท่านเจ้าคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "อาสโภ" สอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค และได้เป็นครูสอนที่สำนักวัดมหาธาตุนาน 7 ปี ก่อนจะถูกส่งไปเป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุธยา และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย

 ระหว่างทำงานฟื้นฟูพระศาสนาอยู่ที่เมืองกรุงเก่าเป็นเวลานานถึง 16 ปี ระหว่างปี 2475-2491 มีผลงานสำคัญๆ มากมาย ในขณะที่ทางโลกเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ในทางธรรมก็เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง อันเกิดจากแนวทางการทำงานของพระพิมลธรรม ที่ส่งผลต่อความคิดและความรู้สึกของพระเถระชั้นผู้ใหญ่และคณะสังฆมนตรีบางรูป รุนแรงถึงขั้นฝ่ายตรงข้ามยืมมือรัฐบาลเผด็จการในยุคนั้นใช้อำนาจเข้ามาแทรกแซง เพื่อกำจัดพระพิมลธรรมพ้นจากวงการสงฆ์

 เหตุแห่งความขัดแย้งเกิดขึ้นขณะพระพิมลธรรมเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ และสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ได้สร้างสรรค์งานด้านการศึกษาและการเผยแผ่พระพุทธศาสนารูปแบบใหม่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการสงฆ์อย่างรุนแรง เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เช่น การขอพระอาจารย์ชั้นธัมมาจริยะจากพม่ามาช่วยสอนพระอภิธรรมปิฎกในเมืองไทย การส่งพระภิกษุนักเรียนพุทธศาสนบัณฑิตไปศึกษาต่อต่างประเทศ และฟื้นฟูวิปัสสนาธุระด้วยการตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานขึ้นที่วัดมหาธาตุฯเป็นแห่งแรก

 แต่งานที่ท้าทายคนยุคนั้นและมหาเถรสมาคม คือ การอนุญาตให้คอมมิวนิสต์สามารถบวชในพระพุทธศาสนาได้ การเป็นประธานนำคณะพระสังคีติการกไทยไปร่วมประชุมกระทำฉัฏฐสังคายนาพระไตรปิฎก ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า การนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย กัมพูชา อังกฤษ อินเดีย และเนเธอร์แลนด์ ฯลฯ ตลอดจนทำงานร่วมกับองค์กรฟื้นฟูศีลธรรรมจากต่างประเทศ (Moral Re-Armament : MRA) โดยไม่ยึดถือศาสนาไหนของใครว่าเป็นสำคัญ

 แม้สิ่งเหล่านี้จะทำให้พระเถระชั้นผู้ใหญ่บางท่านไม่เห็นด้วย แต่ก็ทำได้เพียงเก็บเงียบไว้ ไม่กล้าทำอะไรรุนแรง เพียงแค่แสดงออกถึงการคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบ กระนั้นก็เป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำที่ส่งแรงกระเพื่อมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปี 2503 สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตติโสภณมหาเถร) ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงสังฆนายกและคณะสังฆมนตรีชุดใหม่ โดยปราศจากชื่อพระพิมลธรรม

 หลังจากนั้นไม่นาน พระพิมลธรรมก็ถูกกล่าวหาว่า "เสพเมถุนทางเวจมรรคกับศิษย์วัด" และ "ทำอัชฌาจารปล่อยสุกกะ" ทางการตำรวจสันติบาลโดยรองผู้บังคับการตำรวจสันติบาล พร้อมผู้กำกับการตำรวจสันติบาล นำพยานในฐานะผู้เสียหาย 5 คน มาให้คำยืนยันต่อหน้ากรรมการสงฆ์ เวลาต่อมาคณะกรรมการสงฆ์ลงความเห็นว่า พระพิมลธรรมต้องศีลวิบัติขาดจากความเป็นภิกษุแล้ว ไม่สมควรครองเพศบรรพชิตอีกต่อไป แต่พระพิมลฯ ก็สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์จนพ้นข้อกล่าวหา

 ทว่าเรื่องยังไม่ยุติลงเพียงแค่นั้น เที่ยงครึ่ง วันที่ 20 เมษายน 2505 พ.ต.อ.เอื้อ เอมมะปาน พ.ต.ต.สุพันธ์ แรมวัลย์ พร้อมด้วยผู้กำกับการตำรวจนครบาล ตำรวจและทหารได้บุกเข้าล้อมจับพระพิมลธรรมถึงกุฏิ ตั้งข้อกล่าวหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ และกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นความผิดอาญา มีโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต คุมตัวไปสอบสวน ณ สันติบาลกอง 1 และภายในวันเดียวกันนั้นมีบันทึกคำสั่งจากสมเด็จสังฆนายกให้สึกพระพิมลธรรมจากสมณเพศ เพื่อสะดวกต่อการสืบสวนคดีและเพื่อรักษาความปลอดภัยแห่งชาติและพระพุทธศาสนาไว้

 นับตั้งแต่นั้นพระพิมลธรรมต้องจำพรรษาอยู่ในห้องขังตำรวจสันติบาลกอง 1 และยังคงปฏิบัติธรรมอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเขียนหนังสือแสดงความจำนงที่จะยังครองเพศบรรพชิตใจความว่า...

 "ถึงแม้ว่าจะมีผู้มีใจโหดร้ายทารุณแย่งชิงผ้ากาสาวพัสตร์ของกระผมไป กระผมก็จะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ชุดอื่นแทน ซึ่งกระผมมีสิทธิตามพระธรรมวินัยและกฎหมาย จึงขอให้ท่านเจ้าคุณผู้รู้เห็นอยู่ ณ ที่นี้ โปรดทราบและเป็นสักขีพยานให้แก่กระผมตามคำปฏิญาณนี้ด้วย"

 สถานปฏิบัติธรรมแห่งใหม่นี้ ผู้คุมและผู้ถูกคุมขังเรียกว่า "สันติปาลาราม" สภาวะของพระพิมลธรรมเต็มไปด้วยความสงบเป็นปกติอยู่เช่นเดิม ไม่ได้หวั่นไหวหรือทุกข์ร้อนใจใดๆ ระหว่างนั้นบรรดาพระภิกษุสามเณรและสาธุชนผู้เลื่อมใสนับพันคนต่างก็เชื่อมั่นว่า พระพิมลธรรมคือผู้บริสุทธิ์ จึงพากันยื่นจดหมายร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ท่าน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการพิจารณาคดีใหม่อยู่ตลอดเวลา

 เวลาล่วงผ่านไป 5 ปี วันที่ 30 สิงหาคม 2509 เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ศาลทหารกรุงเทพได้นัดให้โจทก์และจำเลยมาฟังคำพิพากษาตัดสินคดี ก่อนจะพิพากษายกฟ้องและปล่อยตัวพระพิมลธรรมพ้นข้อหา กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ของสถาบันสงฆ์มาจนถึงทุกวันนี้

 หลังจากจำพรรษาอยู่ที่สันติปาลาราม 5 พรรษา และพ้นข้อกล่าวหาออกมาในปี 2509 ศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาสได้ยื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรมให้แก่พระพิมลธรรม ด้วยการเรียกร้องให้กลับคืนสู่ตำแหน่งกรรมการสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และได้รับการแต่งตั้งเป็นสภานายกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 กลับคืนสู่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ดังเดิม ในวันที่ 5 ตุลาคม 2524 รวมเวลาตั้งแต่ต่อสู้กับอำนาจอยุติธรรม จนถึงวันได้รับสมณศักดิ์และตำแหน่งกลับคืน นานถึง 21 ปี