ข่าว

 20 มีนาชี้ชะตาอนาคตพลังงานของประเทศ

20 มีนาชี้ชะตาอนาคตพลังงานของประเทศ

07 มี.ค. 2560

จับตา 20 มีนาคมนี้ สนช.ทะลายสุญญากาศ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม  ได้เวลาเดินหน้าสร้างความมั่นคงพลังงานของประเทศ

      20 มีนาคมนี้ อาจเป็นวันสำคัญในการชี้ชะตาอนาคตความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ เมื่อพล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตร เลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....ออกมาเปิดเผยว่า หลังจากกรรมาธิการฯได้ขยายเวลาพิจารณากฎหมายทั้ง 2 ฉบับมาแล้วถึง 6 ครั้ง คาดว่าจะสามารถนำร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม สนช.ในวันดังกล่าว

20 มีนาชี้ชะตาอนาคตพลังงานของประเทศ

      วิบากกรรมของกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ ในกำมือของ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สนช. ถูกโรคเลื่อนเล่นงานครั้งแล้วครั้งเล่ายาวนานถึง 210 วัน เรียกได้ว่ามาราธอนยาวนานกว่าครึ่งปี สาเหตุสำคัญนั่นคือ การประท้วงของกลุ่มการเมืองนอกสภาในนามเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ คปพ.และกลุ่ม NGO เรียกร้องและกดดันในหลากหลายประเด็นอย่างไม่จบสิ้น ล่าสุด เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ บัญญัติมาตราให้มีการตั้ง “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือ NOC” เพื่อเข้ามาควบคุมดูแลกิจการด้านปิโตรเลียมทั้งหมดแทนหน่วยงานราชการ

20 มีนาชี้ชะตาอนาคตพลังงานของประเทศ

      พร้อมกับเปิดเกมล็อบบี้กรรมาธิการฯและ สนช.บางรายให้เลื่อนการพิจารณากฎหมายถึง 6 ครั้ง แม้ว่าก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช.จะเคยกำชับ สนช.ให้ดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อให้การประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม 2 แหล่ง คือ แหล่งเอราวัณ ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2565 และแหล่งบงกช ที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2566 ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2560 เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้ต่อเนื่อง

       วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้ความเห็นในประเด็นนี้ไว้ว่าในปี 2560 การประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม ทั้ง 2 แหล่ง ควรต้องเสร็จสิ้น เพื่อให้เริ่มกระบวนการลงทุนเพื่อรักษาอัตราการผลิตปิโตรเลียมในปี 2561 เพราะกระบวนการผลิตต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 ปี เพื่อผลิตก๊าซฯออกมาได้ทันและต่อเนื่องกับสัญญาเดิมที่จะหมดอายุในปี 2565

      ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าของกฎหมาย ไจะส่งผลต่อทิศทางการลงทุน แหล่งข่าวจากหนึ่งในบริษัทผู้รับสัมปทานระบุว่าอาจจะหยุดการลงทุนในแหล่งสัมปทาน เนื่องจากความไม่ชัดเจนของกฎหมายและไม่มั่นใจในสัญญาณที่รัฐบาลส่งออก นั่นจะส่งผลให้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 บริษัทจะลดการผลิตก๊าซธรรมชาติลงเพื่อรอวันสิ้นสุดอายุสัมปทาน

      ประเด็นนี้ได้รับการวิเคราะห์จากกระทรวงพลังงานว่า หากผู้รับสัมปทานรายเดิมลดกำลังการผลิต ช่องว่างระหว่างที่เกิดขึ้น จากปัจจุบันจนสิ้นสุดอายุสัมปทาน จะส่งก๊าซจะหายไปจากระบบ ประมาณ 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ที่สำคัญก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แหล่งนี้ เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า จึงต้องนำเข้าก๊าซLNG มาทดแทนเพิ่มขึ้นประมาณ 40 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6 แสนล้านบาท ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 14 สตางค์ต่อหน่วย

             ...สุดท้ายภาระนี้ย่อมตกอยู่กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย