กนอ.ลงทุน2.6หมื่นล้าน พัฒนาท่าเรือ-พื้นที่นิคมฯ
โดย - โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่ากนอ.มีแผนลงทุนกว่า2.6หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย1.การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส3มีมูลค่าการลงทุน1หมื่นล้านบาท ขยายการรองรับสินค้าเพิ่มอีก 10 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันมีความสามารถรองรับอยู่ที่ 25 ล้านตันต่อปี ทำให้สามารถรองรับได้มากถึง 35 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2562 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 โดยรัฐบาลกำหนดให้เป็นโครงการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำกระบวนการอนุมัติอนุญาตให้รองรับการลงทุนแบบพีพีพี
กนอ.จะเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่คณะกรรมการเร่งรัดพีพีพี ภายใต้คณะกรรมการอีอีซี ซึ่งมี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมในคณะกรรมการนี้ด้วย ขณะเดียวกันกนอ.ได้จัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) และส่งรายงานอีเอชไอเอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 3-6 เดือน และจะพยายามให้ขั้นตอนอนุมัติ อนุญาตต่างๆเสร็จภายในปีนี้
“กนอ. มีแผนที่จะเสนอพื้นที่ท่าเรือมาบตาพุดให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และคลังสินค้า เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ของ บีโอไอ ที่ให้สิทธิพิเศษลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นจากปกติอีก50%ในระยะเวลา5ปี”
2. การเตรียมพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีจำนวน 1 หมื่นไร่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ออกไปชักชวนผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีเอกชนเข้าร่วมโครงการประมาณ 50-70% ของพื้นที่ทั้งหมด อย่างไรก็ตามหากไม่มีเอกชนมาร่วมลงทุนเลย กนอ. ก็พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนทั้งหมด 1.5 หมื่นล้านบาท หรือลงทุนไร่ละ 1.5 ล้านบาท
ขณะนี้ กนอ. มีพื้นที่พร้อมใช้งาน 1.5 หมื่นไร่ อยู่ระหว่างการพัฒนา 1.5 หมื่นไร่ เป็นพื้นที่สวนและเขตอุตสาหกรรมหมื่นไร่ รวมแล้ว4หมื่นไร่ หากโครงการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มอีกหมื่นไร่แล้วเสร็จ จะทำให้ กนอ.จัดหาพื้นที่ได้ตามเป้าหมาย 5 หมื่นไร่ สามารถรองรับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดได้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี
3.การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค มีพื้นที่เป้าหมาย 700 ไร่ ในพื้นที่คงเหลือของนิคมฯมาบตาพุด คาดว่าจะมีการลงทุนวงเงิน 1 พันล้านบาท โดยนิคมแห่งนี้จะเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไปสู่โรงงานปิโตรเคมีชั้นสูง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี2564