พลังงานเร่งสรุป หาทางออก7บริษัท ผลิตปิโตรฯที่ส.ป.ก.
พลังงานเร่งสรุป หาทางออก7บริษัท ผลิตปิโตรฯที่ส.ป.ก.
ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2560ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงแจ้งให้ผู้รับสัมปทานบนบกทุกรายหยุดกิจกรรมการผลิตปิโตรเลียมที่มีการดำเนินการอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย.เป็นการชั่วคราวนั้น
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภายใน 1-2 วันนี้ กระทรวงพลังงานจะสรุปแนวทางแก้ปัญหาการหยุดผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว
โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ โครงการเอส 1 ตั้งอยู่ในพื้นที่จ.สุโขทัย พิษณุโลก และกำแพงเพชร โดย ปตท.สผ.และ ปตท.สผ.สยาม ถือหุ้น 100% มีปริมาณการขายน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 27,351 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ประมาณ 264 ตันต่อวัน และก๊าซธรรมชาติประมาณ 21 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่าการหยุดผลิตปิโตรเลียมเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขเพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ภาครัฐ โดยเฉพาะการหยุดผลิตของโครงการเอส1 แหล่งสิริกิติ์ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันรวมหายไปประมาณ 1.6 หมื่นบาร์เรลต่อวัน
“กระทรวงฯได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และเร่งปรึกษาฝ่ายกฎหมายเพื่อหาทางออกโดยไม่อยากให้ผู้ประกอบการเดือดร้อน และไม่อยากให้กฎหมายเสียหลัก กำลังดูว่าจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้โดยไม่มีใครเสียหลักการ” พล.อ.อนันตพร กล่าวและว่า
ส่วนจะมีการเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกคำสั่ง ม.44 ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2557 เพื่อให้เป็นกฎหมายรองรับการใช้พื้นที่ ส.ป.ก. หรือไม่นั้น เบื้องต้นกระทรวงพลังงานพยายามหาแนวทางแก้ไขโดยใช้ช่องทางกฎหมายปกติก่อน
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมฯในฐานะส่วนราชการที่กำกับดูแลและบริหารจัดการให้ผู้รับสัมปทานดำเนินตามข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาศัยอำนาจตามมาตร 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 สั่งให้ผู้รับสัมปทานหยุดดำเนินกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่ ส.ป.ก. จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ เพื่อไม่ให้ขัดต่อข้อกฎหมายและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
ดังนั้น ส่งผลให้ผู้รับสัมปทานในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 7 บริษัท ต้องหยุดทำการผลิต ประกอบด้วย 1. บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ จ.พิจิตร , 2.บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.สุโขทัย,3.บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์, 4.บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี, 5.บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์, 6.บริษัท ทวินซ่า ออยล์ ลิมิเต็ต แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ7.บริษัท ย่านฉาง ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.บุรีรัมย์
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่าความเสียหายจากการหยุดผลิตปิโตรเลียมดังกล่าวในเบื้องต้น ส่งผลโดยตรงต่อปริมาณปิโตรเลียมลดลง คือ น้ำมันดิบลดลง 16,000 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซธรรมชาติลดลง 110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลวลดลง 100 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 47 ล้านบาทต่อวัน
ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในรูปแบบค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม กว่า 26 ล้านบาทต่อวัน และค่าภาคหลวงที่จะกระจายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลงไปกว่า 3.55 ล้านบาทต่อวัน
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ.คาดหวังให้ภาครัฐเร่งหาทางออกในเรื่องนี้โดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ช่องทางตามกฎหมายปกติ หรือ การใช้อำนาจตาม ม.44 เพราะการหยุดผลิตปิโตรเลียมโครงการเอส 1 นั้น
ส่งผลให้ปริมาณการขายน้ำมันดิบลดลงประมาณ 15,000 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี)ลดลงประมาณ 130 ตันต่อวัน และก๊าซธรรมชาติลดลงประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขายไม่มากนักราว4-5%จากปีนี้ ตั้งเป้ายอดขายปิโตรเลียมอยู่ที่3-3.1แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
ทั้งนี้ ปตท.สผ.แจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงความเป็นมาของการดำเนินงานแหล่งเอส1ว่า บริษัท ไทยเชลล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น แอนด์โปรดักชั่น จำกัด (ไทยเชลล์) ผู้รับสัมปทานเดิม ได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ และต่อมาในปี 2536 ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินทับซ้อนพื้นที่ที่ผู้รับสัมปทานเดิมเข้าใช้ประโยชน์ในปี 2543 บริษัท ไทยเชลล์ ได้ดำเนินการยื่นขออนุญาตใช้ที่ดินในเขต ส.ป.ก. พร้อมยื่นคำขอรับคำยินยอมให้ใช้ที่ดินในเขต ส.ป.ก. ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
เมื่อ ปตท.สผ. เข้าซื้อกิจการโครงการและเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 จึงได้ดำเนินการเข้าใช้ประโยชน์ตามที่บริษัท ไทยเชลล์ ได้รับอนุญาต รวมถึงได้ขออนุญาตการเข้าใช้ประโยชน์ตามขั้นตอน
พล.อ.อนันตพร ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาติตะวันออกที่ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ว่า กระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ทำแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ แม้ว่าจากการประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อสัญญาจัดซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาว 2 ล้านตันต่อปี ระหว่างปตท.กับกาตาร์ แต่หากความขัดแย้งลุกลามอาจจะขยายไปยังประเทศอื่นได้ จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ถึงขัดสงครามเป็นแค่การบอยคอดกัน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเจตจรากันได้ แต่เท่าที่สอบถามไปยังกาตาร์และบริษัท ปตท. พบว่า เรือขนส่งแอลเอ็นจียังสามารถส่งให้ไทยได้ตามสัญญา” พล.อ.อนันตพร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการจัดซื้อแอลเอ็นจียังไม่น่าเป็นห่วงเพราะยังสามารถจัดซื้อจากตลาดจรที่มีให้พิจารณาหลายแหล่งและราคาถูกกว่าสัญญาระยะยาว ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าหากจำเป็นต้องจัดหาแอลเอ็นจีมาเพิ่ม