ข่าว

กสทช.เคาะยกเลิก ลงทะเบียนโอทีที 

กสทช.เคาะยกเลิก ลงทะเบียนโอทีที 

06 ก.ค. 2560

กสทช.เคาะยกเลิก ลงทะเบียนโอทีที 

                หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์โอทีที ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กสทช. เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯโอทีที โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกกลุ่ม ระหว่างวันที่ 28 เม.ย.- 8 มิ.ย.2560 รวมกว่า 10 ครั้ง เพื่อกำหนดแนวทางกำกับดูแลกิจการโอทีที 

                   ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการโอทีที ได้เปิดให้ผู้ประกอบการโครงข่าย หรือแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากกลุ่มแรก 14 รายมาแจ้งเป็นผู้ให้บริการโอทีที โดยกำหนดให้ลงทะเบียน 30 วัน หรือภายในวันที่ 22 ก.ค.นี้ พบว่ามีแพลตฟอร์มโอทีทีรายใหญ่ “เฟซบุ๊คและยูทูบ(กูเกิล)” ไม่มีการประสานงานเพื่อลงทะเบียน   

                 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าวันที่ 5 ก.ค.60 ที่ผ่านมา พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช.เป็นประธานการประชุม ซึ่งเป็นการประชุมวาระลับ เรื่องกำกับดูแล กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์โอทีที ในการประชุมวาระดังกล่าวเพียงวาระเดียวที่หารือกว่า 3 ชั่วโมง 

                โดยประธาน กสทช.ได้นำความเห็นเกี่ยวกับความห่วงใยถึงการทำงานในการกำกับดูแลโอทีทีทั้งนักวิชาการ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน ทำให้ที่ประชุม มีมติให้ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการโอทีที “ยกเลิก”การกำกับโอทีที ที่ทำมาตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งยกเลิกการลงทะเบียนโอทีทีของผู้ให้บริการทั้งหมดที่ได้ลงทะเบียนมาก่อนหน้านี้ และยกเลิกเส้นตาย 22 ก.ค.ที่ให้เฟซบุ๊คและยูทูบ ต้องมาลงทะเบียนด้วย 

                  ทั้งนี้ที่ประชุม กสทช. ได้มอบหมายให้ พ.อ.นที เร่งจัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์กำกับดูแลกิจการโอทีที มาเสนอบอร์ด กสทช.ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำร่างฯหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ตามขั้นตอนของกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน 

                จากนั้นนำเสนอกลับที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะนำไปประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป คาดแล้วเสร็จก่อนวันที่ 6 ต.ค.2560 เพื่อให้เป็นผลงานส่งท้ายของบอร์ดชุดปัจจุบัน 

                ซึ่งที่ประชุม กสทช. มีความเห็นว่า ตามหลักกฎหมายทั่วไป การดำเนินธุรกิจที่เปิดให้บริการในประเทศใดจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศนั้น 

                 ดังนั้นเมื่อกิจการโอทีทีเป็นการดำเนินธุรกิจที่เปิดให้บริการในประเทศไทยจึงต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ กสทช.มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 

                   ดังนั้นไม่ว่ากิจการโอทีทีจะเป็นกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมก็ตาม ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลของกสทช. เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย

                    “เมื่อกิจการโอทีทีเป็นกิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายของกสทช.แล้ว กสทช.จะต้องออกหลักเกณฑ์ต่างๆในการกำกับดูแลกิจการดังกล่าว โดยหลักเกณฑ์ที่ออกนั้น จะต้องสอดคล้องกับกฎหมายของกสทช. เพื่อมิให้มีข้อโต้แย้งหรือข้อคัดค้านในภายหลังได้" 

                   โดยจะต้องยกร่างหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลกิจการโอทีที และนำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้รับนั้นมาวิเคราะห์ถึงผลดีผลเสีย ตลอดจนผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้น และเพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนในทุกภาคส่วนให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยเฉพาะผลกระทบด้านเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศ 

                 แม้ว่า พ.อ.นที ได้เสนอต่อที่ประชุมว่าที่ผ่านมาได้มีการรับฟังความคิดเห็นมากกว่า 10 ครั้ง และประกาศฯ ที่ออกไปน่าจะครอบคลุมและครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่เพื่อความรอบคอบ และเป็นการปิดจุดอ่อนทุกจุด ที่คาดว่าจะเป็นประเด็นในการถูกฟ้องร้อง ในอนาคตได้ บอร์ด กสทช.จึงเห็นชอบให้จัดทำร่างหลักเกณฑ์กำกับโอทีทีใหม่มาบังคับใช้

                นอกจากนี้หลังจากมีการยุบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ตาม พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ทำให้ กสทช.มีสิทธิ์นำเรื่องนี้มาพิจารณา จากแต่เดิมที่เป็นการพิจารณาของ กสท. 

                นางสาวสายใย สระกวี หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์ บริษัทกูเกิล ( ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กูเกิลกำลังรอดูความชัดเจนด้านกฎเกณฑ์รวมถึงระเบียบต่างๆ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากทางกสทช. ขณะนี้ทางทีมกฎหมายที่ประเทศสิงคโปร์กำลังศึกษา คาดว่าแนวทางรวมถึงท่าทีของบริษัทจะออกมาได้ภายในระยะเวลาที่ทางกสทช.กำหนด

                 อย่างไรก็ดี หลังจากนี้การพูดคุยติดต่อประสานงานต่างๆ จะทำผ่านเอไอซีในฐานะตัวแทน เพื่อว่าแนวทางการปฏิบัติที่ออกมาจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขอให้มองเอไอซีว่าเป็นตัวแทนของผู้ให้บริการ ไม่ใช่ล็อบบี้ยิสต์

                   สำหรับประเด็นเรื่องการเสียภาษี ยืนยันว่ากูเกิลได้จ่ายทุกอย่างตามที่กฎหมายไทยกำหนด และหากมีการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องศึกษาว่าเปลี่ยนอย่างไร มีการเก็บส่วนไหนเพิ่มเติม หลังจากนี้คงต้องมีการพูดคุยกัน

                ด้านนายไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่าการใช้จ่ายโฆษณาบนแพลตฟอร์มยูทูบนั้นมาจากหลากหลายช่องทาง และส่วนใหญ่จะซื้อผ่านตัวแทน บทบาทของสำนักงานกูเกิลประเทศไทย คือการขายและการตลาด ไม่ได้รับผิดชอบด้านการเก็บรายได้